บทลงโทษของผู้เนรคุณ “พ่อแม่”
บางคนอาจไม่รู้ว่า การเนรคุณพ่อแม่ ท่านบีจัดไว้ว่า เป็นบาปใหญ่ในศาสนา[1] และการทำดีต่อบิดามารดา เป็นผลบุญที่ยิ่งใหญ่ ใหญ่กว่าญีฮาดเสียอีก
ท่านนบี صلى الله عليه وسلم ถูกถามว่า การงานใดที่ดีที่สุด ท่านตอบว่า ‘การละหมาดต้นเวลา ถัดมาคือ ทำดีต่อพ่อแม่ ถัดมาคือ การต่อสู้ ในหนทางของอัลลอฮฺ’ [2]
บางคน มองความดีที่เป็น ‘สัญลักษณ์’ ใหญ่โต เช่น ละหมาด ซะกาต ญีฮาด ถือศีลอด แต่พวกเขาบกพร่องกับความดีที่เป็นเรื่องพื้นฐาน คือการทำให้ ‘ผู้ให้กำเนิด มีความสุข’
ที่น่าเศร้าคือ คนหนึ่งอาจเป็นคนดี สำหรับคนทั้งหมด แต่พ่อแม่ของเขา กลับต้องพบแต่พฤติกรรมแย่ๆ ใบหน้าบึ้งตึง และถ้อยคำที่บาดใจ
บทลงโทษของผู้เนรคุณพ่อแม่
1. ถูกลงโทษในดุนยา ไม่ต้องรอถึงอาคิเราะฮฺ
ท่านนบี صلى الله عليه وسلم กล่าวว่า ‘บาปต่าง ๆ (โดยมากแล้ว) อัลลอฮฺจะประวิงเวลาการลงโทษออกไปยังอาคิเราะฮ ยกเว้นคนเนรคุณต่อบิดามารดา พวกเขาจะได้พบการลงโทษตั้งแต่ดุนยานี้ ไม่ต้องรอโลกหน้า’ [3]
2. ถูกอัลลอฮฺสาปแช่ง
ท่านนบี صلى الله عليه وسلم กล่าวว่า ‘คนเนรคุณบิดามารดา คือผู้ได้รับการสาปแช่ง(จากอัลลอฮฺ)’ [4]
3. อัลลอฮฺจะไม่ทรงมองพวกเขาในวันกิยามะฮฺ
ท่านนบี صلى الله عليه وسلم กล่าวว่า ‘สามกลุ่มคนที่อัลลอฮฺจะไม่ทรงมองพวกเขาในวันกิยามะฮ ผู้ที่เนรคุณต่อพ่อแม่ ผู้หญิงที่เลียนแบบผู้ชาย และผู้ชายที่ไม่หึงหวงผู้หญิงในการดูแลของตน
(เช่น ภรรยา น้องสาว ลูกสาว คุยกับชายแปลกหน้าก็ไม่ว่าอะไร)[5]
4. ไม่ได้เข้าสวรรค์
ท่านนบี صلى الله عليه وسلم กล่าวว่า ‘สามกลุ่มคน ที่จะไม่ได้เข้าสวรรค์ คนที่เนรคุณต่อบิดามารดา คนที่ดื่มสุราเป็นประจำ และคนที่เมื่อให้อะไรผู้คนแล้ว ก็จะทวงบุญคุณเรื่อยร่ำไป’ [6]
5. การงานจะไม่ถูกตอบรับ หนึ่งในบทลงโทษที่หนักที่สุด คือ อัลลอฮฺไม่รับการงาน
ท่านนบี صلى الله عليه وسلم กล่าวว่า ‘สามกลุ่มคนที่อัลลอฮฺจะไม่รับการงานของเขา ไม่ว่าจะเป็นการงานฟัรฎู หรือการงานซุนนะฮฺก็ตาม คือ คนเนรคุณบิดามารดามารดา คนทวงบุญคุณในสิ่งที่ตนมอบให้ผู้อื่น และคนปฏิเสธการกำหนดของอัลลอฮฺ’ [7]
การเนรคุณต่อพ่อแม่จึงไม่ใช่เรื่องเล็ก การกระทำเช่นไหน ที่อาจเข้าข่ายเนรคุณ?
ความหมายของเนรคุณที่ชัดเจนเรารู้ดี แต่บางการกระทำ หลายคน อาจไม่คำนึงถึง เช่นทำให้ท่านเสียใจ เสียน้ำตา นับประสาอะไร กับการทำผิดเรื่องศาสนาต่อท่านทั้งสอง
มีบางฮะดีษ กล่าวว่า ‘ใครที่ทำให้พ่อแม่เสียใจ เขาก็ได้เนรคุณและทำร้ายจิตใจต่อท่านทั้งสองแล้ว’ [8]
ท่านอุมัร รอฎิยัลลอฮฺอันฮู กล่าวว่า ‘น้ำตาของพ่อแม่ จัดว่าเป็นการเนรคุณของลูก’
ผู้รู้บางท่านกล่าวว่า ‘ถ้าท่านทำตัวอยู่ในจุดที่ พ่อแม่จะสั่งสอนที ก็เกรงใจ ก็ให้รู้เถิดว่า ท่านเป็นผู้เนรคุณ’
อย่าดูถูกหัวใจของท่านทั้งสอง ไม่ได้หมายถึง เราต้อง เคารพโดยออกความเห็นไม่ได้ แต่เรียนรู้ที่จะพูดคุย แสดงออก ด้วยความนอบน้อม และมีมารยาท ยิ่งกว่าที่แสดงออกกับคนอื่นทั่วไป บางที ยิ่งคนสนิท คนใกล้ เรายิ่งนิสัยไม่ดี
อัลลอฮฺให้ความสำคัญกับการทำดีต่อพ่อแม่มาก พระองค์ได้สั่งใช้ เราให้ทำดีต่อท่านทั้งสอง ไม่พูดแม้คำว่า ‘อุฟ’ หรือ ‘อุฮฺ’ ที่แปลว่า ไม่เอา แล้วอย่างไรเล่า กับคำที่หนักกว่า?
وَقَضَىٰ رَبُّكَ أَلَّا تَعْبُدُوا إِلَّا إِيَّاهُ وَبِالْوَالِدَيْنِ إِحْسَانًا
إِمَّا يَبْلُغَنَّ عِندَكَ الْكِبَرَ أَحَدُهُمَا أَوْ كِلَاهُمَا
فَلَا تَقُل لَّهُمَا أُفٍّ وَلَا تَنْهَرْهُمَا وَقُل لَّهُمَا قَوْلًا كَرِيمًا
และพระเจ้าของเจ้าบัญชาว่า พวกเจ้าอย่าเคารพภักดีผู้ใดนอกจากพระองค์เท่านั้น และจงทำดีต่อบิดามารดา เมื่อผู้ใดในทั้งสอง หรือทั้งสองบรรลุสู่วัยชราอยู่กับเจ้า ดังนั้นอย่ากล่าวแก่ทั้งสองว่า อุฟ !
และอย่าขู่เข็ญท่านทั้งสอง และจงพูดแก่ท่านทั้งสองด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน
[อัลกุรอาน 17:23]
และลองพิจารณาอายะฮฺนี้
وَوَصَّيْنَا الْإِنسَانَ بِوَالِدَيْهِ حَمَلَتْهُ أُمُّهُ وَهْنًا عَلَىٰ وَهْنٍ
وَفِصَالُهُ فِي عَامَيْنِ أَنِ اشْكُرْ لِي وَلِوَالِدَيْكَ إِلَيَّ الْمَصِيرُ
และเราได้สั่งการแก่มนุษย์เกี่ยวกับบิดามารดาของเขา โดยที่มารดาของเขาได้อุ้มครรภ์เขา อ่อนเพลียครั้งแล้วครั้งเล่า และการหย่านมของเขาในระยะเวลาสองปี เจ้าจงขอบคุณข้า และขอบคุณบิดามารดาของเจ้า ยังเรานั้น คือการกลับไป
وَإِن جَاهَدَاكَ عَلَىٰ أَن تُشْرِكَ بِي مَا لَيْسَ لَكَ بِهِ عِلْمٌ فَلَا تُطِعْهُمَا ۖ وَصَاحِبْهُمَا فِي الدُّنْيَا مَعْرُوفًا
และถ้าเขาทั้งสองบังคับเจ้าให้ตั้งภาคีต่อข้า โดยที่เจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น เจ้าอย่าได้เชื่อฟังปฏิบัติตามเขาทั้งสอง และจงอดทนอยู่กับเขาทั้งสองในโลกนี้ ด้วยการทำความดี
[อัลกุรอาน 31:14-15]
ถัดจากสั่งให้เตาฮีด พระองค์สั่งให้ดีกับพ่อแม่ และถ้าพ่อแม่สั่งให้ออกจากเตาฮีด ก็อย่าเชื่อฟังในเรื่องนั้น แต่ให้ยังคงทำดีกับท่านทั้งสองต่อไป!
นี่คือสถานภาพที่ยิ่งใหญ่ของคนเป็นบิดามารดา อย่าได้เนรคุณต่อท่านทั้งสองเลย.
—
อ้างอิงฮะดีษ
1. บุคอรีย์
2. บุคอรีย์ มุสลิม
3. บุคอรีย์
4. ศอฮีฮฺ อัตตัรฆีบ
5. ศอฮีฮฺ ซุนนัน อันนะซาอีย์
6. ศอฮีฮฺ ซุนนัน อันนะซาอีย์
7. ซิลซีละฮ อัลอะฮาดีษ อัศเศาะฮีฮะฮฺ
8. ฎออีฟฟุลญามิอฺ
****************************
เรียบเรียงโดย : คุณครู ขนมปัง
Tags: