บวชอย่างไรในยุค COVID-19 “วิถีรอมฎอน” มีคำตอบ
บวชอย่างไรในยุค COVID-19 “วิถีรอมฎอน” มีคำตอบ
ทำยังงัยดี...โควิดก็ต้องระวัง แล้วยังต้องบวชอีก!
เป็นความกังวลใจลึก ๆ ของพี่น้องมุสลิม จากคำถามที่ส่งมาถามกันมากมาย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดใจให้รายละเอียด
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน
“ที่เป็นไวรัลแพร่กระจายในสื่อต่าง ๆ ว่ามีบางประเทศมีการฟัตวาให้หยุดการถือศีลอดในช่วงโควิดแพร่ระบาดนั้น จริง ๆ แล้วไม่มีประเทศไหนให้หยุดเลยนะครับ เพราะการถือศีลอดนอกจากจะไม่ก่อปัญหาในเรื่องของการป้องกันโรคโควิดแล้ว ยังช่วยในเรื่องของการเสริมภูมิต้านทาน ตรงนี้มีข้อมูลยืนยันชัดเจน
จากงานวิจัยในปี 2014 โดยมหาวิทยาลัยมลายา โดยแบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งถือศีลอด อีกกลุ่มไม่ได้ถือศีลอด และพบว่ากลุ่มที่ถือศีลอดนั้นจะมีภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวที่เราเรียกว่า อิมมูโนโกลบูลิน หรือ IGM และยังพบอีกว่าเมื่อเข้าสู่กลางเดือนและปลายเดือนรอมฎอน IGM จะเพิ่มขึ้นอีก และภูมิต้านทานเรานี่เองทำให้ร่างกายเราพร้อมที่จะต่อต้านเชื้อไวรัสโควิดนี้”
แต่กิจกรรมในเดือนรอมฎอนไม่ใช่มีเพียงแค่อดอาหาร ทุกกิจกรรมล้วนแล้วแต่สร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการละหมาดทั้งฟัรดูและซุนนะห์ การอ่านกุรอ่าน การตั้งสมาธิในเวลาละหมาดและเวลาอ่าน กุรอ่าน แต่ทำได้อย่างไรนั้น คงต้องหาคำตอบจากรายการ “วิถีรอมฎอน” โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุกวัน เวลา 03.30-04.00 น. ทางช่อง 5
“ในรายการมีเรื่องเล่าถึงสภาวะของการเกิดโรคระบาดที่เคยเกิดขึ้นในยุคของท่านนบีฯ และในยุคของซอฮาบะห์หลาย ๆ ท่าน มีเรื่องการป้องกันตัวเองจากโควิด เรื่องของการถือศีลอด ประโยชน์ที่จะได้รับในกิจกรรมต่าง ๆ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือเรื่องของ post โควิด 19 สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากภาวะการแพร่ระบาดนี้คือการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ของสังคม
อิสลามเราจะมีการปรับตัวอย่างไรโดยที่ให้เป็นไปตามซุนนะห์ของท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) มีเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องศาสนา เรื่องของสุขภาพ เรื่องของอาหาร เรื่องของอุตสาหกรรม หลากหลายรสชาติ ก็อยากจะให้พวกเราได้ติดตามกันตลอดเดือนรอมฎอนนี้” รศ.ดร.วินัย ดะห์ลันกล่าว
“อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่พี่น้องมุสลิมควรจะยึดถืออย่างเคร่งครัดคือ Social Distancing การตั้งระยะห่างจากผู้อื่น การทำ Phisical Distancing คือการตั้งระยะห่างจากแม้กระทั่งคนที่เคยใกล้ชิดกับเรา ไม่ว่าจะเป็นเวลานั่งอ่านกุรอ่าน เวลาละหมาด หรือแม้แต่รอเวลาละศีลอด เพราะเป็นอีกส่วนสำคัญของกระบวนการป้องกันโรคโควิด” รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ย้ำเตือนเพื่อให้ตระหนักถึงความจำเป็น อาจจะรู้สึกแปลก ไม่คุ้นชิน แต่คือหนทางที่ประชาชนทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบต่อสังคม
Tags: