ไม่มีน้ำละหมาด แตะต้อง อัลกุรอาน ได้หรือไม่?
การจับต้องอัล-กุรอาน โดยไม่มีน้ำละหมาดเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) ยกเว้นในกรณีที่เกรงว่าอัล-กุรอานจะถูกไฟไหม้หรือจมน้ำหรือมีนะญิสตกลงมาเปื้อนอัล-กุรอาน ก็อนุญาตให้จับอัล-กุรอานได้ทั้งๆ ที่ไม่มีน้ำละหมาด
ยิ่งไปกว่านั้นถือว่าจำเป็นด้วยซ้ำในกรณีข้างต้นเพื่อเป็นการรักษาอัล-กุรอานเอาไว้ (กิตาบ อัล-มัจญมูอฺ เล่มที่ 2 หน้า 83)
และการห้ามจับต้องหรือแบกหรือถืออัล-กุรอาน ในกรณีไม่มีน้ำละหมาดนี้เป็นไปตามความเห็นของปวงปราชญ์ทั้ง 4 มัซฮับ
แต่มีรายงานจากอัล-หะกีม , หัมมาด และดาวูด ว่าอนุญาตให้สัมผัสจับต้องและแบก (ทูน-ถือ) อัล-กุรอานได้
สำหรับ หลักฐานของปวงปราชญ์ก็คือ อายะฮฺที่ว่า لايَمَسهُ إلا المطهرون จะไม่สัมผัสจับต้องอัล-กุรอานยกเว้นผู้ที่มีความสะอาด- หะดีษที่รายงานโดย หะกีม อิบนุ หิซาม ว่า
ท่านนบี (ศ็อลลอลลอฮุอะลัยฮิว่าซัลลัม) กล่าวว่า لاتمس القرآن إلاوأنت طاهر : ท่านอย่าได้สัมผัสจับต้องอัล-กุรอานนอกเสียจากท่านเป็นผู้ที่มีความสะอาด”
แต่สายรายงานของอัล-หะดีษบทนี้อ่อน , อิหม่ามมาลิกรายงานอัล-หะดีษบทนี้เอาไว้ในอัล-มุวัฏเฏาะอฺ เป็นหะดีษมุรสัล และอัล-บัยฮะกียฺ รายงานเอาไว้เช่นกัน
จากอิบนุอุมัร (ร.ฎ.) (ดู กิตาบ อัล-มัจญมูอฺ เล่มที่ 2 หน้า 77,86)
อ.อาลี เสือสมิง
Tags: