ผู้นำศาสนาอิสลาม เสนอ ศอ.บต. ร่วมแก้ไขปัญหาความเชื่อเรื่องวัคซีนในพื้นที่ชายแดนใต้
วันนี้ (4 กุมภาพันธ์ 2562) ที่ห้องประชุมปัญจเพชร ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผู้นำศาสนาในพื้นที่ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เข้าร่วมประชุมแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคหัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในส่วนคณะทำงานด้านความคิด ความเชื่อ เพื่อหารือการแก้ไขปัญหาความเชื่อเรื่องการฉีดวัคซีนไม่ฮาลาลของประชาชนในพื้นที่ ภายหลังที่ ศอ.บต. ได้แต่ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ ซึ่งมีองค์ประกอบ 7 คณะ และมีพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร รักษาราชการแทนเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธาน
ประกอบด้วย คณะกรรมการฝ่ายอำนวยการ มีหน้าที่เฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด พร้อมประสาน วางแผน ติดตามสถานการณ์โรคหัดในพื้นที่ คณะทำงานฝ่ายเลขานุการฯ ทำหน้าที่เฝ้าระวัง และรวบรวมข้อมูล คณะทำงานด้านการพยาบาล ทำหน้าที่เตรียมเครื่องมือทางการแพทย์ให้พร้อม คณะทำงานด้านความคิด ความเชื่อ ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการฉีดวัคซีน
คณะทำงานด้านการศึกษา ทำหน้าที่สร้างความเข้าใจแก่ผู้ปกครองของนักเรียน คณะทำงานด้านท้องถิ่นและชุมชน ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจ
และขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้นำนักเรียน อายุตั้งแต่ 9-12 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาล และคณะทำงานด้านการสร้างความเข้าใจ มีหน้าที่สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการให้ข้อมูลผ่านสื่อบุคคล วิทยุ โทรทัศน์ และอื่น ๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค
ขณะที่ นายประเวศ หมีดเส็น ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวถึงการดูแลเด็กในพื้นที่ว่า เด็กเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต แต่ขณะนี้มียอดเด็กเสียชีวิตด้วยโรคหัดในพื้นที่ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน มีจำนวน 28 คน ทั้งที่เป็นโรคที่สามารถควบคุมและดูแลได้ เนื่องจากผู้ปกครองบางส่วนในพื้นที่ยังมีความเชื่อว่า วัคซีนไม่ฮาลาล ไม่สามารถฉีดได้ อีกทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดจะสามารถฉีดได้ในเด็กอายุ 9 ปีขึ้นไป
แต่ปัญหาที่พบขณะนี้จำนวนเด็กที่เสียชีวิตมีอายุต่ำกว่า 9 ปี โดยมีสาเหตุมาจากผู้ปกครองไม่ยอมฉีดวัคซีนขณะตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะสะสมส่งต่อให้ลูก เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันตั้งแต่ต้นน้ำ อีกทั้งเด็กที่เสียชีวิตส่วนใหญ่มีภาวะขาดสารอาหาร และมีอาการปอดบวม อาเจียน และอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ
ทั้งนี้ ผู้นำศาสนาที่เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อ 3 ประการ คือ การฉีดวัคซีนทำให้บุตรเจ็บไข้ไม่สบาย การฉีดวัคซีนเป็นการฉีดนายิส (สิ่งสกปรก) และเชื่อว่าเป็นการนำสิ่งที่ก่อให้เกิดผลที่ไม่ดีเข้าสู่ร่างกายจากผู้ที่ไม่หวังดี ซึ่งเสนอให้ทุกฝ่ายร่วมกันสร้างความเข้าใจ
โดยให้แพทย์อธิบายเรื่องอาการป่วยไข้ภายหลังได้รับวัคซีน ให้ผู้นำศาสนาร่วมประชุมเพื่อหามติเรื่องนี้พร้อมอธิบายหลักการเกี่ยวกับศาสนาให้ประชาชนเข้าใจอย่างถ่องแท้ ร่วมกับสาธารณสุขตำบล ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องความเชื่อที่มาจากข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ตามสื่อโซเชียล ก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านการฉีดวัคซีนนั้น ให้ภาครัฐดำเนินการเรียกผู้เผยแพร่มาพูดคุย สร้างความเข้าใจโดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ ผู้นำศาสนายังเสนอให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นคนสำคัญในการลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านเพื่อสร้างความเข้าใจ เนื่องจาก อสม. เป็นลูกหลานของคนในพื้นที่ จึงเป็นบุคคลที่สามารถเข้าถึงประชาชนทุกครัวเรือนได้ง่าย
Thainews.prd.go.th
Tags: