แผลเล็กอย่าวางใจ แบคทีเรียกินเนื้อ อาจป่วยหนักจากโรคเนื้อเน่า
แม้จะเป็นเพียงแผลแมวข่วน มีดบาด หรือแผลถลอกเล็ก ๆ จากอะไรก็ไม่รู้ ก็ต้องทำความสะอาดแผลให้ดีและอย่างถูกต้อง ถ้าไม่อยากเสี่ยงโรคเนื้อเน่า หรือแบคทีเรียกินเนื้อ ที่อันตรายถึงชีวิต...
แบคทีเรียกินเนื้อ แค่ชื่อก็น่ากลัวแล้วใช่ไหมคะ แต่ถ้าได้รู้ว่าแบคทีเรียกินเนื้อสร้างอันตรายให้เราได้ถึงชีวิต คงจะรู้สึกผวาแบคทีเรียกินเนื้อกันมากขึ้น ว่าแต่แบคทีเรียกินเนื้อคืออะไร ทำไมร้ายขนาดทำให้ผู้ติดเชื้อพิการหรือเสี่ยงเสียชีวิตได้ เรามาทำความรู้จักโรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคเนื้อเน่ากันเลย
แบคทีเรียกินเนื้อ หรือโรคเนื้อเน่า คืออะไร
โรคเนื้อเน่าหรือโรคแบคทีเรียกินเนื้อ (Flesh-eating Disease) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียอย่างรุนแรงในผิวหนังชั้นลึกตั้งแต่ชั้นหนังกำพร้า ชั้นหนังแท้ ชั้นไขมัน ไปจนถึงชั้นเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ หรืออธิบายได้ง่าย ๆ ว่าหากติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อแล้ว เจ้าแบคทีเรียดังกล่าวจะทำให้เซลล์ผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อตายทั้งหมด และอาจจะลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ด้วย
แบคทีเรียกินเนื้อ เกิดจากอะไร
สาเหตุของโรคเนื้อเน่าหรือโรคแบคทีเรียกินเนื้อ อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดเดียวหรือหลายชนิดรวมกัน โดยเชื้อแบคทีเรียก่อโรคมี ดังนี้
- เชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส กลุ่ม A (Group A streptococci)
- เชื้อเคล็บเซลลา (Klebsiella)
- เชื้อคลอสตริเดียม (Clostridium)
- เชื้ออีโคไล (E. coli)
- เชื้อสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus)
- แอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา (Aeromonas hydrophila)
- เชื้อวิบริโอ (Vibrio)
ทั้งนี้เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญคือเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส กลุ่ม A (Group A streptococci) และเชื้อที่มีความรุนแรงคือเชื้อแอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา (Aeromonas hydrophila) และเชื้อวิบริโอ (Vibrio) ทว่าเชื้อวิบริโอจะพบได้ไม่บ่อยนัก
แบคทีเรียกินเนื้อ ติดเชื้อจากไหนได้บ้าง
เชื้อแบคทีเรียมีอยู่มากหน้าหลายตาด้วยกัน และเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อก็มักจะแอบซ่อนอยู่ตามนี้ค่ะ
- วัสดุที่สกปรก เช่น ตะปู หนาม ไม้ที่อยู่ในน้ำ
- แผลสัตว์กัด ข่วน แล้วไม่ทำความสะอาดให้ดี จนเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อมีโอกาสเติบโต
- การรับประทานอาหารทะเลไม่สุก ซึ่งอาจเสี่ยงได้รับเชื้อวิบริโอได้
- การทำแผลด้วยอุปกรณ์ที่ไม่สะอาด เช่น การใช้เข็มบ่งตุ่มน้ำใส ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เชื้อแบคทีเรียหลายชนิดเติบโตบนแผลได้
อย่างไรก็ตาม เราอาจเจอเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อในลักษณะอื่น ๆ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ได้อีก เพราะเชื้อแบคทีเรียมีอยู่หลายที่ และมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ดังนั้นโอกาสในการเจอเชื้อแบคทีเรียและสัมผัสมันก็มีมากขึ้นไปด้วยนั่นเองค่ะ
แบคทีเรียกินเนื้อ ใครเสี่ยงบ้าง
กลุ่มเสี่ยงโรคเนื้อเน่าหรือแบคทีเรียกินเนื้อก็ตามนี้เลยค่ะ
* ผู้ที่มีบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วไม่ทำความสะอาดแผลให้ดี จนเกิดการอักเสบอย่างรุนแรง หรือมีบาดแผลแล้วไม่ระวัง ไปสัมผัสเชื้อแบคทีเรียเข้า
* ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน ผู้ป่วยที่มีภาวะไตวาย ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดผิดปกติ ผู้ที่เข้ารับเคมีบำบัด ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่กินยาสเตรอยด์หรือยาชุด และผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ เป็นต้น รวมทั้งกลุ่มเกษตรกรที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อได้ง่าย
แบคทีเรียกินเนื้อ อาการเป็นอย่างไร
เมื่อโดนเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อเล่นงาน จะมีอาการ ดังนี้
* เจ็บ ปวด แดง ร้อน ที่ผิวหนังอย่างมาก
* อาการบวมแดงจะลุกลามอย่างรวดเร็ว
* มีผื่นพุพอง อาจมีตุ่มน้ำร่วมด้วย
* ปวดแขน ขา หรือบริเวณที่เป็นโรคอย่างมาก โดยอาการปวดอาจไม่สัมพันธ์กับแผลที่เป็น เช่น ปวดมาก แต่แผลที่เป็นมีขนาดเล็กมาก เป็นต้น
* แผลมีสีคล้ำ ม่วง ดำ
* มีไข้สูง ครั่นเนื้อครั่นตัว
* มีอาการขาดน้ำ
* ผิวปริแตก และมีน้ำเหลืองไหลออกมา
ทั้งนี้ตำแหน่งที่เกิดโรคมักจะเป็นบริเวณขาและเท้า อีกทั้งยังอาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด เบาหวาน และไตวาย หากทำการรักษาไม่ทัน
แบคทีเรียกินเนื้อ รักษาได้ไหม
เมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วว่า แผลที่เป็นเกิดจากเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อหรือเป็นโรคเนื้อเน่า แพทย์จะทำการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อออกให้มากที่สุด พร้อมกับให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดทันทีที่วินิจฉัยได้ โดยในระยะแรกอาจให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อหลายชนิดด้วยกัน แต่หลังจากเพาะเชื้อได้ แพทย์ก็จะเปลี่ยนยาปฏิชีวนะให้ตรงกับเชื้อที่เป็นสาเหตุในทันที
อย่างไรก็ตาม ผลการรักษาจะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ด้วย หากวินิจฉัยได้เร็ว โอกาสในการรักษาก็จะยิ่งมาก รวมไปถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยก็สำคัญ หากมีภูมิต้านทานดีอาจทำให้ผลการรักษาน่าพอใจ ทว่าหากมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ เคสนี้ถือว่าอันตรายพอสมควรนะคะ
แบคทีเรียกินเนื้อคน อันตรายแค่ไหน
แม้โรคแบคทีเรียกินเนื้อจะพบได้ไม่บ่อยนัก แต่ความรุนแรงของโรคนี้ค่อนข้างมาก มีอัตราเสี่ยงพิการและเสียชีวิตค่อนข้างสูง เพราะการลุกลามของเชื้อค่อนข้างเร็ว อีกทั้งยังอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ่อนอย่างการติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้ช็อก และเสียชีวิตในที่สุด
แบคทีเรียกินเนื้อ กับอาหารทะเล เสี่ยงแค่ไหน
อาจเคยได้ยินว่าการกินอาหารทะเลดิบ ๆ หรือไม่สุกอย่างเพียงพอ อาจเป็นสาเหตุของโรคแบคทีเรียกินเนื้อได้ ซึ่งประเด็นนี้ อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ไว้ว่า เคสที่กินอาหารทะเลไม่สุกแล้วเป็นโรคแบคทีเรียกินเนื้อพบได้ แต่พบได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากเชื้อที่จะเจอในอาหารทะเลคือเชื้อแบคทีเรียวิบริโอ (Vibrio) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบได้น้อย แต่อย่างไรก็ตาม การกินอาหารทะเลอย่างปลอดภัย หรือการกินเนื้อสัตว์ทุกชนิดอย่างปลอดภัยก็ควรกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น
แบคทีเรียกินเนื้อ ป้องกันยังไงดี
ได้รู้แล้วว่าแบคทีเรียกินเนื้ออันตรายแค่ไหน ฉะนั้นมีวิธีป้องกันแบคทีเรียกินเนื้ออย่างไรบ้าง ก็ควรทำให้ครบ
- ระมัดระวังไม่ให้เกิดแผลกับตัวเอง
- หากมีแผล ไม่ว่าจะเป็นแผลจากตะปูตำ มีดบาด มดกัด แมวข่วน แผลที่เกิดจากอะไรก็ได้ ก็ไม่ควรให้บาดแผลที่เป็นอยู่สัมผัสกับสิ่งสกปรกใด ๆ
- ควรทำแผลให้ถูกวิธี โดยล้างแผลด้วยน้ำสะอาด พร้อมกับสบู่ หรือแอลกอฮอล์ 70% เช็ดรอบ ๆ แผล จากนั้นใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดน ไอโอดีน โดยไม่ควรทายาที่แผลหรือโรยผงยาที่แผลโดยตรง จากนั้นควรปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ยาหรือผ้าก๊อซ
- เป็นแผล ควรปิดพลาสเตอร์หรือไม่ ไขข้อข้องใจเพื่อความปลอดภัย ไม่ติดเชื้อ
- หากเป็นแผลควรสังเกตแผลว่ามีอาการบวม แดง หรือมีอาการปวดแผลมาก ๆ และเป็นไข้ร่วมด้วยหรือไม่ หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์ทันที
- หากอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ให้ใส่รองเท้าบูทยาว ป้องกันถูกของมีคมทิ่มแทงที่เท้า และป้องกันบาดแผลที่ขา ถ้ามีบาดแผลให้หลีกเลี่ยงการลุยน้ำ
- ดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี หมั่นออกกำลังกาย กินอาหารปรุงสุกใหม่ และพักผ่อนให้เพียงพอ
- กินอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ไข่ ปลา เนื้อสัตว์ต่าง ๆ และผักผลไม้ เพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
- ในกรณีที่มีภูมิต้านทานต่ำ รับประทานยากดภูมิต้านทาน หรือเป็นโรคเรื้อรัง แล้วเป็นแผล ควรให้แพทย์หรือพยาบาลดูแลแผลให้
- ไม่ควรซื้อยาชุด ยาลูกกลอน หรือยาแก้ปวดเมื่อยมากินเอง เนื่องจากยาดังกล่าวอาจมีสเตียรอยด์ปนอยู่ ซึ่งจะกดภูมิต้านทานของร่างกาย และเป็นอันตรายได้
แม้จะพบโรคแบคทีเรียกินเนื้อคนได้ไม่บ่อย แต่เราก็ไม่ควรใช้ชีวิตอย่างประมาทนะคะ โดยเฉพาะถ้าเป็นแผล ควรดูแลล้างแผลให้ถูกวิธี ซึ่งก็จะเป็นการป้องกันเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อได้อีกทางหนึ่ง
Tags: