การบำบัดรักษาโรคร้ายต่างๆ ด้วยโองการอัลกุรอาน
หลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับการรักษาโรคต่างๆด้วยการอ่านอัลกุรอาน ถ้าเราได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียด เราก็จะพบว่าในคัมภีร์อัลกุรอานนั้นมีคำว่า ” شِفَاءٌ ” และ ” يَشْفِيْ ” ซึ่งอยู่ในรูปของคำนามและคำกริยา มีความหมายเป็นภาษาไทยว่า ” การรักษาเยียวยา หรือการบำบัด ” ถูกกล่าวถึง 6 ครั้งในคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งอายะฮ์ทั้ง 6 นี้ถูกเรียกว่า ( آيَاتُ الشِّفَاءِ ) หริอมีความหมายเป็นภาษาไทยว่า ” โองการแห่งการบำบัด ”
โองการที่ 1 อยู่ในซูเราะฮ์ยูนุซ อายะฮ์ที่ 57 ความว่า
قال الله تعالى : ﴿ يَا أَيُّهَا النَّاسُ قَدْ جَاءَتْكُم مَّوْعِظَةٌ مِّن رَّبِّكُمْ وَشِفَاءٌ لِّمَا فِي الصُّدُورِ وَهُدًى وَرَحْمَةٌ لِّلْمُؤْمِنِينَ ﴾ سورة يونس / 57
ความว่า ” โอ้มนุษย์เอ๋ย ! แท้จริงข้อตักเตือน (อัลกุรอาน) จากพระเจ้าของพวกท่าน ได้มายังพวกท่านแล้ว และอัลกุรอานนั้นจะช่วยเยียวยารักษาสิ่งที่มีอยู่ในทรวงอก( ความสงสัย หรืออวิชชา ) และยังเป็นเครื่องชี้นำแนวทางที่เที่ยงตรง และเป็นความเมตตาแก่บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ”
โองการที่ 2 อยู่ในซูเราะฮ์อันนะหฺลิ อายะฮ์ที่ 69 ความว่า
قال الله تعالى : ﴿ ثُمَّ كُلِي مِن كُلِّ الثَّمَرَاتِ فَاسْلُكِي سُبُلَ رَبِّكِ ذُلُلًا ۚ يَخْرُجُ مِن بُطُونِهَا شَرَابٌ مُّخْتَلِفٌ أَلْوَانُهُ فِيهِ شِفَاءٌ لِّلنَّاسِ ۗ إِنَّ فِي ذَٰلِكَ لَآيَةً لِّقَوْمٍ يَتَفَكَّرُونَ ﴾ سورة النحل / 69
ความว่า ” โอ้ผึ้งเอ๋ย จงกินผลไม้ต่างๆ หลังจากนั้นจงดำเนินวิถีชีวิตตามแนวทางที่องค์อภิบาลของเจ้าได้กำหนดเอาไว้อย่างสะดวกสบายเถิด มีเครื่องดื่มที่มีสีสันต่างๆออกมาจากท้องของมันในนั้นมีสิ่งบำบัดแก่มวลมนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงดังกล่าวนั้นย่อมเป็นสัญญาณแก่กลุ่มชนผู้ตรึกตรอง ”
โองการที่ 3 อยู่ในซูเราะฮ์อัลอิสรออฺ อายะฮ์ที่ 82 ความว่า
قال الله تعالى : ﴿ وَنُنَزِّلُ مِنَ الْقُرْآنِ مَا هُوَ شِفَاءٌ وَرَحْمَةٌ لِّلْمُؤْمِنِينَ ۙ وَلَا يَزِيدُ الظَّالِمِينَ إِلَّا خَسَارًا ﴾ سورة الإسراء / 82
ความว่า ” และเราได้ประทานส่วนหนึ่งจากอัลกุรอานลงมา ซึ่งเป็นการบำบัดและความเมตตาแก่บรรดาผู้ศรัทธาและมันมิได้เพิ่มอันใดแก่พวกอธรรมนอกจากการขาดทุนเท่านั้น ”
โองการที่ 4 อยู่ในซูเราะฮ์ฟุศศิลัต อายะฮ์ที่ 44 ความว่า
قال الله تعالى :﴿ وَلَوْ جَعَلْنَاهُ قُرْآنًا أَعْجَمِيًّا لَّقَالُوا لَوْلَا فُصِّلَتْ آيَاتُهُ ۖ أَأَعْجَمِيٌّ وَعَرَبِيٌّ ۗ قُلْ هُوَ لِلَّذِينَ آمَنُوا هُدًى وَشِفَاءٌ ۖ وَالَّذِينَ لَا يُؤْمِنُونَ فِي آذَانِهِمْ وَقْرٌ وَهُوَ عَلَيْهِمْ عَمًى ۚ أُولَٰئِكَ يُنَادَوْنَ مِن مَّكَانٍ بَعِيدٍ ﴾ سورة فصلت / 44
ความว่า ” และหากว่าเราได้ประทานอัลกุรอานมาเป็นภาษาต่างประเทศที่ไมใช่ภาษาอาหรับ แน่นอนพวกเขาจะกล่าวว่า ทำไมโองการทั้งหลายของอัลกุรอานจึงไม่ชัดแจ้งเล่า ? (อัลกุรอาน) เป็นภาษาต่างประเทศ ทั้งๆที่นบีเป็นคนอาหรับกระนั้นหรือ ? จงกล่าวเถิดมูฮัมหมัด อัลกุรอานนั้นเป็นแนวทางที่เที่ยงธรรม และเป็นการบำบัดแก่บรรดาผู้ศรัทธา ส่วนบรรดาผู้ไม่ศรัทธานั้น อัลกุรอานจะทำให้หูของพวกเขาหนวก และนัยตาของพวกเขาบอด ชนเหล่านี้จะถูกร้องเรียกจากสถานที่ๆห่างไกล ”
โองการที่ 5 อยู่ในซูเราะฮ์อัตเตาบะฮ์ อายะฮ์ที่ 14 ความว่า
قال الله تعالى :﴿ قَاتِلُوهُمْ يُعَذِّبْهُمُ اللَّهُ بِأَيْدِيكُمْ وَيُخْزِهِمْ وَيَنصُرْكُمْ عَلَيْهِمْ وَيَشْفِ صُدُورَ قَوْمٍ مُّؤْمِنِينَ ﴾ سورة التوبة / 14
ความว่า ” พวกเจ้าจงต่อสู้กับพวกเขาเถิด แล้วพระองค์อัลลอฮ์จะได้ทรงลงโทษพวกเขาด้วยมือของพวกเจ้า และจะได้ทรงหยามพวกเขา และจะได้ทรงช่วยเหลือพวกเจ้าให้ได้รับชัยชนะเหนือพวกเขา และจะได้ทรงบำบัดหัวอกของกลุ่มชนที่ศรัทธาทั้งหลาย ”
โองการที่ 6 อยู่ในซูเราะฮ์อัชชุอะรออฺ อายะฮ์ที่ 80 ความว่า
قال الله تعالى :﴿ وَإِذَا مَرِضْتُ فَهُوَ يَشْفِينِ ﴾ سورة الشعراء / 80
ความว่า ” และเมื่อฉันป่วยดังนั้นพระองค์ทรงให้ฉันหายป่วย ”
ให้ผู้ป่วยอ่านอายะฮ์ทั้ง 6 นี้ด้วยเสียงที่ดังพอประมาณเมื่อต้องการรักษาอาการป่วยที่เกิดขึ้นกับตัวเองเพื่อกระตุ้นเซลล์ในร่างกายที่อยู่ในสภาวะเจ็บป่วยซึ่งถือได้ว่าการอ่านด้วยตนเองนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ถ้าไม่มีความสามารถก็ให้ผู้อื่นที่เป็นญาติ หรือมิตรสหายอ่านให้ได้ โดยขณะที่อ่านนั้นผู้อ่านจะต้องมีเจตนาที่บริสุทธิ์และแน่วแน่มุ่งตรงต่อพระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) หวังในความเมตตาของพระองค์ เพราะพระองค์เท่านั้นที่จะสามารถที่จะขจัดโรคร้ายทั้งหลายให้หายไปจากเราได้ ในขณะเดียวกันผู้ป่วยสามารถรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญควบคู่ไปด้วย
ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ อัลกุรอานนั้นสามารถรักษาโรคได้ทั้งโรคที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา และโรคที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเรา ท่านอีหม่ามเชาวฺกานียฺได้กล่าวว่า ” บรรดานักวิชาการอิสลามมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไปในความหมายของคำว่า ” شِفَاءٌ ” ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอาน
นักวิชาการกลุ่มที่ 1 มีความเห็นว่า คำว่า ” شِفَاءٌ ” ที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานนั้นหมายถึง การรักษาจิตใจของมนุษย์ให้หายและหลุดพ้นจากความโง่เขลาและความสงสัย
ส่วนนักวิชาการกลุ่มที่ 2 มีความเห็นว่า คำว่า ” شِفَاءٌ ” ที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานนั้นหมายถึง การรักษา หรือการบำบัดโรคต่างๆที่เกิดขึ้นกับร่างกายมนุษย์ และไม่มีข้อห้ามใดๆที่จะถือใช้คำว่า ” شِفَاءٌ ” รวมกันทั้งสองความหมายตามที่นักวิชาการทั้งสองกลุ่มได้กล่าวอ้างเอาไว้ ( فتح القدير 3 / 362 )
นอกจากนั้นแล้วเชคอิบนุอุษัยมีนได้กล่าวถึงประเด็นนี้เอาไว้ในฟะตาวาของเขาว่า ” อิทธิพลของการอ่านอัลกุรอานที่มีต่อผู้ที่กำลังเจ็บป่วยอยู่นั้นเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถปฏิสธได้ เพราะพระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงตรัสไว้ในในซูเราะฮ์อัลอิสรออฺ อายะฮ์ที่ 82 ความว่า ( และเราได้ประทานส่วนหนึ่งจากอัลกุรอานลงมา ซึ่งเป็นการบำบัดและความเมตตาแก่บรรดาผู้ศรัทธาและมันมิได้เพิ่มอันใดแก่พวกอธรรมนอกจากการขาดทุนเท่านั้น ) ดังนั้นคำว่า ” شِفَاءٌ ” ในอายะฮ์นี้คลุมถึงการรักษาเยียวยาโรคต่างๆที่เกิดขึ้นกับจิตใจและร่างกายของมนุษย์พร้อมๆในเวลาเดียวกัน ( فتاوى نور على درب لإن عثيمين )
ส่วนวิธีการอ่านอัลกุรอานบำบัดโรคนั้น ถ้าเราได้ศึกษาแบบฉบับของท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) เราก็จะพบว่าเมื่อท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) ป่วยท่านมักจะอ่านอัลกุรอานบำบัดโรคด้วยตัวของท่านเอง แต่เมื่ออาการป่วยทรุดหนักลง ท่านหญิงอาอิชะฮ์ (ร.ฏ.) ก็เป็นผู้อ่านอัลกุรอานบำบัดโรคให้กับทานร่อซู้ล (ซ.ล.) ดังมีรายงานจากท่านอาอิชะฮ์ (ร.ฏ.) ว่า ” เมื่อท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) ป่วย ท่านจะทำการอ่านซูเราะฮ์อัลอิคลาศ, ซูเราะฮ์อัลฟะลัก, ซูเราะฮ์อันนาส หลังจากนั้นท่านเป่าลงบนมือลูบทั่วร่างกาย แต่เมื่ออาการป่วยเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น ฉัน ( ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ) ได้ทำการอ่านซูเราะฮ์ทั้ง 3 แทน และฉันก็เช็ดลูบที่มือขอท่านศาสดา โดยหวังบะร่อกัตที่จะเกิดขึ้นจะมาบรรเทาอาการป่วยของท่านศาสดา ” รายงานโดยบุคอรียฺและมุสลิม
ในบางสายรายงานกล่าวว่า ท่านหญิงอาอิชะฮ์ได้กล่าว่า ” เมื่อมีคนในครอบครัวเจ็บป่วย ท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) จะทำการอ่านอ่านซูเราะฮ์อัลอิคลาศ, ซูเราะฮ์อัลฟะลัก, ซูเราะฮ์อันนาส แล้วเป่าให้สมาชิกในครอบครัวที่ป่วย ” รายงานโดยมุสลิม
นอกจากนั้นแล้วในการบำบัดโรคด้วยอัลกุรอานนั้นยังมีวิธีอื่นที่สามารกระทำได้ เช่น นำเอาภาชนะใส่น้ำมาวางไว้ด้านหน้า หลังจากนั้นอ่านอัลกุรอานโองการต่างๆตามที่มีรายงานมาจากท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) ด้วยเสียงที่ดัง เมื่อเสร็จแล้วก็นำน้ำดังกล่าวมาให้ผู้ป่วยได้ดื่มกิน หรือทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำดังกล่าว ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ มุ่งตรงต่อพระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) แต่เพียงผู้เดียว เพราะพระองค์เท่านั้นที่จะสามารถขจัดโรคร้ายต่างๆให้หายไปจากเราได้ ในการอ่านอัลกุรอานเพื่อบำบัดโรคนั้นไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน สามารถอ่านได้ตลอดทั้งวัน แต่ที่ดีแล้วควรอ่านตอนเช้าหลังจากตื่นนอนและตอนเย็นก่อนเข้านอนเล็กน้อย และควรอ่าน 7 ครั้ง เพราะท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) มักจะอ่านโองการที่ใช้ในการบำบัดโรคซ้ำถึง 7 ครั้ง นอกจากนั้นแล้วผู้ป่วยสมควรจะฟังอัลกุรอานเป็นประจำตลอดทั้งวันถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะอยู่ในสภาพที่นอนหลับก็ตาม ส่วนซูเราะฮ์ที่ควรนำมาอ่านในการบำบัดโรคต่างๆตามแบบฉบับของท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) ได้แก่
- ซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ ( 7 ครั้ง )
- อายะฮ์กุรซียฺ ( อายะฮ์ที่ 255 ของซูเราะฮ์อัลบะกอเราะฮ์ )
- สองอายะฮ์สุดท้ายของซูเราะฮ์อัลบะกอเราะฮ์
- ซูเราะฮ์อัลอิคลาศ ( ควรอ่าน 11 ครั้ง )
- ซูเราะฮ์อัลฟะลักและซูเราะฮ์อันนาส
นอกจากนั้นแล้วมีอายะฮ์บางอายะฮ์ที่เหมาะกับการนำมาอ่านเพื่อบำบัดโรคบางโรค เช่น
- โรควิตกกังวลและมีอาการหวาดกลัวควรอ่านอายะฮ์ที่ 28 ของซูเราะฮ์อัรเราะอฺดฺ 7 ครั้ง ทั้งเช้าและเย็น รวมถึงซูเราะฮ์กุรอยซฺ
- โรคมึนชา หรือตกอยู่ในสภาวะมืดมน ควรอ่านซูเราะฮ์ยูซุฟ และอายะฮ์ที่ 58 ของซูเราะฮ์ยูนุส
- โรคมะเร็งทุกชนิดควรอ่านซูเราะฮ์ยาซีน, ซูเราะฮ์อัลบะกอเราะฮ์, ซูเราะฮ์ฏูร, ซูเราะฮ์อัรรูม รวมถึงอายะฮ์ที่ 81 – 82 ของซูเราะฮ์ยูนุสเป็นประจำ
- โรคผิวหนังควรอ่านอายะฮ์ที่ 83 ของซูเราะฮ์อัลอันบิยาอฺ และอายะฮ์ที่ 23 ของซูเราะฮ์อัซซุมัร
- โรคซึมเศร้า อารมณ์เกรี้ยวกราดควรอ่านอายะฮ์ที่ 87 ของซูเราะฮ์อัลอันบิยาอฺ และควรกล่าวตัสเบียะหฺเป็นประจำ
- โรคมีบุตรยากควรอ่านอายะฮ์ที่ 89 ของซูเราะอัลอันบิยาอฺ รวมถึงซูเราะฮ์อัลอิคลาศและซูเราะฮ์มัรยัมมากๆ
- โรคที่เกี่ยวกับหูและตาควรอ่านซูเราะฮ์อัลอะอฺลา, ซูเราะอัลฟาติหะฮ์ และซูเราะฮ์อัลบะลัด
ขอขอบคุณ : ดร.สมชาย (ฮัสบุ้ลเลาะหฺ) เซ็มมี
Tags: