การเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์และดวงดาว ที่กล่าวไว้ในอัลกุรอาน
ในทางดาราศาสตร์ยุคใหม่มีค่ามาตรฐานในอวกาศอยู่ค่าหนึ่งเรียกว่า “ค่ามาตรฐานหยุดนิ่งท้องถิ่น” (Local standard of rest หรือ LSR) เป็นพิกัดอ้างอิงที่ยึดตามการเคลื่อนที่เฉลี่ยของมวลสารภายในดาราจักร (galaxy) บริเวณรอบๆดวงอาทิตย์
โดยเคลื่อนไปตามวงโคจรที่เรียกว่าวงดวงอาทิตย์ (Solar apex) มิได้เป็นวงกลมพอดีมีความเยื้องศูนย์กลาง
การกำหนด LSR นี้เป็นไปตามการคำนวณทางดาราศาสตร์ยุคใหม่ น่าอัศจรรย์ที่อัลกุรอานกล่าวถึง LSR นี้ด้วยคำว่า ตะฆ็อดริ หมายถึงจุดที่กำหนด จุดที่หยุดนิ่ง จุดที่รับรู้
โดยกล่าวทำนองว่าดวงอาทิตย์วิ่งเป็นวงกลมจากจุดที่กำหนดก่อนวนกลับมายังจุดเดิม
อัลกุรอานเลือกใช้คำว่าตัฆญิรีเพื่อแสดงกิริยาการวิ่งด้วยความเร็วมหาศาล โดยดาราศาสตร์คำนวณความเร็วได้ถึง 255 กิโลเมตรต่อวินาที
وَٱلشَّمۡسُ تَجۡرِى لِمُسۡتَقَرٍّ۬ لَّهَاۚ ذَٲلِكَ تَقۡدِيرُ ٱلۡعَزِيزِ ٱلۡعَلِيمِ
“และดวงอาทิตย์วิ่งไปยังจุดที่หยุดนิ่ง นั่นคือการกำหนดของพระผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงรอบรู้” ยาซีน 36:38
وَهُوَ ٱلَّذِى خَلَقَ ٱلَّيۡلَ وَٱلنَّہَارَ وَٱلشَّمۡسَ وَٱلۡقَمَرَۖ كُلٌّ۬ فِى فَلَكٍ۬ يَسۡبَحُونَ
“และพระองค์ผู้ทรงสร้างกลางคืนและกลางวันและดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ แต่ละหน่วยว่ายเป็นวงกลม” อัลอัมบิยา 21:33
อัลกุรอานใช้คำว่าฟะละกียัซบะฮูน หมายถึงแหวกว่ายเป็นวงกลมหรือโคจรเป็นวงกลมหรือวงรี โดยการเคลื่อนที่ของหน่วยเหล่านี้แสดงกิริยาคล้ายการว่ายหรือล่องลอยไปตามวงที่กำหนด
เห็นได้ว่าอัลกุรอานใช้คำว่าวิ่งเมื่อกล่าวถึงความเร็วของการเคลื่อนที่ และใช้คำว่าแหวกว่ายเมื่อกล่าวถึงลักษณะการเคลื่อนตัว
คำเหล่านี้ช่วยจินตนาการให้เห็นภาพการเคลื่อนไหวเชิงพลศาสตร์ได้เป็นอย่างดี นี่คืออีกหนึ่งของความมหัศจรรย์ที่ปรากฏในอัลกุรอาน
โดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน
Tags: