ประวัตินบีคิเฎร ที่กล่าวไว้ในอัลกุรอาน
คิเฎร หรือ เคาะฎิรฺ คือบ่าวผู้ประพฤติชอบ (عَبْدٌصَالِحٌ) ซึ่งนบีมูซา (อ.ล.) ได้เดินทางไปหาเพื่อแสวงหาความรู้จากบ่าวผู้นี้ และอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้เล่าให้เราได้รู้ถึงเรื่องราวของบุคคลทั้งสองในสูเราะฮฺ อัล-กะฮฺฟิ (อัรรุสุล วัรริสาลาต ; ดร. อุมัร สุลัยมาน อัล-อัชก็อรฺ หน้า 22)
อิบนุ กะษีร ได้ระบุถึงบรรดาประเด็นที่บ่งชี้ว่า คิเฏร เป็นนบีท่านหนึ่ง (อัลบิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ 1/326) อิบนุ อะสากิร ได้รายงานไว้ใน ตารีค ดิมัชกฺ และ อัด-ดาเราะกุฏนียฺใน อัล-อัฟร็อด จากอิบนุอับบาส (ร.ฎ.) ว่า : “คิเฏรเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของ นบีอาดัม เขาถูกประวิงเวลาในช่วงอายุขัยของเขาให้ยืดยาวจนกว่าเขาจะได้สังหารดัจญาล” ระดับของสายรายงานคือ เฎาะอีฟ มุงเกาะฏิอฺ และ เฆาะรีบ นักวิชาการบางท่านระบุว่า สายรายงานหะดิษนี้เมาวฺฎุอฺ
(ตารีค ดิมัชกฺ 5/145, อัฏ-ฏุอะฟาอฺ ของ อัน-นะสาอียฺ ตัรญะมะฮฺ เลขที่ 194, 527, อัชซะฮฺรุล นะเฎาะรุ้ ; อิบนุหะญัร อัล-อัสเกาะลานียฺ หน้า 19)
อบูหาติม สะฮฺล์ อิบนุ มุฮัมมัด อิส-สิญิสตานียฺ ระบุไว้ในกิตาบ อัล-มุอัมมะรีน ว่า : ลูกหลานนบีอาดัมที่มีอายุยืนยาวที่สุดคือ คิเฎร เขามีชื่อว่า คอฏรูน บุตร กอบีล บุตร อาดัม” สายรายงานนี้เป็น มุอฺฏ็อล ตามที่อิบนุหะญัรระบุไว้ (อ้างแล้ว หน้า 19) รายงานจาก วะฮฺบฺ อิบนุ มุนับบิฮฺ ว่า นามชื่อของคิเฎร คือ บิลยา หรือ อิลิยา บุตร อัรฟัคชัซฺ บุตร ซาม บุตร นัวหฺ
(อัฏ-เฏาะบะรียฺ 1/186, อิบนุ อะสากิร 5/145, อิบนุ อะเราะบียฺ ในอัลฟุตูหาตฺ อัล-มักกียะฮฺ 3/336)
ท่านอัล-หาฟิซฺ อิบนุ หะญัร ได้ระบุไว้ในตำราอัซ-ซะฮฺรุล–นะเฎาะรุ้ หน้า 19-20 ว่า : มี 8 คำกล่าวที่อ้างเชื้อสายของนบีคิเฎร ดังนี้
1. นบีคิเฎร เป็นบุตร อัมมาอีล บุตร อัน-นูน บุตร อัล-อัยศฺ บุตร อิศหาก (อิบนุกุตัยบะฮฺเล่าไว้)
2. นบีคิเฎร เป็นบุตร อัร-มิยา บุตร ค็อลกิยา (มุฮัมมัด อิบนุ อิสหาก อิบนุ ยะส๊าร รายงานจากวะฮฺบ์ อิบนุ มุนับบิฮฺ)
3. นบีคิเฎร เป็นบุตร ฟิรเอาว์นฺ หรือ เป็นบุตรของธิดาฟิรเอานฺ (มุฮัมมัด อิบนุ อัยยู๊บรายงานจากอบีละฮีอะฮฺ)
4. นบีคิเฎรเป็นลูกหลานนบีฮารูน (อ.ล.) (รายงานจากอัล-กัลบ์บียฺ จากอบีศอลิหฺ จากอบีฮุรอยเราะฮฺ จากอิบนุอับบาส (ร.ฎ.) สายรายงานเฎาะอีฟ ญิดดัน)
5. นบีคิเฎร เป็นบุตร มะอฺมัรฺ บุตร มาลิก บุตร อับดิลลาฮฺ บุตร นัฎร์ บุตร อัซดฺ (รายงานโดย อิสมาอีล อิบนุ อบีอุวัยส์ ; อิบนุมะอีน กล่าวว่า ลูกของอบีอุวัยสฺ และบิดาของเขาทั้งสองขโมยหะดีษ บ้างก็ว่า เฎาะอีฟ บ้างก็ว่าษิเกาะฮฺ)
6. นบีคิเฎร คือ นบีอิลยาส (อ.ล.) ดังมีรายงานจากมุกอติล ส่วนอิบนุ อะสากิรรายงานถึงอัส-สุดดียฺว่า นบีคิเฎรเป็นพี่น้องของนบีอิลยาส (อ.ล.) ท่านอิบนุหะญัรระบุว่า “ห่างไกล”
7. มารดาของนบีคิเฎรเป็นสตรีชาวรูมมีบิดาเป็นฟาริสียฺ (อัษ-ษะอฺละบียฺ รายงานไว้ใน อัล-อะรออิส)
8. นบีคิเฎรเป็นบุตรของฟาริส (โดย อัฏ-เฏาะบะรียฺ)
สรุปว่า นบีคิเฎร (อ.ล) นั้นไม่มีหะดีษเศาะฮีหฺระบุว่าเชื้อสายจากผู้ใดกันแน่?
กะอฺบ์ อัล-อะหฺบ๊ารฺ รายงานว่า “นบีคิเฎรเคยเป็นเสนาบดีของซุล-ก็อรนัยนฺ มีเรื่องเล่า (หิกายะฮฺ) ว่า : บิดาของนบีคิเฎรเป็นกษัตริย์ มารดาของท่านเป็นชาวเปอร์เซียมีชื่อว่า อัล-ฮาอฺ นางให้กำเนิดนบีคิเฎรภายในถ้ำ ที่นั่นมีแพะที่ให้นมแก่ท่าน ต่อมานบีคิเฎรได้พบกับบิดา แต่ภายหลังก็หนีจากบิดาไปพบกับตาน้ำแห่งชีวิต (عَيْنُ الْحَيَاةِ) และดื่มน้ำจากตาน้ำนั้นทำให้นบีคิเฎรมีชีวิตยืนยาวจนดัจญ๊าลปรากฎและท่านก็ฆ่าดัจญ๊าล (อัส-สุฮัยลียฺ รายงานไว้ใน อัต-ตะอฺรีฟ โดยถ่ายทอดจาก อัล-อิศอบะฮฺ 1/430)
บ้างก็เล่าว่า : ซุลกอรนัยน์มีเพื่อนเป็นมาละอิกะฮฺ จึงขอให้ชี้แนะถึงสิ่งที่ทำให้มีอายุวัฒนะ มะลาอิกะฮฺบอกให้ทราบถึงตาน้ำแห่งชีวิตซึ่งอยู่ภายในความมืด ซุลกอรนัยน์จึงเดินทางไปยังตาน้ำนั้นแต่นบีคิเฎรอยู่หน้าซุลกอรนัยน์จึงดื่มน้ำนั้นเสียก่อนซุลกอรนัยน์ (อัล-อิศอบะฮฺ 1/430, ฟุตูหาตฺ มักกียะฮฺ 3/336) บางท้องเรื่องมีรายละเอียดกว่านี้ซึ่งอัล-หาฟิซฺ อิบนุ หะญัร อัล-อัสเกาะลานียฺ กล่าวว่า บรรดารายงานที่อ้างว่าคิเฎรดื่มตาน้ำแห่งชีวิตทั้งหมดเป็นเรื่อง อิสรออิลิยาตฺ ที่ วะฮฺบ์ อิบนุ มุนับบิฮฺ และผู้อื่นรายงาน ซึ่งทั้งหมดเป็นสายรายงานเฎาะอีฟ ญิดดัน
มีรายงานถึงการพบระหว่างนบีคิเฎร (อ.ล.) กับนบีอิลยาส (อ.ล.) ทั้งสองจะถือศีลอดตลอดเราะมาะฎอนที่บัยตุลมักดิส เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ทุกปี และทั้งสองจะดื่มน้ำซัมซัมเพียงอึกเดียว ซึ่งพอสำหรับปีถัดไป (อิบนุ อะสากิร รายงานไว้ในตารีค ดิมัชฺกฺ 5/156 ซึ่งในสายรายงานมีคนหนึ่งที่ชื่อ อิบนุ อบี เราะวฺว๊าด มัยมูน ซึ่งเป็นคนที่ชอบโกหก)
บางรายงานระบุว่านบีทั้งสองยังคงมีชีวิตอยู่ตราบใดที่อัล-กุรอานยังคงอยู่ในโลกนี้ เมื่ออัลกุรอานถูกยกขึ้นไป ทั้งสองก็สิ้นชีวิต ซึ่งทุกสายรายงานมีปัญหาทั้งสิ้น (อัล-มะกอฺศิด อัล-หะสะนะฮฺ ; อัส-สะคอวียฺ หะดีษเลขที่ 27 หน้า 62) กะอฺบ์ อัล-อะหฺบ๊าร รายงานว่า นบีคีเฎรอยู่บนมิมบัรที่เป็นรัศมีในท้องทะเลและอ้างจาก อัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ ว่า นบีอิลยาสถูกมอบหมายให้อยู่ในท้องทะเลทราย นบีคิเฎรอยู่ที่ท้องทะเล ทั้งสองถูกมอบชีวิตอมตะในดุนยาจนถึงเสียงสังข์ครั้งแรก
บางรายงานระบุว่า ทั้งสองจะพบกันในเทศกาลหัจญ์ของทุกปี และต่างก็โกนศีรษะให้แก่กัน (ในการตะหัลลุ้ล) และทั้งสองจะแยกจากกันโดยกล่าวดุอาอฺบทหนึ่งที่เริ่มด้วย บิสมิลลาฮฺในทุกประโยค ซึ่งบรรดากลุ่มเฏาะรีเกาะฮฺ ศูฟียะฮฺนิยมใส่ดุอาอฺบทนี้ในวิริดของพวกเขา เช่น เฏาะรีเกาะฮฺ คอลวะตียะฮฺ, เอาว์นียะฮฺ, อัล-อุยูนียะฮฺ เป็นต้น และอ้างว่าอิบนุอับบาส (ร.ฎ.) ระบุว่า ผู้ใดอ่านดุอาอฺนี้ 3 ครั้งทั้งเช้าและเย็น อัลลอฮฺจะให้เขาปลอดภัยจากการจมน้ำ ไฟคลอก และขโมย ตลอดจนซัยฏอน, ผู้มีอำนาจ งูพิษ และแมงป่อง (เป็นหะดีษมุงกัร)
นอกจากนี้ยังมีรายงานที่ระบุว่า นบีคิเฎรเคยพบนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ในหลายโองการซึ่งนักวิชาการหะดีษระบุว่าเป็นหะดีษที่มีทั้งบาฏิล, มุงกัร, เมาว์ฏูอฺ และยังมีอีกหลายรายงานที่ระบุว่า นบีคิเฎร (อ.ล.) ได้พบเศาะหะบะฮฺหลายท่าน เช่น ท่าน อะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) ท่านอุมัร (ร.ฎ.) เป็นต้น และพบกับชนรุ่นตาบิอีน ที่รวบรวมรายชื่อบรรดาชัยคฺและกุฏุบที่เป็นเหล่าวะลียฺซึ่งพบกับนบีคิเฎร เช่น ตำราที่ชื่อ “อัล-มีซาน อัล-เคาะฎิรียะฮฺ” ของ อัช-ชะอฺรอนียฺ เป็นต้น
สิ่งสำคัญที่มักจะอ้างกันว่านบีคิเฎรประเสริฐกว่านบีมูซา (อ.ล.) เนื่องจากท่านมี “อิลมุลละดุนนียฺ” ตามท้องเรื่องในสูเราะฮฺอัล-กะฮิฟียฺ ได้นำไปสู่แนวความเชื่อที่คลาดเคลื่อนในหลักอะกีดะฮฺอีกหลายประการ เช่น ความเชื่อที่ว่าหลักการศาสนามีหะกีกัตแปลกแยกจากชะรีอัต การเชื่อว่าผู้เป็นวะลียฺประเสริฐกว่าผู้เป็นนบี เป็นต้น
ซึ่งประเด็นหลังนี้ขัดกับหลักอะกีดะฮฺของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ (ดูรายละเอียดทั้ง 2ประเด็นจากหนังสือ “อิซฺฮารุล อะกีดะฮฺ อัส-สุนนียะฮฺ บิชัรหิลอะกีดะฮฺ อัฏ-เฏาะหาวียะฮฺ ; ชัยคฺ อับดุลลอฮฺ อัล-ฮะเร่าะรียฺ อัล-หะบะชียฺ, ดารุลมะชารีอฺ เบรุต พิมพ์ครั้งที่ 2, 1996) หน้า 218-220)
อัลกุรอานได้บอกเล่าเรื่องราวของชาวถ้ำในซูเราะห์อัลกะฮฟิ อายะห์ที่ 60-82
Tags: