“ซูจี” ออกงานถี่เร่งทำคะแนน คาดหวังผลเลือกตั้งปีหน้า
กลุ่มการเมืองใหม่กำลังแสดงตัวที่จะร่วมแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งถัดไปของพม่า ที่จะมีขึ้นในปี 2563 โดยมีเป้าหมายที่จะท้าทายอำนาจของนางอองซานซูจี ผู้นำพลเรือนของประเทศ หลังปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่เพิ่มขึ้น และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ความนิยมในตัวซูจีเริ่มลดน้อยถอยลง
จากปัจจัยที่กล่าวถึงข้างต้น เจ้าหน้าที่พรรคอ้างว่าเป็นสาเหตุให้ผลงานของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) นั้นย่ำแย่ ที่ส่งผลให้การเลือกตั้งซ่อมเมื่อเดือนพ.ย. พรรคชนะไปเพียง 7 ที่นั่งจาก 13 ที่นั่งที่เปิดให้แข่งขัน ส่วนพรรคที่มีความเชื่อมโยงกับทหารและพรรคท้องถิ่นได้เสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากเดิม
“ในตอนนี้พรรคกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ได้ร่วมมือกันและเตรียมพร้อม เราไม่สามารถพึ่งพาพลังของพรรคได้ทั้งหมด เราต้องพยายามให้หนักขึ้นกว่าเก่าเพื่อที่จะได้รับความไว้วางใจจากประชาชน” ดาชิ ลา เส็ง สมาชิกสภาพรรค NLD จากรัฐกะฉิ่น พื้นที่ที่พรรคเสียที่นั่งไปในการเลือกตั้งซ่อมเดือนพ.ย. กล่าว
พรรค NLD กวาดชัยชนะได้อย่างถล่มทลายเข้ากุมอำนาจจากการเลือกตั้งในปี 2558 และครองเสียงส่วนใหญ่ในสภา แม้ 25% ของที่นั่งในสภาจะสงวนไว้ให้กับฝ่ายทหาร นักวิเคราะห์ระบุว่า แม้คาดว่าพรรค NLD จะยังคงทำผลงานได้ดีกว่าพรรคอื่นๆ ในการเลือกตั้งปี 2563 แต่พรรคน่าจะเสียที่นั่งไปไม่น้อยเช่นกัน
“เป็นที่น่าสงสัยว่า พรรค NLD จะชนะที่นั่งมากพอตั้งรัฐบาลหรือไม่ หากทำไม่ได้ พวกเขาจะต้องตั้งรัฐบาลผสมหรือเจรจากับพรรคอื่นๆ” เย เมียว เฮง นักวิเคราะห์จากสถาบันการเมืองศึกษาตะกอง กล่าว
ซูจีเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้นำชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ว่ารัฐบาลของเธอเผด็จการ และขาดความเข้าใจถึงความต้องการทางการเมืองของชนกลุ่มน้อยจำนวนมากในประเทศ ขณะที่นักลงทุนร้องเรียนถึงการปฏิรูปที่เชื่องช้า
จากกระแสที่ไม่ค่อยสู้ดีเหล่านี้ ซูจีตอบสนองด้วยการดำเนินกิจกรรมต่างๆ
ในช่วงเวลา 1 สัปดาห์ในเดือนม.ค. อองซานซูจี ที่มักถูกมองว่าเป็นคนปลีกตัว กลับไปปรากฎตัวที่โรงเรียนในย่านชาวมุสลิมในนครย่างกุ้ง และเปิดประชุมการลงทุน ที่อวดอ้างถึงทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ของประเทศและประชากรวัยหนุ่มสาว ขณะเดียวกันพรรคของเธอได้ยื่นเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ทหารร่างขึ้น
กิจกรรมที่เกิดขึ้นมากมายนี้ถูกตีความว่าเป็นความพยายามของซูจีที่จะส่งข้อความของรัฐบาลไปยังผู้มีสิทธิเลือกตั้งและนักลงทุน แต่หันมามองที่คู่แข่งทางการเมือง พวกเขาก็มีกิจกรรมยุ่งไม่แพ้กัน
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ฉ่วย มาน อดีตผู้นำหมายเลข 3 สมัยรัฐบาลเผด็จการทหาร อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ทรงอิทธิพลและเป็นพันธมิตรของซูจี ได้ประกาศตั้งพรรคการเมืองใหม่ในชื่อ “Union Betterment Party”
โก โก จี หนึ่งในแกนนำที่เป็นตำนานของการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารในปี 1988 ยังตั้งพรรคการเมืองที่มีชื่อว่า “People’s Party” และชักชวนกลุ่มการเมืองต่างๆ รวมทั้งพรรคของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ จับกลุ่มเป็นพันธมิตรเพื่ออำนาจ
“แม้พรรคจะไม่ชนะ แต่เรายังสามารถรวมตัวในรัฐสภาเป็นพันธมิตรกัน เราสามารถรวมกันเป็นหนึ่งและหลีกเลี่ยงที่จะทำให้เสียงของเราแตก” โก โก จี กล่าว
ไม่มีที่ไหนทำให้พรรค NLD ปวดหัวได้มากไปกว่ารัฐยะไข่ ที่พรรคกำลังจัดการกับผลกระทบจากการโจมตีของทหารที่ในปี 2560 จนทำให้ชาวมุสลิมโรฮิงญากว่า 730,000 คน ต้องอพยพไปบังกลาเทศ
สหภาพยุโรปกำลังพิจารณาคว่ำบาตรทางการค้ากับพม่าจากวิกฤติที่เกิดขึ้น ซึ่งมาตรการต่างๆ อาจรวมถึงอุตสาหกรรมสิ่งทอของพม่า และมีโอกาสทำให้แรงงานหลายแสนคนต้องตกอยู่ในความเสี่ยง หลายคนอยู่ในพื้นที่ลงคะแนนเสียงให้กับพรรค NLD ในปี 2558 เช่น ย่างกุ้งและมัณฑะเลย์
นอกจากนั้น ซูจีกำลังเผชิญกับการภัยคุกคามใหม่จากกองทัพอาระกัน กลุ่มติดอาวุธชาวยะไข่ ที่ต้องการการปกครองตนเองสำหรับรัฐยะไข่ ที่ประชากรส่วนใหญ่ในรัฐเป็นชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ยะไข่
พรรคแห่งชาติอาระกัน ที่เป็นพรรคการเมืองชาติพันธุ์ยะไข่ ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในการเลือกตั้งปี 2558 แต่พรรคกลับถูกปฏิเสธบทบาทสำคัญในการบริหารงานในท้องถิ่น ยิ่งเพิ่มความไม่พอใจต่อรัฐบาลพรรค NLD ให้กับคนในพื้นที่
อู อ่อง ทัน ที่ดำเนินการสถาบันการพัฒนาชุมชนทาซิน องค์กรที่ทำงานเพื่อสิทธิเท่าเทียมและการพัฒนาในรัฐยะไข่ ได้ร้องเรียนว่า พรรค NLD เพิกเฉยต่อเจตจำนงทางการเมืองของชาวยะไข่ในปี 2558
“พวกเรา กลุ่มชาติพันธุ์ เห็นถึงวิธีที่พวกเขาให้คุณค่ากับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์อย่างไร ชัยชนะอย่างถล่มทลายจะไม่เกิดขึ้นอีกในปี 2563” อู อ่อง ทัน กล่าว.
ผู้จัดการออนไลน์
Tags: