ญิฮาดใหญ่...ในสมรภูมิชีวิต
เมื่อนบีมุฮัมมัดอพยพออกจากมักก๊ะฮฺไปยังเมืองมะดีนะฮฺเพื่อหาสถานที่ปฏิบัติศาสนาตามความเชื่อและเผยแผ่อิสลามได้อย่างอิสระเสรี ท่านคาดการณ์ไว้ว่าพวกหัวหน้าชาวมักก๊ะฮฺจะต้องยกทัพมากำจัดท่านอย่างแน่นอน
หลังการอพยพประมาณสองปี สิ่งที่ท่านคาดคิดไว้ก็เป็นจริง ชาวมักก๊ะฮฺได้ยกทัพมาด้วยความย่ามใจในกำลังที่เหนือกว่า แต่ต้องพ่ายแพ้กลับไปพร้อมกับความแค้น
หลังจากนั้นอีกไม่นาน หัวหน้าชาวเมืองมักก๊ะฮฺได้ยกกองทัพมาล้างแค้นให้แก่ความพ่ายแพ้ครั้งแรก การปะทะกันครั้งที่สองนี้เกิดขึ้นที่ทุ่งราบเชิงเขาอุฮุด สงครามครั้งนี้ฝ่ายมุสลิมได้รับความพ่ายแพ้สาวกคนสำคัญๆหลายคนได้พลีชีพไปในสนามรบและนบีมุฮัมมัดได้รับความบอบช้ำ ฟันของท่านหักสองซี่
ระหว่างเดินทางกลับเข้าเมืองมะดีนะฮฺด้วยความอิดโรย ท่านได้เปรยกับสาวกว่าหลังจากนี้จะมีญิฮาดใหญ่เกิดขึ้น คำพูดของท่านทำให้สาวกหลายคนวิตกกังวล สาวกคนหนึ่งจึงถามท่านว่าญิฮาดใหญ่คืออะไร?
ท่านตอบว่า... ญิฮาดกับตัวตนหรือการต่อสู้กับตัวเอง
ญิฮาดหรือการต่อสู้ด้วยอาวุธในสนามรบเกิดขึ้นไม่กี่ครั้งในชีวิตของแต่ละคน หลายคนทั้งชีวิตอาจไม่เคยออกญิฮาดด้วยอาวุธเสียด้วยซ้ำ แต่ตราบใดที่ยังมีชีวิต ตัวตนของมนุษย์ที่มีความต้องการวัตถุไม่สิ้นสุดนั่นแหละคือสิ่งที่ทุกคนต้องต่อสู้
สงครามอุฮุดเป็นสงครามที่ให้บทเรียนว่าความพ่ายแพ้ในการญิฮาดต่อตัวตนของคนไม่กี่คนที่ต้องการวัตถุคือสาเหตุแห่งความพ่ายแพ้ในการญิฮาดด้วยอาวุธ
ก่อนการรบเกิดขึ้นที่สมรภูมิอุฮุด นบีมุฮัมมัดได้สั่งสาวกที่เป็นพลธนูประมาณ 50 คนขึ้นไปบนเนินเขาเตี้ยๆลูกหนึ่งเพื่อคอยสกัดกั้นกองทหารม้าที่อาจอ้อมภูเขาเข้ามาตีตลบหลังฝ่ายมุสลิม ท่านได้กำชับพลธนูเหล่านั้นว่าอย่าได้ละทิ้งหน้าที่และที่ตั้งเป็นอันขาดไม่ว่าสถานการณ์การรบจะเป็นอย่างไร
แม้ฝ่ายมุสลิมจะมีคนน้อยกว่า แต่ด้วยความศรัทธาที่แกร่งกล้า ฝ่ายมุสลิมสามารถตอบโต้และเป็นฝ่ายรุกไล่จนฝ่ายรุกรานถอยหนีทิ้งอาวุธและสัมภาระไว้เกลื่อนกลาดในสมรภูมิ เมื่อฝ่ายพลธนูบนเนินเขาเห็นความพ่ายแพ้และทรัพย์สินของศัตรูในสนามรบ จึงเกิดความอยากได้ทรัพย์สินเหล่านั้นจนคุมตัวเองไม่อยู่ หลายคนวิ่งลงมาจากเนินเขาเพื่อเก็บทรัพย์สินของศัตรู เหลือพลธนูอยู่บนเนินเขาเพียงไม่กี่คน
เมื่อผู้นำทหารม้าของฝ่ายมักก๊ะฮฺเห็นเช่นนั้น จึงนำทหารม้าฝ่าการต่อต้านของพลธนูอ้อมเนินเขาเข้ามาโจมตีฝ่ายมุสลิมที่กำลังขับไล่ข้าศึกทางด้านหลัง ชัยชนะที่ฝ่ายมุสลิมกำลังจะได้รับจึงกลับกลายเป็นความพ่ายแพ้อย่างบอบช้ำ
นั่นคือ เหตุผลที่ท่านนบีมุฮัมมัดถึงได้กล่าวว่า ญิฮาดที่ใหญ่กว่าญิฮาดในสนามรบคือ การญิฮาดกับจิตใจของตนเอง
ความต้องการไม่รู้จักจบจักสิ้นของตัวเองคือสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ถ้าจะดับทุกข์ต้องดับที่สาเหตุ นั่นคือการหักห้ามความต้องการที่ไม่รู้จักสิ้นสุดของตัวตน ดังนั้น ศาสนาจึงมีบทสอนศาสนิกของตนด้วยการถือศีลอดเพื่อเอาชนะความต้องการของตัวตน
เดือนรอมฎอนไม่เพียงแต่เป็นช่วงเวลาแห่งการญิฮาด กับตัวตนของชาวมุสลิมด้วยการอดข้าวอดน้ำเพื่อเอาชนะความต้องการของตัวตนเท่านั้น แต่ยังต้องญิฮาดกับตัวตนที่ต้องการจะนอนด้วยการตื่นขึ้นมากินข้าวก่อนแสงแรกของดวงอาทิตย์จะปรากฏบนขอบฟ้า
นอกจากนี้แล้ว ผู้ถือศีลอดยังญิฮาดกับความต้องการของหูและตาที่อยากดูหนังฟังเพลง ญิฮาดกับลิ้นของตัวเองที่มักจะชอบพูดพล่อยๆหรือไร้สาระอีกด้วย
การญิฮาดกับตัวตนซึ่งเป็นญิฮาดใหญ่นี้ไม่มีจักรพรรดิหรือผู้นำประเทศหรือผู้นำชุมชนมุสลิมคนใดเป็นผู้ออกคำสั่ง แต่มันเป็นคำสั่งโดยตรงจากพระเจ้าถึงผู้ศรัทธาในพระองค์เป็นการเฉพาะ
ดังนั้น เมื่อสิ้นสุดเดือนรอมฎอน มุสลิมในประเทศต่างๆจะเฉลิมฉลองชัยชนะในการญิฮาดกับตัวตนของพวกเขาด้วยการประกาศความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าดังก้องกังวาลไปทั่วโลก
ที่มา : บรรจง บินกาซัน
Tags: