เคยสงสัยไหม? มัสยิดกับกับสุเหร่าต่างกันอย่างไร
หลายคนอาจสงสัยและยังไม่แน่ใจว่า แท้จริงแล้ว มัสยิด กับสุเหร่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร แม้กระทั่งตัวดิฉันเอง รวมทั้งผู้คนที่นับถือศาสนาอิสลามอีกมากมาย
บางคนอาจคิดว่า มัสยิด และสุเหร่านั้น เป็นคำ ๆ เดียวกัน เพียงแต่เรียกกันคนละภาษา ใช่ค่ะ ดิฉันก็คิดไปในมุมมองแบบนั้น แต่ใครจะไปรู้ว่า ทั้ง ๒ คำนี้มีที่มาอย่างไร
มีคนเคยเล่ากล่าวกับดิฉันว่า มัสยิด กับ สุเหร่า นั้น ไม่ได้มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด เพียงแต่ต่างกันตรงที่การนำไปใช้เท่านั้นเอง ดังนั้น เรามาดูรากศัพท์ของทั้ง ๒ คำกันดีกว่าว่า มาได้อย่างไร ซึ่งดิฉันจะขอกล่าวทั้งในความคิดของดิฉันเอง และเพิ่มเติมจากที่ดิฉันได้เรียนรู้มาจากทางศาสนาด้วย
คำว่า มัสยิด มีที่มาจากรากศัพท์ของภาษาอาหรับ แปลว่า สถานที่ประกอบพิธีศาสนากิจ แต่ก่อนนั้น สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่ท่านศาสดา และเหล่าซอฮาบะฮ์ได้ทำการละหมาดวันศุกร์กัน แต่ในปัจจุบันสถานที่แห่งนี้นับเป็นสถานที่ที่เป็นศูนย์กลางของจังหวัดก็ว่าได้ เนื่องจาก เป็นสถานที่ที่สร้างอย่างยิ่งใหญ่ สวยงาม เพื่อให้ผู้คนได้เข้าไปประกอบพิธีการทำการละหมาดวันศุกร์ของผู้ชายนั้นเอง รวมทั้งทำการละหมาดฟัรดู ๕ เวลา และการร่วมทำกิจกรรมของผู้คนในชุมชนต่าง ๆ อีกด้วย เช่น การจัดงานเมาว์ลิด หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การฉลองวันคล้ายวันประสูติของท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) นั้นเอง ซึ่งเราอาจเรียกมัสยิดที่อยู่ศูนย์กลางของแต่ละจังหวัดว่า มัสยิดกลาง ก็เป็นได้
ส่วนคำว่า สุเหร่า นั้นมีที่มาจากรากศัพท์เดิมมาจากภาษามลายู ซึ่งแปลว่า สถานที่ประกอบศาสนกิจของชาวมุสลิม ซึ่งสถานที่แห่งนี้ จะสร้างจากงบบริจาคของผู้คนในละแวกของชุมชนนั้น ๆ เพื่อเป็นสถานที่ที่ใช้ในการทำการละหมาดฟัรดู ๕ เวลา การสอนศาสนาแก่เด็ก ๆ การสอนภาษาอาหรับ การใช้ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน เช่น งานสุเหร่า ที่เขานิยมพูดกันเป็นภาษาใต้ ซึ่งถ้าหากพูดเป็นภาษากลาง ก็เป็น งานมัสยิด นั่นเอง ซึ่งเมื่อก่อน สถานที่แห่งนี้จะไม่มีการทำการละหมาดวันศุกร์แต่อย่างใด แต่ในปัจจุบัน ทั้ง 2 สถานที่นี้ใช้ทำการละหมาดวันศุกร์ทั้งสิ้น
ในความคิดของดิฉัน ดิฉันคิดว่า ความแตกต่างระหว่างคำทั้ง ๒ คำนั้น มีความหมายเหมือนกัน แต่มาจากคนละภาษา อย่างที่ได้กล่าวนำไปแล้วข้างต้น ซึ่งเราอาจจะคุ้นหูคำว่า มัสยิด กันในทางของช่องข่าวทีวี หรือทางสื่อออนไลน์ นับได้ว่า คำ ๆ นี้อาจถือเป็นคำภาษาราชการที่ผู้คนใช้พูดกันต่อเมื่อมีการไปประกอบพิธีกรรม เช่น การเดินทางไปละหมาดที่มัสยิด เป็นต้น แต่คำว่า สุเหร่า นั้น เราคุ้นหูคำนี้กันในทางภาคใต้ เนื่องจากผู้คนในทางภาคใต้มักคิดว่าคำนี้ คือคำภาษาใต้ จึงใช้เรียกกันติดปากมาแต่โบราณ แต่อันที่จริงแล้ว คำนี้มาจากภาษามลายูนั่นเอง
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า มัสยิด กับ สุเหร่า ไม่ได้มีความแตกต่างกัน เพียงแต่มัสยิดอยู่ในศูนย์กลางของจังหวัด จึงมีขนาดการสร้างที่ใหญ่พอควร แต่สุเหร่านั้นเป็นสถานที่ที่อยู่ในชุมชน จึงมีขนาดเล็กกว่า เนื่องจากสร้างมาจากงบการบริจาคของผู้คนในชุมชนนั้นเอง สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ทั้ง 2 สถานที่นี้ได้มีการใช้ทำการละหมาดวันศุกร์อีกด้วย
Tags: