ผลดีของการอ่าน อัล-กุรอานที่มีต่อมนุษย์
อัล-กุรอานนั้นเหมือนกับการอ่าน การท่องจำ ความเข้าใจ และการปฏิบัติที่มีผลต่อมนุษย์ ซึ่งการส่งผลของอัล-กุรอานมีทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ณ ที่นี้จะขอกล่าวบางกรณีเท่านั้น เช่น
ก. การส่งผลในการอ่านอัล-กุรอาน
ตามที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อมารยาททั้งภายนอกและภายใน ของการอ่านอัล-กุรอานมีผลต่อการดำเนินชีวิตอย่างมาก กล่าวคือ
1. เป็นการรำลึกถึงอัลลอฮฺ
นักอ่านอัล-กุรอานทั้งหลายจะเริ่มอ่านด้วยการระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า โดยกล่าวว่า บิซมิลลาฮฺ ฮิรเราะฮฺมนิรเราะฮีม ซึ่งการกล่าวประโยคนี้ออกมา ถือว่าเป็นการรำลึกถึงพระองค์ที่ดีที่สุด และทำให้เรารู้จักสัจธรรมมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ไม่ว่ามนุษย์รำลึกถึงพระองค์มากเท่าใด มนุษย์ก็จะใกล้ชิดกับพระองค์มากเท่านั้น
2.เป็นการเปิดประตูแห่งการเคารพภักดี
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า ประตูแห่งการเคารพภักดีสามารถเปิดได้ด้วยการกล่าวบิซมิลลาฮฮฺ (ซะฟีนะตุลบิฮาร เล่ม 2 หน้า 417)
ดังนั้น จะเห็นว่าหนึ่งในประโยชน์สำคัญของการอ่านอัล-กุรอานคือการเริ่มต้นด้วยมิซมิลลาฮฺ เท่ากับเป็นการเปิดประตูแห่งการเคารพภักดี
3. เป็นการปิดประตูบาป
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า ประตูแห่งบาปทั้งหลายสามารถปิดได้ด้วยการกล่าวขอความคุ้มครองจากพระองค์ว่า อะอูซุบิลลาฮิมินัชชัยฏอนิรเราะญีม (อ้างแล้วเล่มเดิม)
ดังที่กล่าวไปแล้วว่าหนึ่งในมารยาทของการอ่านอัล-กุรอานคือ การขอความคุ้มครองจากพระองค์ ซึ่งประโยชน์คือเป็นการปิดประตูบาปต่าง ๆ
4. ประสบความสำเร็จในการอ่านดุอาอฺก่อนและหลังการอ่านอัล-กุรอาน
ดุอาอฺหมายถึง การเรียกร้องหรือการวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าในสิ่งที่ตนปรารถนา ดังกล่าวไปแล้วว่าเป็นสิ่งที่ดีก่อนและหลังการอ่านอัล-กุรอานให้ดุอาอฺ ซึ่งสามารถดุอาอฺตามที่ริวายะฮฺกล่าวไว้ หรือทุกดุอาอฺที่ต้องการสามารถกล่าวได้ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามทั้งสองกรณีดุอาอฺคือ เตาฟีกสำหรับผู้อ่านอัล-กุรอานเพราะเท่ากับได้สนทนาและวิงวอนในสิ่งที่ตนปรารถนาจากพระองค์ และบั้นปลายสุดท้ายเท่ากับมนุษย์มีเตาฟีกเพิ่มขึ้นในการดำเนินชีวิต ทั้งทางโลกและทางธรรม
5. รางวัลของผู้อ่านอัล-กุรอานคือดุอาอฺถูกยอมรับ
ท่านอิมามซอดิก (อ.) รายงานจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ว่า บุคคลใดเปิดอัล-กุรอานและอ่านจนจบดุอาอฺของเขาจะถูกตอบรับ ณ อัลลอฮฺ (บิฮารุลอันวาร เล่ม 89 หน้า 204)
6. อัล-กุรอานเป็นสาเหตุให้อีมานเพิ่มพูน
เมื่อมีซูเราะฮฺถูกประทานลงมาได้มีคนหนึ่งพูดว่า อัล-กุรอานบทนี้ทำให้ผู้ใดมีอีมานเพิ่มขึ้นบ้าง อัล-กุรอานกล่าวว่า
وَإِذَا مَا أُنزِلَتْ سُورَةٌ فَمِنْهُم مَّن يَقُولُ أَيُّكُمْ زَادَتْهُ هَـذِهِ إِيمَانًا فَأَمَّا الَّذِينَ آمَنُواْ فَزَادَتْهُمْ إِيمَانًا وَهُمْ يَسْتَبْشِرُونَ
และเมื่ออัล-กุรอานบทหนึ่งถูกประทานลงมา ดังนั้น ในหมู่พวกเขามีผู้กล่าวว่า มีใครบ้างจากพวกท่านที่บทนี้ทำให้เขามีศรัทธาเพิ่มขึ้น ฉะนั้น สำหรับบรรดาผู้ศรัทธา บทนี้ได้ทำให้ศรัทธาของพวกเขาเพิ่มขึ้น แล้วพวกเขาก็มีความปิติยินดี (อัล-กุรอาน ซูเราะฮฺอัต เตาบะฮฺ 124)
อีกโองการหนึ่งกล่าวว่า
وَإِذَا تُلِيَتْ عَلَيْهِمْ آيَاتُهُ زَادَتْهُمْ إِيمَانًا
และเมื่อบรรดาโองการของพระองค์ถูกอ่านแก่พวกเขา โองการเหล่านั้นได้เพิ่มพูนความศรัทธาแก่พวกเขา (อันฟาล 2)
7. ความโปรดปรานของพระองค์ถูกประทานลงมากับอัล-กุรอาน
อัล-กุรอานกล่าวว่า และเราได้ประทานส่วนหนึ่งจากอัล-กุรอานลงมา ซึ่งเป็นการบำบัดและความเมตตาแก่บรรดาผู้ศรัทธา (อัล-กุรอาน ซูเราะฮฺ อัลอิซรออฺ 82)
ดังนั้น นักอ่านอัล-กุรอานคือ บุคคลแรกที่มีส่วนร่วมในความโปรดปรานของอัล-กุรอาน
8. อัล-กุรอานเป็นชะฟาอฺ
อัล-กุรอานเป็นโอสถที่บำบัดโรคภายในของมนุษย์ อาการป่วยใข้ทางจิตใจ และเป็นยารักษาสำหรับบุคคลที่มีอาการป่วยทางใจ ที่มนุษย์ด้วยกันไม่สามารถรักษาให้หายได้ และโดยเหตุผลแล้วบุคคลแรกที่ได้รับการรักษาโดยอัล-กุรอานคือ ผู้อ่านอัล-กุรอานทั้งหลาย
9. การชี้นำของพระผู้เป็นเจ้า
อัล-กุรอานเป็นคัมภีร์แห่งการชี้นำ บุคคลแรกที่ได้รับการชี้นำจากอัล-กุรอานคือ ผู้ศรัทธาและผู้มีความยำเกรง อัล-กุรอานกล่าวว่า จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด อัล-กุรอานเป็นทางนำและเป็นการบำบัดแก่บรรดาผู้ศรัทธา ส่วนบรรดาผู้ไม่ศรัทธานั้น (อัล-กุรอาน อัซ ฟุซซิลัต 44)
จริงอยู่ทีว่าการชี้นำแบ่งออกเป็นหลายขั้นตอน แต่ละคนจะได้รับไม่เท่ากัน ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถและความพอดี แต่อย่างไรก็ตามทุกคนมีสิ่ทธิ์ได้รับประโยชน์จากการชี้นำทั้งสิ้นแต่จะมากหรือน้อยอย่างไร ขึ้นอยู่กับอีมานและความยำเกรงของแต่ละคนว่าจะมากน้อยเพียงใด
10.ทำความสะอาดภายในและสร้างสรรค์จิตวิญญาณ
ผู้อ่านอัล-กุรอานถ้าหากใส่ใจต่อมารยาทด้านในของการอ่านมากเท่าใด ความบริสุทธิ์ใจ และความสงบมั่นของจิตวิญญาณก็จะเพิ่มมากขึ้นไปตามขั้นตอน เท่ากับเป็นการขัดเกลาจิตใจและสร้างสรรค์จิตวิญญาณไปในตัว
11. ความสะอาดตามชัรอียฺ
ก่อนอ่านอัล-กุรอานผู้อ่านทุกท่านต้องฆุซลฺหรือวุฎูอฺก่อน เพื่อขจัดความโสมมและความโสโครกของจิตวิญญาณให้หมดไป หมายถึงวุฎูอฺและฆุซลฺนั้นจะช่วยสร้างรัศมีและขจัดความโสมมภายในจิตใจให้หมดไป เรียกว่าเป็นความสะอาดตามชัรอียฺ ดุจดังเช่นที่ได้ขจัดความโสโครกให้หมดไปจากร่างกาย
12. อนามัยส่วนตัว
ผู้อ่านอัล-กุรอานควรจะแปรงฟัน อาบน้ำ มีวุฎูอฺ หรือสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ซึ่งการกระทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการรักษาความสะอาดส่วนตัว ทำให้เป็นคนมีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง
13. กลายเป็นชาวกุรอาน
การอ่านและการสร้างความคุ้นเคยกับอัล-กุรอาน จะทำให้มนุษย์ได้รับรัศมีและอยู่ภายใต้คำสอนของอัล-กุรอานไปโดยปริยายที่ละน้อย และเขาจะกลายเป็นมนุษย์กุรอานไปในที่สุด หมายถึงจะปฏิบัติตัวและไม่กระทำสิ่งใดขัดกับอัล-กุรอานเด็ดขาด กิริยามารยาทจะกลายเป็นกิริยาของอัล-กุรอาน ความเชื่อก็อัล-กุรอาน ความสะอาดก็อัล-กุรอาน อีกนัยหนึ่งเท่ากับเขาได้ย้อมตัวเองดัวยสีสันของอัล-กุรอาน ฐานันดรของเขาจะสูงส่งขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นภาพลักษณ์และคำพูดของอัล-กุรอาน
14. ความคิดจะเติบโต
ขณะที่อ่านอัล-กุรอาน ถ้าตรึกตรองตามไปที่ละน้อย จะเป็นสาเหตุทำให้ความคิดอ่านของตนเติบโตตามไปด้วย แน่นอนเมื่อความคิดเติบโตก็จะทำให้การดำเนินชีวิตประสบแต่ความสำเร็จ
15. เป็นการอิบาดะฮฺทางสายตา
ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า การมองไปที่หน้ากระดาษของอัล-กุรอานเป็นอิบาดะฮฺ (บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 89 หน้า 199)
แน่นอนพระวัจนของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เหมาะสมสำหรับบุคคลที่อ่านอัล-กุรอานเป็นประจำ ท่าน (ซ็อล ฯ) กล่าวอีกว่า สายตาได้รับประโยชน์จากการอิบาดะฮฺก็เมื่อยามที่มองไปยังอัล-กุรอาน (มะฮัจญะตุลบัยฎอ เล่ม 2 หน้า 231)
16. ส่งผลต่อการเลี้ยงดูบุตร
เมื่อบิดามารดาอ่านอัล-กุรอานในบ้าน แน่นอนย่อมส่งผลในทางบวก แก่บุตรและธิดาของตน เท่ากับเป็นการอบรมสั่งสอนบุตรในทางอ้อม และเป็นสาเหตุทำให้บุตรของตนมีความรักต่ออัล-กุรอาน
17. เป็นการชำระล้างบาปต่าง ๆ
ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า การอ่านอัล-กุรอานเป็นการลุแก่โทษบาปกรรม (บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 92 หน้า 17)
18. ทำให้ปลอดภัยจากไฟนรก
ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า การอ่านอัล-กุรอานคืออุปสรรคขวางกั้นไฟนรก และเป็นสาเหตุให้ปลอดภัยจากการลงโทษของพระองค์
19. เป็นการสนทนากับพระผู้เป็นเจ้า
ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า เมื่อใดก้ตามหากพวกท่านต้องการสนทนากับพระผู้อภิบาลละก็จงอ่านอัล-กุรอาน แ(บิฮารุลอันวาร เล่ม 92 หน้า 17)
20. การอ่านอัล-กุรอานทำให้จิตใจมีชีวิตชีวา
21. การอ่านอัล-กุรอานเป็นอุปสรรคในการทำอนาจารทั้งหลาย
แน่นอนถ้าหากเราเป็นนักอ่านอัล-กุรอานที่แท้จริง และรู้จักไตร่ตรองโองการต่าง ๆ วิถีชีวิตและความคิดอ่านของเราย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี และนอกเหนือจากการอ่านแล้ว ยังได้ปฏิบัติตามอัล-กุรอานอีกต่างหาก ความชั่วและความอนาจารทั้งหลายจะเกิดในสังคมได้อย่างไร
Tags: