วิธีเข้าใจและเข้าถึงคัมภีร์อัลกุรอาน
คัมภีร์ทางศาสนาส่วนใหญ่เป็นบันทึกคำสอนเรื่องความเชื่อในสิ่งเร้นลับ สัจธรรมแห่งชีวิต การปฏิบัติตัวของมนุษย์ในด้านคุณธรรมและจริยธรรม ตลอดจนเรื่องราวของบุคคลสำคัญๆ บางคนที่นำศาสนามาสั่งสอนและชะตากรรมของกลุ่มชนบางกลุ่มที่ฝ่าฝืนคำสอนของศาสนา
แม้คัมภีร์ทางศาสนาทั้งหมดเป็นบันทึกเก่าแก่ แต่เนื่องจากคำสอนที่อยู่ในคัมภีร์เป็นสมบัติอันทรงคุณค่าที่ควรต่อการส่งต่อให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ คัมภีร์เหล่านี้จึงถูกแปลออกเป็นภาษาต่างๆ เพื่อให้คนรุ่นหลังสามารถเข้าถึงได้
คัมภีร์ทางศาสนาเก่าแก่ที่สุดคือ คัมภีร์พระเวท ซึ่งถูกบันทึกเป็นภาษาสันสกฤตโบราณ แต่เพิ่งถูกแปลออกเป็นภาษาอื่นเมื่อไม่นานมานี้
คัมภีร์ไบเบิลซึ่งเดิมเป็นภาษาฮิบรู(ภาษาของโมเสสและพระเยซู) ได้ถูกแปลออกเป็นภาษาละตินและต่อมาเป็นภาษาอังกฤษ หลังจากนั้นก็เป็นภาษาต่างๆ หลายสิบภาษา
คัมภีร์อัลกุรอานเดิมทีเป็นภาษาอาหรับที่ใช้กันเมื่อกว่า 1,400 ก่อน แต่ภาษาอาหรับในคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาที่ไม่ตายและยังใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แม้จะมีการแปลออกเป็นหลายภาษาและความเข้าใจภาษาของผู้แปลอาจแตกต่างกัน แต่คัมภีร์อัลกุรอานฉบับภาษาอาหรับดั้งเดิมยังคงถูกรักษาไว้เหมือนเดิมเพื่อเป็นแหล่งอ้างอิง
ในคัมภีร์อัลกุรอานตอนหนึ่งมีกล่าวว่า “อัลลอฮฺเป็นผู้ประทานอัลกุรอานลงมาและพระองค์จะทรงรักษามันไว้ด้วยพระองค์เอง”
การรักษาคัมภีร์อัลกุรอานไว้ให้บริสุทธิ์เหมือนเดิมนี้นอกจากจะอยู่ในรูปของการพิมพ์โดยยึดต้นฉบับเดิมแล้ว ยังอยู่ในรูปของการท่องจำ ในโลกมุสลิมมีผู้สามารถท่องจำอัลกุรอานได้นับหลายแสนคนและในจำนวนนี้มีเด็กอายุเพียงสิบกว่าขวบก็สามารถท่องจำคัมภีอัลร์กุรอานที่ประกอบด้วยข้อความที่สั้นบ้างยาวบ้างเป็นจำนวนถึง 6,236 วรรคกระจายอยู่ใน 114 บทที่มีความสั้นยาวต่างกัน บทที่สั้นที่สุดมีเพียง 3 วรรค ส่วนบทที่ยาวที่สุดมี 286 วรรค
ในเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนของการประทานอัลกุรอาน ผู้ท่องจำอัลกุรอานจะถูกเชิญมาเป็นอิมามผู้นำละหมาดพิเศษในยามค่ำคืนและอิมามจะทยอยอ่านอัลกุรอานทุกคืนจนกระทั่งจบในคืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอน นอกจากนี้แล้ว ประเทศมุสลิมบางประเทศได้จัดให้มีการประกวดการท่องจำอัลกุรอานเป็นประจำทุกปีด้วย
แม้คัมภีร์อัลกุรอานได้ถูกแปลเป็นภาษาอื่นๆ หลายสิบภาษา รวมทั้งภาษาไทยด้วย แต่เมื่อใครได้อ่านคัมภีร์อัลกุรอาน หลายคนจะสับสนในการทำความเข้าใจ บางคนอ่านแล้วบอกว่าอัลกุรอานไม่เหมือนหนังสือทั่วไป เพราะเรื่องราวของนบีบางคนอย่างเช่น อาดัม โมเสส มีกล่าวกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในหลายบท มิได้อยู่ในบทเดียวเหมือนในหนังสือประวัติบุคคลทั่วไป
คำตอบสำหรับความสงสัยนี้คือ ใช่แล้ว เพราะคัมภีร์อัลกุรอานมิใช่หนังสือ
บางคนบอกว่าคัมภีร์อัลกุรอานไม่เหมือนจดหมายเหตุที่บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ตามลำดับเวลา ในคัมภีร์อัลกุรอาน เหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นก่อนกลับถูกนำไปไว้ในลำดับหลังๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทีหลังกลับถูกนำไปจัดไว้เป็นลำดับแรกๆ
คำตอบสำหรับความสงสัยนี้คือ ใช่แล้ว คัมภีร์อัลกุรอานมิใช่จดหมายเหตุ เพราะการเรียงลำดับข้อความในคัมภีรอัล์กุรอานเป็นไปตามประสงค์ของพระเจ้า มิใช่นบีมุฮัมมัดเป็นผู้จัดเรียงเอง
ใครที่ต้องการเข้าใจคัมภีร์อัลกุรอานจำเป็นต้อง เรียนประวัติของนบีมุฮัมมัดก่อน เพราะคัมภีร์อัลกุรอานถูกประทานแก่นบีมุฮัมมัดในสถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวในทุกย่างก้าวของชีวิตทั้งในเรื่องความเชื่อ พฤติกรรม ชีวิตครอบครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนการทำสงครามและการทำสัญญาสันติภาพตลอดช่วงเวลา 23 ปี แห่งการเป็นนบีของท่าน
ที่มา: อาจารย์บรรจง บินกาซัน
Tags: