สอนศาสนา(อิสลาม)ด้วยหลักวิทยาศาสตร์
ทุกศาสนาบนโลกใบนี้มีองค์ประกอบสำคัญอยู่สามส่วน นั่นคือ ความศรัทธาในสิ่งพ้นญาณวิสัย การปฏิบัติเพื่อยืนยันความศรัทธาและจริยธรรม หากใครศึกษาถึงแก่นธรรมของคำสอนจริง ๆ ของทุกศาสนา เราจะพบว่าทุกศาสนามีคำสอนที่เป็นพื้นฐานร่วมกัน ให้มนุษย์ยืนอย่างสันติในการสร้างสรรค์ความเจริญแก่โลกใบนี้
ในเรื่องของความศรัทธาในสิ่งพ้นญาณวิสัยหรืออายตนะไม่สามารถสัมผัสได้นั้น ทุกศาสนาสอนศาสนิกของตนให้ศรัทธาในพระเจ้าซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มนุษย์มองไม่เห็นและสั่งให้เคารพสักการะพระเจ้าแต่เพียงองค์เดียว ศาสดาของทุกศาสนาไม่เคยสอนให้ศาสนิกกราบไหว้บูชาวัตถุ ในทางตรงข้าม กลับห้ามเสียด้วยซ้ำ
หลักศรัทธาในสิ่งพ้นญาณวิสัยอีกประการหนึ่งก็คือ ทุกศาสนาสอนให้ศาสนิกเชื่อว่าชีวิตหลังความตาย คือ ความจริงและมีอยู่จริง แม้ตาจะมองไม่เห็น แต่การมองไม่เห็นสิ่งใดมิได้หมายความว่าสิ่งนั้นไม่มีและสิ่งที่มนุษย์มองไม่เห็นมีมากกว่าสิ่งที่มนุษย์มองเห็น ความศรัทธาในเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นในรูปของคำว่า “นรกและสวรรค์” “วันพิพากษา” “การฟื้นคืนชีพหลังความตาย” เป็นต้น
ความเชื่อในหลักศรัทธาสองประการนี้มีส่วนสำคัญมากต่อการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ เพราะถ้ามนุษย์กลัวถูกลงโทษในโลกหน้า มนุษย์ก็ไม่กล้าทำบาปหรือทำชั่ว แต่ถ้ามนุษย์ไม่กลัวการลงโทษในโลกหน้า กฎหมายหลายฉบับและการลงโทษในโลกนี้ก็ไม่สามารถควบคุมมนุษย์ได้ เราเห็นตัวอย่างความจริงเรื่องนี้ได้อย่างง่ายดายในสังคมวัตถุนิยมที่ผู้คนคิดว่าหลังความตายแล้ว ในโลกหน้าตัวเองไม่ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองได้ทำไว้ในโลกนี้
ความเชื่อดังกล่าวมีความสำคัญต่อการสร้างคุณธรรมในจิตใจของเด็กพอ ๆ กับการสอนเด็กให้รู้จักตัวเลข ถ้าหากว่าประเทศใดหรือสังคมใดต้องการที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มาพัฒนาประเทศในอนาคต มันสำคัญยิ่งกว่าการมีแท็บเลตเสียอีก
หลายคนอาจมองว่าศาสนาเป็นเรื่องงมงายล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับยุควิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ใครคิดเช่นนั้น ผมคิดว่าคิดผิดครับ คำสอนของศาสนาไม่ขัดกับกฎหรือคำสอนทางวิทยาศาสตร์แต่ประการใดถ้าคำสอนทางศาสนานั้นเป็นของจริง เพราะกฎของศาสนามาจากพระเจ้าองค์เดียวกับที่สร้างกฎวิทยาศาสตร์ ยิ่งวิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้าเท่าใด การค้นพบและประดิษฐ์กรรมทางวิทยาศาสตร์ยิ่งยืนยันความจริงของคำสอนทางศาสนามากขึ้นเท่านั้น
ยุคก่อนหน้าอิสลามในคาบสมุทรอาหรับเป็นยุคที่ได้ชื่อว่ายุคแห่งความโง่เขลางมงายและหยาบช้าป่าเถื่อน ผู้คนประพฤติชั่วช้าเลวทรามเพราะเชื่อว่าความตายของมนุษย์ก็เหมือนกับความตายของสัตว์ที่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรในชีวิตหลังความตาย แม้คณะผู้เผยแผ่ศาสนาของชาวยิวและชาวคริสเตียนพยายามเชิญชวนคนเหล่านี้ให้มาสู่ความศรัทธาในพระเจ้าและการฟื้นคืนชีพโลกหน้า แต่ความพยายามของคณะผู้เผยแผ่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ
แต่เมื่อท่านนบีมุฮัมมัดเริ่มเผยแผ่อิสลาม แม้ท่านจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่รู้หนังสือ แต่ความรู้ที่ท่านได้รับจากพระเจ้าเพื่อนำมาสอนชาวอาหรับให้เชื่อในพระเจ้าและชีวิตหลังความตายทำให้นักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ต้องทึ่ง ลองดูคำสอนจากคัมภีร์กุรอานต่อไปนี้ดูก็แล้วกัน
“ขอสาบานว่าเรา(พระเจ้า)ได้สร้างมนุษย์มาจากธาตุของดิน แล้วเราได้ทำให้เขาเป็นเชื้ออสุจิอยู่ในมดลูก แล้วเราได้ทำให้เชื้ออสุจิกลายเป็นก้อนเลือด และทำให้ก้อนเลือดกลายเป็นก้อนเนื้อ และทำก้อนเนื้อให้เป็นกระดูก แล้วเราหุ้มกระดูกนั้นด้วยเนื้อ แล้วเราได้เป่าวิญญาณให้เขากลายเป็นอีกรูปร่างหนึ่ง ดังนั้น อัลลอฮฺทรงจำเริญยิ่งและเป็นเลิศที่สุดในบรรดาผู้สร้าง หลังจากนั้น สูเจ้าต้องตาย แล้วสูเจ้าจะถูกทำให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ” (กุรอาน 23:12-14)
ข้อความดังกล่าวในคัมภีร์กุรอานเพิ่งมีการพบว่าเป็นความจริงเมื่อวิทยาศาสตร์การแพทย์เริ่มมีความเจริญก้าวหน้า แต่ข้อความดังกล่าวออกจากปากของท่านนบีมุฮัมมัดเมื่อประมาณ 1,400 ปีที่แล้ว ท่านไม่ได้ต้องการสอนวิชาชีววิทยาให้ชาวอาหรับที่กักขฬะงมงายในเวลานั้น แต่ท่านต้องการที่จะบอกชาวอาหรับให้รู้ว่าโลกนี้ก็เปรียบเหมือนโลกในครรภ์ เมื่อโลกในครรภ์ที่มนุษย์มองไม่เห็นมิใช่โลกสุดท้ายฉันใด โลกนี้ก็ไม่ใช่โลกสุดท้ายของมนุษย์ฉันนั้น และเมื่อพระเจ้ารู้ถึงความเป็นไปในครรภ์ของมนุษย์เช่นใด พระองค์ก็ย่อมรู้ถึงความเป็นไปของมนุษย์ในโลกนี้เช่นกัน ความตายจึงเป็นการคลอดของวิญญาณเพื่อออกไปสู่โลกหน้าเหมือนกับทารกที่คลอดออกมายังโลกนี้
นี่คือคำสอนของท่านนบีมุฮัมมัดที่ทำให้ชนชาติอาหรับในยุคโง่เขลาหันมารับอิสลามและกลายเป็นชนชาติที่มีส่วนในการสร้างอารยธรรมให้แก่โลก เป็นคำสอนที่บอกให้รู้ว่าวิทยาศาสตร์กับศาสนาไม่ได้ขัดแย้งกัน ในทางตรงข้ามกลับเสริมกันและกันในการสร้างความรู้ทางสติปัญญาและความเชื่อมั่นทางจิตวิญญาณ
หากใครรู้วิทยาศาสตร์และไม่เข้าใจหรือเชื่อมั่นสัจธรรมดังกล่าวของศาสนา ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็เป็นประโยชน์แก่ชีวิตสั้น ๆ ของเขาในโลกนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น น่าเสียดายที่เรียนวิทยาศาสตร์ที่แสนยากกันได้ แต่ไม่เข้าใจศาสนาที่แสนง่ายเลย
โดยอาจารย์บรรจง บินกาซัน
Tags: