ฮัจญ์ใหญ่ครั้งสุดท้ายของท่านรอซูลุลลอฮ์(ซล.)
ในขณะที่ท่านศาสดากล่าวคำปราศรัยอยู่นั้น เราะบีอะฮ์ก็ได้พูดซ้ำทีละประโยค
ประเดี๋ยวๆ ก็ถามผู้คนว่าพวกเขาเข้าใจถ้อยคำของท่านศาสดาหรือไม่
และขอให้พวกเขาจดจำไว้เพื่อจะให้แน่ใจว่าผู้คนเข้าใจและจำได้
ท่านศาสดามักจะขอให้โฆษกของท่านกล่าวว่า ศาสดาแห่งพระผู้เป็นเจ้าถามว่า “ท่านรู้หรือไม่ว่าวันนี้คือวันอะไร?”
ผู้ฟังก็ตอบว่า “วันนี้คือวันทำฮัจญ์ใหญ่”
แล้วศาสดาก็กล่าวว่า “จงบอกพวกเขาว่า พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงประกาศว่าจะไม่มีการละเมิดชีวิตและทรัพย์สินของพวกท่านจนกระทั่งวันที่พวกท่านจะได้พบกับพระผู้อภิบาลของพวกท่าน จงบอกพวกเขาว่า พระองค์ได้ทำให้ทรัพย์สินและชีวิตของพวกท่านปลอดภัยไม่ถูกละเมิดเช่นเดียวกับในวันนี้”
เมื่อกล่าวคำปราศรัยจบ ศาสดาก็ถามว่า “โอ้ พระผู้เป็นเจ้า ข้าพระองค์ได้ถ่ายทอดถ้อยคำของพระองค์แล้วหรือมิใช่?”
แล้วผู้คนก็ตอบมาจากทุกมุมว่า “เป็นเช่นนั้นจริงๆ! พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพยาน”
เมื่อท่านศาสดาสั่งสอนเสร็จ ท่านก็ลงจากหลังอูฐและรออยู่จนกระทั่งเที่ยงวัน แล้วท่านก็ละหมาดทั้งสำหรับตอนบ่ายและสำหรับตอนบ่ายคล้อยด้วย
แล้วท่านก็ขึ้นขี่อูฐเดินไปยังอัซเซาะเคาะรอต
ณ ที่นั้นท่านได้กล่าวคำสรุปวะหฺยุ (การเปิดเผย) ของพระผู้เป็นเจ้าให้ผู้คนทั้งหลายฟังว่า
“วันนี้ข้าได้ทำให้ศาสนาของพวกเจ้าสมบูรณ์แล้ว และได้ประทานความกรุณาเมตตาอันครบถ้วนของข้าให้แก่พวกเจ้าแล้ว วันนี้ข้าได้รับอิสลามไว้เป็นศาสนาของพวกเจ้า” (กุรอาน 5 : 3)
เมื่อท่านอะบูบักร์ได้ยินโองการนี้เขาก็นึกรู้ว่าเมื่อข่าวสารของพระผู้เป็นเจ้าจบสมบูรณ์ลงแล้วชีวิตของท่านศาสดาก็จะปิดฉากลงในไม่ช้านี้
ท่านศาสดาออกจากทุ่งอะเราะฟาตไปค้างคืนที่มุซดะลิฟะฮ์
ในตอนเช้าท่านได้ไปเยี่ยมสักการะสถานของอัลมัซอัรเป็นแห่งแรก แล้วก็หยุดที่มินาซึ่งอยู่ตามทาง ท่านได้ขว้างก้อนกรวดไปยังสัญลักษณ์ของซาตานมารร้าย
เมื่อท่านมาถึงกระโจมที่พักของท่าน ท่านก็ได้สละอูฐเป็นพลี หกสิบสามตัว สำหรับชีวิตท่านปีละตัว ท่านอะลีก็สละสัตว์ที่เหลือซึ่งศาสดาได้นำมากับท่านจากนครมะดีนะฮ์ ครั้นแล้วท่านศาสดาก็โกนศีรษะแล้วประกาศว่าการทำฮัจญ์ได้สิ้นสุดลงแล้ว
พิธีฮัจญ์ครั้งนี้บางทีก็เรียกว่า “พิธีฮัจญ์อำลา” บางคนก็เรียกว่า “พิธีฮัจญ์แห่งการประกาศ” บ้างก็เรียกว่า “พิธีฮัจญ์ของอิสลาม”
อันที่จริงนั้นพิธีฮัจญ์ของท่านศาสดาเป็นทั้งสามอย่างในเวลาเดียวกัน
คือเป็น “ฮัจญ์อำลา” ก็เพราะศาสดามุฮัมมัดได้เห็นนครมักกะฮ์และกะอ์บะฮ์เป็นครั้งสุดท้าย
เป็น “ฮัจญ์ของอิสลาม” ก็เพราะพระผู้เป็นเจ้าทรงทำให้ศาสนาของพระองค์สมบูรณ์เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ และทรงประทานพรทั้งหมดให้แก่พวกเขา
สุดท้ายมันเป็น “ฮัจญ์แห่งการประกาศ” ก็เพราะว่าท่านศาสดาได้ทำการประกาศและถ่ายทอดสิ่งที่ท่านได้รับบัญชาให้ประกาศและถ่ายทอดจากพระผู้เป็นเจ้าได้สำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว
ศาสดามุฮัมมัดนั้นแท้จริงเป็นแต่เพียงผู้ประกาศ ผู้นำมาให้และผู้ตักเตือนที่ถูกส่งมายังผู้คนที่แลเห็นสัจธรรมและมีความศรัทธาเท่านั้น
ผลของ “พิธีฮัจญ์อำลา”
เมื่อ “พิธีฮัจญ์อำลา” เสร็จสิ้นลง ผู้ทำฮัจญ์นับแสนคนก็เริ่มเดินทางกลับบ้าน ผู้ที่มาจากทะเลทรายก็กลับไปยังทะเลทราย
ผู้ที่มาจากติฮามะฮ์ก็กลับไปที่นั่น
และผู้ที่มาจากภาคใต้จากยะมัน หะเฏาะเราะเมาต์ และดินแดนใกล้เคียงกันก็ทำเช่นเดียวกัน
ส่วนท่านศาสดาและบรรดาสาวกที่สนิทของท่านก็มุ่งไปยังทิศทางของนครมะดีนะฮ์
เมื่อไปถึงที่นั่น พวกเขาก็ตั้งหลักแหล่งลงโดยมั่นใจว่าสันติภาพได้แผ่คลุมทั่วคาบสมุทรทั้งหมดแล้วนับตั้งแต่นั้นมา
ก็เป็นธรรมดาที่ท่านศาสดามุฮัมมัดจะต้องใคร่ครวญอยู่กับเรื่องสภาพของประเทศต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การครอบครองของไบแซนติอุมและเปอร์เซีย โดยเฉพาะอัชชาม อียิปต์และอิรัก
บัดนี้เมื่อประชาชนเหล่านั้นได้มารับอิสลามกันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เช่นนั้น และคณะผู้แทนของพวกเขาก็ได้มาประกาศความเชื่อฟังและสั่งให้ประชาชนของพวกเขา รับใช้ภายใต้ธงของอิสลามแล้ว และสุดท้าย เมื่อบัดนี้ชาวอาหรับทั้งหมดได้มารวมกันใน “พิธีฮัจญ์อำลา” นี้ คาบสมุทรอารเบียทั้งหมดก็มีแต่ความปลอดภัย
จริงๆ แล้วก็ไม่มีเหตุผลที่พวกกษัตริย์และเจ้าชายต่างๆ ของอาหรับจะถอนตัวออกไปหรือจะละเมิดความจงรักภักดีต่อท่านศาสดาหรือต่อศาสนาของท่าน
พวกเขาไม่เคยมีอำนาจหรือสามารถปกครองตนเองภายในประเทศ ภายใต้รัฐบาลใดๆ ได้มากกว่าภายใต้การปกครองของศาสดาผู้ไม่รู้หนังสือผู้นี้
บาซาน เจ้าเมืองยะมันซึ่งเป็นชาวเปอร์เซียก็ได้รับแต่งตั้งให้กลับไปรับตำแหน่งเจ้าเมืองใหม่ในทันทีที่เขาเปลี่ยนมารับอิสลาม
หากจะมีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นในคาบสมุทรนั้นก็ไม่เคยถึงกับใกล้เคียงกับการแข็งข้อกบฏเลย
และพวกเขามิได้พยายามจะมีอำนาจเหนือท่านศาสดาหรือก่อให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นในตัวท่านเลยในอนาคต
ศาสนาใหม่นี้ได้แพร่ขยายไปอย่างมั่นคงเหนือส่วนต่างๆ ของคาบสมุทร
ดวงหน้าทุกหน้าก็หันไปสู่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงดำรงอยู่เป็นนิจนิรันดร
และดวงใจทุกดวงก็เชื่อมั่นอย่างแท้จริงในพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว ผู้ทรงอานุภาพ
ถึงแม้ว่าชาวมุสลิมจะถือว่าศาสดามุฮัมมัดเป็นมนุษย์เหมือนกับคนอื่นๆ ก็ยังมีความคิดที่ได้รับการยอมรับว่า ท่านจะวิงวอนให้แก่ผู้คนของท่านในวันแห่งการตัดสิน (Day of Judgement) ชาวมุสลิมจึงมาเยือนที่ฝังศพของท่านในนครมะดีนะฮ์ในระหว่างการมาประกอบพิธีฮัจญ์ยังนครมักกะฮ์
ต่อมาในปีนั้นเองท่านก็เสียชีวิตลง ท่านได้ทิ้งมรดกไว้มากกว่าอย่างหนึ่ง
มรดกอย่างแรกก็คือ บุคลิกของท่านตามที่ได้เห็นผ่านสายตาของสาวกผู้ใกล้ชิด หลักฐานของพวกเขาส่วนใหญ่ได้ตกทอดมาโดยอาศัยการถ่ายทอดทางวาจา จึงมิได้มีรูปแบบที่ตายตัวจนกระทั่งหลังจากนั้นอีกเป็นเวลานาน และในเวลานั้นเองมันได้ขยายตัวออกมากมาย
แต่ก็มีเหตุผลเพียงพอที่จะแนะว่า จากระยะเวลาแรกเริ่มนั้น บรรดาผู้ที่รู้จักและเชื่อฟังศาสดามุฮัมมัดพยายามที่จะปั้นพฤติกรรมของพวกเขาให้เหมือนกับท่าน เมื่อเวลาผ่านไปได้มีวิวัฒนาการแห่งแบบฉบับบุคลิกภาพของมนุษย์ซึ่งอาจสะท้อนถึงบุคลิกภาพของท่านในระดับหนึ่ง
ถ้าหากว่าภาพพจน์ของศาสดามุฮัมมัดค่อยๆ เผยให้เห็นอย่างละเอียดขึ้นและถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งแล้วไซร้ ชุมชนที่ท่านสร้างขึ้นมาก็เป็นเช่นเดียวกัน
จากภาพที่ปรากฏขึ้นสมัยต่อๆ มา เป็นชุมชนที่ให้ความเคารพต่อท่านศาสดาและระลึกถึงท่านด้วยความจงรักภักดี พยายามที่จะเดินตามทางของท่าน และฝ่าฟันในหนทางของอิสลามเพื่อรับใช้พระผู้เป็นเจ้า เป็นการรวมตัวกันโดยพิธีกรรมพื้นฐานแห่งความศรัทธาซึ่งทุกสิ่งเป็นแง่มุมของส่วนรวม
เช่น ชาวมุสลิมเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในเวลาเดียวกัน ถือศีลอดตลอดเดือนเดียวกัน และทำละหมาดร่วมกันอันเป็นกิจกรรมที่ทำให้พวกเขาแตกต่างไปจากโลกส่วนอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัดเจน
เหนือสิ่งอื่นใด มีมรดกตกทอดของคัมภีร์อัลกุรอานอันเป็นคัมภีร์ซึ่งบรรยายโดยภาษาที่มีพลังและความงดงามที่ยิ่งใหญ่ถึงพระผู้เป็นเจ้าผู้สูงส่งเหนือธรรมชาติ
ทรงเป็นแหล่งแห่งอำนาจและความดีทั้งมวล เข้าไปสู่โลกมนุษย์ที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น
การเปิดเผยถึงเจตนารมณ์ของพระองค์โดยอาศัยแนวทางของบรรดาศาสดาที่ถูกส่งมานั้นเป็นไปเพื่อจะตักเตือนมนุษย์และนำพวกเขากลับไปสู่ตัวตนที่แท้จริงของพวกเขาในฐานะผู้ถูกสร้างที่มีความกตัญญูและเชื่อฟัง พระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้ตัดสินมนุษย์เมื่ออวสานมาถึงและจะมีรางวัลและการลงโทษตามมาจากคำตัดสินนั้น
ตามทัศนะของอิสลามมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มิใช่สิ่งมีชีวิตที่อยู่เหนือธรรมชาติ ท่านเป็น อันดัน รอซูลา คือเป็นคนรับใช้ของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสนทูต ท่านต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างหนักเพื่อรับใช้พระผู้เป็นเจ้าของท่านอย่างที่ชาวมุสลิมทุกคนจะต้องทำ
หากดูอย่างเหมาะสมจากภาพทางประวัติศาสตร์ คำปราศรัยอำลานี้จะเป็นที่เข้าใจกันในฐานะ การตัดขาดจากยุคญาฮิลียะฮ์ ก่อนสมัยอิสลาม หรือความป่าเถื่อนทางศีลธรรมและเป็นดั่งการเริ่มต้นของวัฒนธรรมใหม่อันยิ่งใหญ่ เป็นการปฏิเสธความคิดและทัศนะของญาฮิลียะฮ์ อย่างสิ้นเชิงในทางหนึ่ง
และในอีกทางหนึ่งเป็นการมองไปยังอนาคตของวัฒนธรรมอันเป็นสากล
Tags: