ฟิรเอาน์ หรือฟาโรห์ สัญลักษณ์หนึ่งจากบรรดาผู้ฝ่าฝืน
ฟาโรห์ คือใคร ใช่รอมซีสหรือไม่ จากคำถามข้างต้นได้สร้างข้อกังขาให้กับผู้คนตลอดมา บ้างกล่าวว่าใช่ แต่บุคคลส่วนใหญ่บอกว่าเป็นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะคุณลักษณะของฟาโรห์องค์นี้นั้น ขัดต่อคำบอกเล่าของอัลกุรอานโดยสิ้นเชิง แต่สำหรับชาวยิวไซออนนิตส์แล้ว พวกเขาไม่ลืม ฟาโรห์หรือฟิรเอาน์องค์นี้เลย เนื่องจากคัมภีร์เตาร๊อตได้บอกกับพวกเขาว่า ฟาโรห์องค์นี้ นี่เองที่เคยทรมานพวกเขาโดยการบังคับให้สร้างอารยธรรมอันเก่าแก่ และท้ายที่สุดก็ได้ขับไล่พวก เขาออกจากแผ่นดินอียิปต์ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงได้ตั้งตนเป็นปรปักษ์กับฟาโรห์องค์นี้ตลอดมา
แล้วใครกันคือ กษัตริย์รอมซีส ? นักประวัติศาสตร์ได้เล่าว่า รอมซีส คือ กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้ปกครองอียิปต์นานถึง 67 ปี ซึ่งถือว่าเป็น องค์กษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ได้นานที่สุดตามหน้าประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณ ส่วนพระศพของพระองค์หลังจากเสด็จสวรรคตแล้วก็ได้ถูกนำมาทำเป็นมัมมี่ ทั้งนี้เพื่อรักษาศพไม่ให้เน่าเปื่อย เพราะชาวอียิปต์โบราณมีความเชื่อกันว่า มนุษย์ทุกคนหลังจากชีวิตออกจากร่างแล้ว หากสามารถรักษาศพให้อยู่ยงคงกระพันได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่งจะกลับคืนสู่ร่างดังเดิมแล้วก็จะได้อยู่ เคียงคู่ลูกหลานต่อไป แต่สำหรับใครก็ตามที่ไม่ร่ำรวยพอที่จะจับจ่ายค่าอาบน้ำยารักษาศพ ก็จำเป็นต้องปล่อยตามยถากรรม ส่วนบรรดามเหสีของพระองค์นั้นไม่มีผู้ใดรู้จำนวน ที่แน่นอนว่ามีกี่คน แต่องค์มเหสีที่พระองค์ทรงโปรดปรานมากที่สุดมีนามว่า "เนฟร์ตารีย์ " เป็นองค์ราชินีที่มีศิริโฉมอันงดงาม
นักระวัติศาสตร์ได้เล่าว่า กษัตริย์รอมซีสได้ทรงอภิเษก สมรสกับพระนางเนฟร์ตารีย์ในขณะที่พระองค์มีพระชนมายุเพียง 25 พรรษา ก่อนการขึ้นครองราชย์บัลลังค์อียิปต์เพียงไม่กี่ปี และจากวันนั้นถึงวันนี้นับเป็นเวลาที่นาน แสนนานกว่าสามพันปี แต่มัมมี่ของพระองค์ก็ยังคงอยู่คู่อียิปต์ตลอดมา ซึ่งในปี 1881 นักโบราณคดีก็ได้ค้นพบมัมมีรอมซีสที่ 2 นอนสงบแน่นิ่งอยู่ในหลุมฝังศพนานถึง 23 ศตวรรษ
ฟาโรห์ สมัยนบีมูซาที่ถูกกล่าวไว้ในอัลกุรอานชาวยิวต่างเชื่อกันว่า กษัตริย์รอมซีสที่ 2 คือ องค์ฟาโรห์หรือฟิรเอาน์ ที่ได้ขับไล่ชาวอิสรอเอลออกจากแผ่นดินอียิปต์ และท้ายที่สุดก็ได้จมตายในทะเลแดง แต่หากเราศึกษาจากพระมหาคัมภึร์อัลกุรอาน ก็จะเห็นว่ามันมีความแตกต่างจากความเชื่อของพวกเขาอย่างสิ้นเชิง ซึ่งจากความแตก ต่างตรงนี้เราสามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้
คัมภีร์เตารอตได้สาธยายว่า ฟาโรห์ในสมัยศาสดามูซานั้นมีสองพระองค์ด้วยกัน พระองค์แรกคือ องค์ฟาโรห์ที่ได้รับศาสดามูซาเป็นบุตรบุญธรรม และในขณะเดียวกันก็ได้บังคับชาวอิสรอเอล ให้เป็นทาสสร้างอาคารบ้านเรือนตลอดจนอารยธรรมอันเก่าแก่ของอียิปต์ ฟาโรห์องค์ดังกล่าวนั้นก็คือ กษัตริย์รอมซีสนั่นเอง
ส่วนองค์ที่สองนั้น คัมภีร์เตารอตมิได้ระบุชื่ออย่างแน่ชัด แต่ตามประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ของชาวยิวได้บันทึกไว้ว่า เป็นองค์ฟาโรห์ที่ได้สืบราชบัลลังค์ ต่อจากกษัตริย์รอมซีสซึ่งในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวองค์กษัตริย์นั้น ท่านศาสดามูซาได้หนี ออกจากอียิปต์ไปอาศัยอยู่ในแคว้นมัดยัน และได้สมรสกับบุตรสาวของชายผู้ทรงคุณธรรมท่านหนึ่ง จนกระทั่งได้มีพระราชโองการจากองค์อภิบาลของเขาให้กลับมาหาฟาโรห์ และเมื่อกลับมาถึงอียิปต์ซึ่งก็ปรากฏว่าฟาโรห์องค์ก่อนเสียชีวิตไปแล้วและก็ มีฟาโรห์องค์ใหม่เสด็จขึ้นครองราชย์บัลลังค์แทนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่พอมาศึกษาในอัลกุรอานจึงสรุปได้ว่าองค์ฟาโรห์ที่ทำการต่อต้านศาสดามูซา ตั้งแต่แรกเริ่มนั้นมีเพียงองค์เดียวเท่านั้น ไม่ใช่สององค์เหมือนที่ชาวยิวได้แอบอ้างมา คัมภีร์เตารอตได้กล่าวว่า ฟาโรห์จมน้ำตายและหายสาบสูญในท้องทะเลแดง ดุจดังคำรายงานของคัมภีร์เตารอตเพราะหลังจากนั้น คลื่นได้พัดพาเอาพระศพของพระองค์มายังชายฝั่งเพื่อจะได้เป็นสัญลักษณ์ และเป็นอุทาหรณ์สอนใจ กับชนรุ่นหลัง ดังคำดำรัสของเอกองค์อัลลอฮ์ในโองการหนึ่งว่า
ความว่า "ดังนั้นในวันนี้เราจึงให้ร่างของเจ้าปลอดภัย (จากการจมหายไปในทะเล) เพื่อ (ว่าร่างของ) เจ้า จะได้เป็นสัญลักษณ์ (ที่เตือนใจ) แก่ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเจ้า และแท้จริงมีจำนวนมากจากมนุษย์ที่พากันละเลยบรรดาสัญลักษณ์ต่างๆของเรา"
พระองค์อัลลอฮ์ทรงตรัสคำว่า ฟิรเอาน์ ไว้ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน 73 ครั้งใน 27 ซูเราะห์ แต่มิได้บอกชื่อเสียงเรียงนามว่าเป็นใคร ? ชื่ออะไร ? ส่วนบรรดานักอรรถาธิบายอัลกุรอาน ต่างมีความเห็นว่า ฟาโรห์หรือฟิรเอาน์ ที่ต่อต้านนบีมูซานั้นมิใช่รอมซีสที่2อย่างแน่นอน เพราะคุณลักษณะของฟาโรห์องค์นี้นั้นขัดต่อคำบอกเล่าของอัลกุรอานอย่างสิ้น เชิง
ดังคำรายงานของ ดร.ซาอิด ซาแบท ผู้ที่ได้คร่ำหวอดอยู่กับเรื่องราวของฟาโรห์มาช้านาน ได้กล่าวว่า
จากการที่ได้ศึกษาเรื่องนี้จากอัลกุรอานจึงพบว่าฟาโรห์ในสมัยนบีมูซานั้นไม่ มีบุตรเลยแม้แต่คนเดียว และด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เองจึงได้รับเอามูซามาเป็นบุตรบุญธรรม ดังคำ บอกเล่าจากอัลกุรอานโองหนึ่งว่า
ความว่า "และภริยาของฟิรเอาน์ได้กล่าวว่า (หวังว่าเด็กที่เก็บมาได้นี้คงจะ)เป็นแก้วตาสำหรับฉันและท่าน พวกท่านอย่าฆ่าเขาเลย เขาอาจอำนวยคุณประโยชน์แก่พวกเราได้ หรือ(มิฉะนั้น)เราก็ยกให้เขาเป็นบุตรบุญธรรมของเราโดยที่พวกเขาไม่รู้หรอก ว่า ในอนาคตข้างหน้าพวกเขาจะต้องประสบภัยพิบัติจากเด็กคนนี้"
คำว่า "กุรรอตุอัยนินลี" ได้แสดงให้เห็นว่า ทั้งฟิรเอาน์และภริยาของเขาเป็นหมันทั้งคู่ เนื่องจากภริยาได้กล่าวแกเขาว่า หวังว่าเด็กที่เก็บมาได้นี้คงจะเป็นแก้วตาสำหรับฉันและท่าน เพราะหากบุคคลทั้งสองมีบุตรอยู่ก่อนแล้ว แน่นอนนางคงไม่กล่าวเช่นนั้น
บทสรุปก็ คือ ฟาโรห์ ในสมัยมูซาไม่มีบุตรแม้แต่คนเดียว และเมื่อเรามาดูประวัติของรอมซีส เราก็จะพบว่า พระองค์มีบุตรกับพระมเหสีน้อยใหญ่ถึง 150 คน ทั้งหมดนั้นก็ถูกสลักชื่อไว้เป็นหลักฐานบนกำแพงวิหารตราบนานเท่าทุกวันนี้ ดังนั้นย่อมเป็นไปได้ยากมากสำหรับผู้ที่มีบุตรมากมายก่ายกองที่จะยอมรับเอา บุตรของคนอื่นมาเลี้ยง และยังกล่าวอีกว่า เขายังอาจอำนวยประโยชน์แก่เราได้เมื่อเขาเติบใหญ่ขึ้น
ส่วนประการที่ 2 ก็คือ ฟิรเอาน์ในสมัยนบีมูซาอ้างตัวว่าเป็นพระเจ้า ดังคำยืนยันในอัลกุรอานว่า ความว่า " และฟิรเอาน์ก็กล่าวว่า โอ้กลุ่มอำนาจชั้นแนวหน้าทั้งหลาย ข้าไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า พวกเจ้าจะมีพระเจ้าอื่นนอกจากข้า"
ส่วนในหน้าประวัติศาสตร์ของอียิปต์โบราณได้บันทึกไว้ว่า ความจริงในสมัยรอมซีสที่ 2 นั้นมีพระเจ้าอย่างดาษดื่นให้ผู้คนกราบไหว้ และนอกเหนือจากนั้นก็มิได้มีหลักฐานยืนยันแต่อย่างใดว่ากษัตริย์รอมซีสนั้น อ้างตัวเองเป็นพระเจ้า
และประการที่ 3 อัลกุรอานได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า สมบัติหรือสิ่งต่างๆที่ฟิรเอาน์ได้สร้างไว้ ได้ถูกทำลายอย่างราบคาบ ดังที่มีคำบอกเล่าจากโองการหนึ่งว่า
ความว่า "และเราได้ทำลายสิ่งที่ฟิรเอาน์ และพรรคพวกเคยสร้างไว้อย่างสวยหรู" แต่สำหรับกษัตริย์รอมซีสแล้ว เท่าที่ทราบก็ได้ทิ้งสมบัติไว้อย่างมากมาย ซึ่งมีให้เห็นอยู่ทั่วไปทั้งในอียิปต์และต่างประเทศ แล้วใครหรือคือฟิรเอาน์ในสมัยศาสดามูซา
นักวิชาการได้กล่าวว่า อัลกุรอานนั้นเป็นพระมหาคัมภัร์ที่มีความหัศจรรย์ในทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านความหมายและการใช้ศัพท์ เช่นในขณะบอกเล่าถึงประวัติของศาสดายูซุฟ พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานใช้คำว่า"อาซีซุนมิสร" เพราะในสมัยนั้นผู้คนยังไม่รู้จักคำว่า ฟิรเอาน์ แต่ต่อมาในยุคของราชวงศ์สมัยใหม่ ผู้คนส่วนใหญ่พากันเรียกบรรดากษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองเมืองว่า ฟาโรห์ ซึ่งคำว่า ฟาโรห์ มาจากคำว่า บัรอัน แปลว่า พระราชวังอันกว้างใหญ่หรือบ้านเรือนใหญ่โต
ดังนั้นไม่ว่ากษัตริย์องค์ใดก็ตามที่ได้ขึ้นครองราชย์ประชาชนก็จะพากันเรียก ว่าฟาโรห์หรือฟิรเอาน์ ที่ต้องเรียกเช่นนั้นก็อาจจะพาดพิงไปยังพระราชวังอันใหญ่โตมโหฬารที่บรรดา กษัตริย์เหล่านั้นใช้เป็นที่ประทับ และยังมีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งได้ให้ทรรศนะว่า สาเหตุที่อัลกุรอานใช้คำว่า"อาซีซุนมิสร" ก็เพราะว่าอียิปต์ในสมัยนั้นได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรอื่น ส่วนผู้ที่ถูกส่งตัวมาปกครองอียิปต์นั้น ประชาชนจะเรียกขานเขาว่า"อาซีซุนมิสร" และต่อมาหลังจากที่ชาวอียิปต์สามารถยึดแผ่นดินของตนกลับคืนมาได้แล้ว บุคคลที่สถาปนาตนเองเป็นผู้ปกครองประเทศนั้น อัลกุรอานจะเรียกขานว่า ฟาโรห์
นักวิชาการจากสถาบันต่าง ๆ จะมาไขข้อข้องใจเหล่านั้นให้เราทราบ ดังนี้
1 - ท่าน ดร. ฏอยยิบ อัลนัจจาร ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง อธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ได้ตอบว่า สาเหตุที่อัลกุรอานไม่ระบุว่าฟาโรห์ในสมัยมูซาคือใครนั้น ประการแรกที่จะคำนึงก่อนก็คือว่าพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานนั้นได้ถูกประทานลง มาเป็นภาษาอาหรับ ส่วนชาวอาหรับเองก็มิได้รู้จักชื่อของบุคคลเหล่านั้นเลยแม้แต่คนเดียว นอกจากสมยานามที่ถูกกล่าวขานกันเท่านั้น ส่วนอีกความหมายหนึ่ง คำว่า "ฟิรเอาน์" นั้น เป็นคำที่แสดงถึงความชั่วร้าย ความทรชน และะความอหังการ และจากที่อัลกุรอานไม่ยอมกล่าวถึงนามชื่อดังกล่าวนั้น ก็เพราะไม่มีคุณประโยชน์อันใดนั้นเอง
2 - ท่าน ดร. อับดุล-ซอบูร ชาฮีน กล่าวว่า ตราบใดที่สิ่งนั้นมิใช่จุดประสงค์หลักของเรื่อง อัลกุรอานจะไม่กล่าวถึงมันอย่างเด็ดขาด เช่นในลักษณะของบ่าวผู้ทรงคุณธรรมที่ศาสดามูซาได้ทำการสมรสกับบุตรสาวของเขา ณ แคว้น มัดยัน นั้น อัลกุรอานก็มิได้บอกเช่นกันว่าเป็นใคร ชื่ออะไร เพราะมิใช่จุดประสงค์หลักของเรื่อง สำหรับจุดประสงค์หลักของเรื่องในอัลกุรอานก็คือ ต้องการให้ผู้มีสติปัญญาได้นำเอาเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านั้นมาเป็นบทเรียนและอุทาหรณ์สอนใจ มิใช่ให้จดจำชื่อของตัวละครเหมือนในนวนิยาย แต่ที่สำคัญ ให้เราจำพฤติกรรม เอกลักษณ์ ตลอดจนท่าทางต่าง ๆ ของพวกเขามาพิจารณาใคร่ครวญ เพราะฟิรเอาน์ทุกองค์ย่อมเป็นชื่อหรือเอกลักษณ์ที่แสดงถึงความชั่วร้ายทั้ง หลายทั้งปวง ดังนั้นมิใช่เฉพาะฟิรเอาน์ในสมัยนบีมูซาเท่านั้นที่ไม่จำเป็นที่เราต้อง รู้จักชื่อ ฟิรเอาน์องค์อื่น ๆ ก็ไม่จำเป็นให้รู้จักเช่นกัน ส่วนทางด้าน
3 - ดร. อิสมาอีล ดัฟตาร ได้ให้ความเห็นว่า การระบุนามชื่อของฟิรเอาน์อย่างชัดเจนนั้น ถือเป็นสิ่งที่ไม่ตรงต่อวัตถุประสงค์หลักของอัลกุรอาน เพราะฟิรเอาน์คือสัญลักษณ์แห่งความอัปยศอันอมตะนิรันดร์กาล ซึ่งเหตุการณ์อาจเกิดขึ้นได้ในทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะในสังคมที่เต็มไปด้วย การกดขี่ข่มเหง การเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน และเรื่องเล่าของฟิรเอาน์ก็จะกลายเป็นตำนานชีวิตให้กับผู้ที่บูชาวัตถุและ ทรัพย์สินเงินทอง ว่าเป็นสิ่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า อัลกุรอานไม่ยอมเอ่ยถึงชื่อจริงเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทั้ง ๆ ที่ได้กล่าวคำว่าฟิรเอาน์ถึงเจ็ดสิบสี่ครั้งในยี่สิบเจ็ดซูเราะห์ เหตุผลก็คือ การกล่าวชื่อจริงมิใช่วัตถุประสงค์หลัก แต่การบอกถึงเอกลักษณ์นั่นเองคือเป้าหมายอันแท้จริงของอัลกุรอาน
www.sunnahstudent.com
Tags: