การศึกษาของชาวมุสลิมในสมัยท่านนบีมูฮัมหมัด
อิสลามเป็นศาสนาที่ให้ความสำคัญกับการแสวงหาความรู้ อิสลามไม่เพียงแต่จะสอนให้มนุษย์มีความรักในความรู้เท่านั้น แต่อิสลามยังเรียกร้องให้ทุกคนแสวงหาความรู้ การศึกษาจึงเป็นที่มาของการเกิดความรู้และความรู้นั้นก็เป็นพื้นฐานของการพัฒนามนุษย์ เป็นกุญแจของความเจริญทางวัฒนธรรมและอารยธรรม ความรู้มีความสำคัญในทุกขั้นตอนของการมีอยู่ของมนุษย์ เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดิน ความรู้เท่านั้นที่จะทำให้มนุษย์รู้จักตัวเอง รู้จักจักรวาล และรู้จักผู้อภิบาลผู้ทรงสร้าง (อัลลอฮ์)
อิสลามถือว่าการแสวงหาความรู้เป็นสิ่งที่ประเสริฐยิ่งสำหรับมวลมนุษย์ แม้กระทั่งวะฮ์ยู (การดลใจอย่างฉับพลัน) แรกที่พระเจ้า (อัลลอฮ์)ได้ประทานลงมายังมวลมนุษยชาติก็เป็นบทที่เกี่ยวกับการศึกษา ให้เริ่มต้นด้วยกับการอ่าน ย่อมแสดงให้เห็นว่า การอ่านคือวิธีหนึ่งที่จะได้มาซึ่งความรู้และถือว่าผู้รู้นั้นเป็นผู้ที่จะต้องได้รับการยกย่อง จึงเป็นหน้าที่ของมวลมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นมุสลิมจะต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับศาสนาของตน และความรู้ที่จะใช้ในการดำรงอยู่ของชีวิตในสังคม อันเนื่องมาจากวิถีแห่งการดำเนินชีวิต ความจำเป็นในการแสวงหาความรู้นี้เองที่เป็นแรงผลักดันสำคัญ ที่ก่อให้เกิดการเรียนการสอนในอิสลามจนกลายเป็นสถาบันการศึกษาในรูปแบบต่างๆ ในสังคมมุสลิม
เมื่อพูดถึงการศึกษาในอิสลาม ซึ่งผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามเราเรียกว่า มุสลิม กระบวนการและลักษณะจะเป็นอย่างไรนั้นเราคงต้องย้อนอดีตไปสมัยที่พระเจ้า(อัลลอฮ์)ได้ประทานศาสนาอิสลามมาแก่มวลมนุษยชาติ อิสลามจึงถือได้ว่าเป็นศาสนาหนึ่งของมวลมนุษย์ การศึกษาอิสลามจึงมีความเกี่ยวข้องกับมุสลิมทุกคนไม่ได้เจาะจงแต่ทุกคนจำเป็นต้องแสวงหาความรู้ เพราะฉะนั้นการศึกษาแบบดั้งเดิมของชาวมุสลิมจึงเกิดขึ้นมาพร้อมกับการประกาศศาสนาอิสลามในคาบสมุทรอาระเบียในสมัยของท่านนบีมูฮำหมัด (ศานติจงมีแด่ท่าน) เริ่มต้นเมื่อตอนที่อายุของท่านได้ 40 ปี ณ ดินแดนอาระเบียซึ่งเป็นแหลมใหญ่ทางตะวันตกของทวีปเอเชีย นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสรรพศาสตร์แห่งการเรียนรู้ วิชาการทุกแขนง โดยมีนครมักกะห์และนครมะดีนะห์เป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ที่สำคัญและที่มาของความรู้สำคัญที่สุดคือ มีพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านซึ่งเป็นพระดำรัสของอัลลอฮ์ที่เป็นรากฐานแห่งการเกิดสรรพวิชาต่างๆนั่นเอง
ในสมัยของท่านนบีมูฮำหมัด (ศานติจงมีแด่ท่าน) นับว่าเป็นสมัยแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง การศึกษาครั้งแรกเป็นการศึกษาที่เกิดขึ้นกับท่านนบีมูฮำหมัด (ศานติจงมีแด่ท่าน) เองโดยมีญีบรีล (กาเบียล)เป็นครูผู้สอนและท่านนบีก็เป็นผู้เรียน ภายในถ้ำฮีรออฺ สำหรับการศึกษาที่ท่าน นบีเป็นผู้สอนเกิดขึ้นครั้งแรกที่บ้านของท่านเอง มีภรรยาของท่านคือ ท่านหญิงคอดีเยาะห์ เป็นลูกศิษย์คนแรก หลังจากนั้นก็เป็นการศึกษาที่เกิดขึ้น ณ บ้านอัลอัรกอม( Arqam Ibnu Abi AL-Arqam) จึงเป็นที่รู้จักกันในนาม “ดารอัรกอม” และมัสยิดกุบาอฺ มัสยิดอันนาบาวีย์ รวมทั้งอัศศุฟฟะห์(ส่วนที่สร้างต่อเติมจากมัสยิด ในภาษาอาหรับ แปลว่า “ร่มเงา” )ได้กลายเป็นแหล่งอบรมสั่งสอนที่สำคัญในประวัติศาสตร์ที่ท่านนบีได้อบรมสั่งสอนบรรดาผู้ศรัทธา บรรดาซอฮาบะฮ์ (อัครสาวกของท่านนบี) ในสมัยนั้นที่มีจำนวนไม่มากนัก เป็นการเรียนรู้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุดราชการ ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาไม่มีเครื่องแบบ เป็นการศึกษาที่เกิดขึ้นทุกระดับ ทุกเพศทุกวัย หากเราจะจำแนกลักษณะและกระบวนการในการศึกษาในสมัยท่านนั้นเราสามารถแบ่งออกเป็นสองระยะด้วยกัน ดังนี้
ระยะแรก เป็นช่วงที่ท่านนบีพำนักอยู่ที่นครมักกะห์ (เมกกะ) เป็นระยะแห่งการปรับแนวคิด ท่านนบีได้ทุ่มเทในการปรับวิถีความคิด ความเชื่อของชาวอาหรับในสมัยนั้นซึ่งเต็มไปด้วยยุคแห่งความป่าเถื่อน (ญาฮีลียะห์) ด้วยกระบวนการศึกษาและเรียนรู้อิสลาม สำหรับลักษณะของการเรียนการสอนนั้นท่านนบีจะสอนเป็นกลุ่มเล็กๆ เงียบๆเป็นอันดับแรก บางครั้งก็เป็นแบบบุคคลต่อบุคคล เป็นการสอนในลักษณะของการอบรมสั่งสอน การบรรยายธรรม จนกระทั่งท่านนบีได้รับพระบัญชาจากพระผู้เป็นเจ้า (อัลลอฮ์)ให้ทำการประกาศศาสนาอย่างเปิดเผย จึงเป็นการสอนในลักษณะของการปราศรัยในที่สาธารณะ หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมการสอนของท่านนบีในช่วงแรกนี้ บางครั้งเป็นไปในลักษณะเงียบๆ ลับตา ทั้งนี้ก็เพราะว่า ในมักกะห์สมัยนั้นมีกลุ่มผู้ปฏิเสธศาสนาอิสลามพยายามที่จะลอบทำร้าย ขัดขวาง ต่อต้านและกลั่นแกล้งมุสลิมอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะต้องประสบกับปัญหามากมายแต่การศึกษาก็ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนเนื้อหาสาระของการเรียนการสอนในช่วงแรกจะเป็นบทเรียนเกี่ยวกับหลักศรัทธา หลักปฏิบัติในอิสลาม อัลกุรอ่านและชารีอะห์ (กฏหมายอิสลาม) การเชิญชวนชาวอาหรับให้เคารพสักการะอัลลอฮ์ พระเจ้าเพียงองค์เดียว โดยที่ใช้หลักวิชาทั่วไปเป็นสิ่งที่สนับสนุน อาทิ พลศึกษา การสอนว่ายน้ำ การขี่ม้าและยิงธนู อีกทั้งยังมีการศึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของดวงดาวบนท้องฟ้า การเคลื่อนที่ของดวงจันทร์และการโครจรของดวงอาทิตย์ เป็นต้น ชาวอาหรับส่วนใหญ่ในขณะนั้นไม่รู้หนังสือ ท่านนบีจึงใช้แต่วาจาในการอบรมสั่งสอน บรรดาผู้เรียนก็ตั้งใจและจดจำ จนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางเพราะเหมาะสมกับสถานการณ์และสภาวการณ์ในสมัยนั้นมากที่สุด
ระยะที่สอง เป็นช่วงที่ท่านนบีอพยพไปที่นครมะดีนะห์ (เมือง) ระยะนี้เราอาจจะเรียกได้ว่าเป็นระยะแห่งการปฏิบัติการ เพื่อวางรากฐานระบบการดำเนินชีวิต หลักปฏิบัติ การปฏิสัมพันธ์กับสังคม การขัดเกลาจิตใจ ลักษณะการเรียนการศึกษาก็เป็นเช่นเดียวกับนครมักกะห์ แต่จะมีลักษณะที่เปิดเผยมากยิ่งขึ้น อันเนื่องมาจากว่า มีผู้ที่สนใจเข้ามารับอิสลามเป็นจำนวนมากขึ้นทำให้มุสลิมมีความเข้มแข็ง จึงทำให้ลักษณะการเรียนนั้นเพิ่มเติมขึ้นก็คือ การเรียนจะเริ่มมีลักษณะของการถาม-ตอบปัญหามากขึ้น ทั้งการตอบปัญหาส่วนตัวและส่วนรวม อันเนื่องมาจากบรรดาผู้เรียนเกิดข้อสงสัย จึงมาถามท่านนบีด้วยตัวเอง อาทิ การถามเกี่ยวกับการละหมาด การถือศีลอดเมื่อกระทำแล้วจะได้เข้าสวรรค์หรือไม่ ฉะนั้นเมื่อศาสนาอิสลามได้มายังนครมะดีนะห์ จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ วิชาความรู้ในการศึกษาจึงแตกออกเป็นหลายแขนง ทั้งที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักกฏหมายนิติรัฐ รัฐศาสตร์การปกครอง มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ หลักสุขศึกษาและศาสตร์แขนงต่างๆอีกมากมาย โดยเฉพาะวิชาแพทย์ศาสตร์ ท่านนบีได้บอกถึงประโยชน์ของการรับประทานผลอินทผาลัมต่อร่างกาย เป็นต้น
ฉะนั้น รูปแบบทั่วไปของการศึกษาในสมัยท่านนบีก็คือ การบรรยายธรรม การอบรมสั่งสอน การได้รับคำบัญชาจากพระเจ้าแล้วนำมาสู่บทเรียนทันที หรือในบางครั้งจะเป็นการสอนโดยการแสดงเครื่องหมาย อาทิ การยกนิ้วชี้และนิ้วกลางขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดกับท่านนบีในวันแห่งการตอบแทน (วันกิยามะฮ์) ของผู้ที่ให้การอุปถัมภ์บรรดาเด็กกำพร้า หรือบางครั้งท่านนบีก็จะแสดงให้ดูและให้ปฏิบัติตาม การพูดเพื่อให้คิด อาทิ ลักษณะการอาบน้ำละหมาด การสร้างคุณธรรม จริยธรรมกับเพื่อนบ้านและกระบวนการสอนของท่านนบีทั้งที่นครมักกกะฆ์และมะดีนะห์นั้น ท่านนบีมีเทคนิคและวิธีการสอนที่ทำให้ผู้เรียนในสมัยนั้นสามารถที่จะเข้าใจบทเรียนได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ดังนี้
- การเข้าถึงรายบุคคล ปัจจุบันมีกลุ่มแนวคิดสายซูฟีย์ (บรรดาผู้เดินทางไปในหนทางแห่งอัลลอฮ์) กลุ่มดะอฺวะฮ์ตับลีก(บรรดาผู้ที่ต้องการเผยแพร่อิสลามของท่านนบี)นำไปใช้ในการสั่งสอนศาสนาอิสลาม
- การส่งผู้แทนที่มีความรู้ไปประจำอยู่ที่ตามหัวเมืองที่อยู่ห่างไกล อาทิ เมืองอิรอก (อีรัก) เมืองชาม(ซีเรีย)และเมืองยะมัน(เยเมน) เพื่อให้ผู้รู้เหล่านั้นได้เผยแพร่ความรู้ในแขนงต่างๆให้กับชาวอาหรับ รวมทั้งการสนับสนุนให้ทุกชนเผ่าอาหรับทั้งที่เป็นชาวอาหรับมุสลิมและชาวอาหรับที่ไม่ใช่มุสลิมให้ได้รับการศึกษา เพราะเมืองแต่ละเมืองในขณะนั้นเป็นศูนย์กลางที่มีการติดต่อค้าขายระหว่างกัน การที่ท่านนบีส่งผู้แทนก็เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่บริการแก่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องการศึกษาอิสลามและความรู้ในแขนงต่างๆด้วย
- การแสดงคุตบะห์ (ธรรมคถา) ในทุกวันศุกร์ ซึ่งเป็นการกระทำอย่างต่อเนื่องทุกอาทิตย์ อีกทั้งในวันสำคัญทางศาสนาอิสลาม อาทิ วันตุษอีดิ้ลฟิตรี่ วันตรุษอีดิ้ลอัฏฮาหรือแม้แต่กระทั่งในช่วงแห่งการประกอบพิธีฮัจย์
- ท่านนบีใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการสร้างเอกภาพให้เกิดขึ้นในสังคมที่เต็มไปด้วยกลุ่มคนหลากหลายชนเผ่าซึ่งอยู่ร่วมกันทั้งในมักกะห์และมะดีนะห์ เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกในสังคมและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
ดังนั้นวิธีการสอนของท่านนบีจึงประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ภายใต้เทคนิคการอธิบาย การใช้วาจาประกอบท่าทาง อาทิ การเน้นย้ำเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อผู้เรียนถึง 3 ครั้ง จนกว่าจะเข้าใจ การใช้ท่าทางประกอบการสอน การใช้คำถามเพื่อดึงดูดผู้เรียน การเล่าเรื่อง การเสริมกำลังใจโดยเฉพาะการใช้ทัศนวัสดุในการบรรยาย เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งเทคนิคนี้ท่านนบีใช้กระดานทะเลทราย ที่มีท้องฟ้าสีครามปกคลุมกับปากกาจากก้านอินทผาลัม ขีดขึ้นเป็นภาพขึ้นเพื่ออธิบายให้ผู้เรียนได้เข้าใจในการศึกษาอิสลาม จนชาวอาหรับในคาบสมุทรอาระเบียเป็นจำนวนมากที่เข้ารับอิสลาม ถึงแม้ว่าจะมีความขัดแย้งในรายละเอียดทางความคิดแต่อิสลามก็ได้ให้เกียรติในความแตกต่างของบุคคล
บทเรียนของการศึกษาแบบดั้งเดิมของชาวมุสลิมในสมัยท่านนบีมูฮำหมัด (ศานติจงมีแด่ท่าน) จึงเป็นบทเรียนที่มีลักษณะบูรณาการที่มีทั้งการเรียนการสอนทั้งทางโลกและทางธรรม เพราะทั้งสองต่างก็เป็นความรู้ที่มีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติทั้งสิ้น และอิสลามไม่ได้แบ่งแยกเชื้อชาติ สีผิวหรือชาติพันธุ์ อนุญาตให้ศึกษาความรู้ทางโลกที่ไม่ขัดแย้งกับความรู้ทางศาสนา วิชาหลักปฏิบัติมีกฏหมายอิสลามเป็นหลักปฏิบัติในวิถีชีวิตของมุสลิมไม่ว่าจะเป็นในระดับปัจเจกชนหรือระดับมหาชน วิชาหลักศรัทธามีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ภายใต้สื่อและเทคนิคการสอนที่พระเจ้าได้ประทานลงมาให้กับท่านนบี ผู้ซึ่งเป็นครูผู้สอนที่ไม่มีเครื่องแบบราชการ ครูที่ไม่ได้หวังสินค่าจ้าง อุทิศตนทั้งแรงกายแรงใจเพื่อเผยแพร่สาสน์และหวังความโปรดปราณแห่งพระผู้เป็นเจ้า (อัลลอฮ์) มีอัลกุรอ่านเป็นเสมือนสรรพวิชา เป็นรหัสนิรนัยที่ต้องใช้ประสบการณ์ความรู้ในการถอดรหัสเหล่านั้นจึงจะเข้าใจ มีนักเรียนในยุคแรกคือบรรดาซอฮาบะห์ที่เข้ารับอิสลามเป็นกลุ่มนักเรียนและผู้ที่เข้ารับนับถืออิสลามในช่วงเวลาต่อมาเท่านั้น มีมัสยิด มีบ้านท่านนบี มีใต้ร่มกิ่งก้านอินทผาลัมกลางทะเลทรายที่เปรียบเสมือนห้องเรียนและโรงเรียนที่ไม่จำเป็นต้องตกแต่ง ทาสี มีเพียงท้องฟ้าและทะเลทรายกับความตั้งใจที่จะจดจำและยอมรับสัจธรรมในคำสั่งสอนของท่านนบีเท่านนั้น ไม่มีกฎข้อบังคับใดๆ การศึกษาเป็นไปด้วยความสมัครใจและนับวันห้องเรียนและกลุ่มผู้เรียนก็ยิ่งจำนวนมากขึ้นจากเดิมที่กลุ่มผู้เรียนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น
แม้ว่ากระบวนการศึกษาที่เกิดขึ้นของมุสลิมในสมัยท่านนบีมูฮำหมัด (ศานติจงมีแด่ท่าน) ที่ขับเคลื่อนควบคู่ไปพร้อมกับการประกาศศาสนาอิสลามในดินแดนอาระเบีย จะเป็นไปด้วยความยากลำบากเพียงใด แต่ภารกิจทุกอย่างก็ยังคงดำเนินต่อไปและบรรดานักการศึกษาต่างก็ให้การยอมรับว่าการศึกษาในสมัยท่านเป็นการศึกษาบูรณาการทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างแท้จริง และท่านคือปฐมจารย์ของการศึกษาในประวัติศาสตร์อิสลามจนต่อมาบรรดาซอฮาบะห์และนักวิชาการมุสลิมจึงได้รับภาระการเป็นครูสืบต่อจากท่าน
หมายเหตุ:
1. คำว่า “ศานติจงมีแด่ท่าน” ตรงกับภาษาอาหรับว่า “صلى الله عليه وسلم ” อ่านว่า “ซอลลั่ลลอฮู่ อาลัยฮิว่าซัลลัม” เป็นคำขอพรให้กับท่านนบีมูฮำหมัดซึ่งผู้ใดกล่าวสรรเสริญหลังจากที่ได้ยินชื่อท่านจะได้รับการช่วยเหลือในวันแห่งการตอบแทน
โดย : กัณทิมา มานมาน
คณะวิทยาลัยอิสลามศึกษา
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Tags: