ข้อห้าม 12 ประการที่สตรีมุสลิม (มุสลิมะห์) ที่ห้ามทำเด็ดขาด
ข้อ 1 ห้ามสตรีออกจากบ้านโดยใส่ของหอม
ซัยนับ อัษษะก่อฟียะฮ์ (ร.ฏ.) รายงานจากท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ความว่า “เมื่อคนใดจากพวกเธอไปละหมาดอีชาอ์
บางรายงาน กล่าวว่า ไปมัสยิด – ดังนั้น นางอย่าใส่ของหอมในคืนดังกล่าว” รายงาน โดยมุสลิม
ท่านอบูฮุรอยเราะฮ์ (ร.ฏ.) รายงานจากท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ความว่า “สตรีใดที่ได้สัมผัสกับควันไม้หอม ดังนั้น เขาก็อย่ามาร่วมละหมาดอีชาอ์ในช่วงสุดท้าย(ของคืน)พร้อมกับเรา” รายงานโดย มุสลิม
ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ซ๊อลลัลฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “สตรีใดที่ใส่ของหอม แล้วเดินผ่านผู้คนกลุ่มหนึ่ง เพื่อให้พวกเขาได้กลิ่นหอมของนาง แน่นอนว่าเธอคนนั้นคือโสเภณี” รายงานโดย ท่านอะหฺมัด ดู หนังสือ มุสนัด เล่ม 4 หน้า 444
หะดิษเหล่านี้ ได้บ่งชี้แก่เราว่า ห้ามบรรดาสตรีออกจากบ้านโดยใส่ของหอม เนื่องจากการที่พวกนางใส่ของหอมต่อหน้าบรรดาผู้ชายนั้น เป็นการกระตุ้นอารมณ์ของพวกเขา
ดังนั้น จึงจำเป็นต่อสตรีทุกคน อย่าออกจากบ้านของนาง นอกจากความเป็นจำเป็นตามหลักของศาสนา และให้นางประดับประดาด้วยจรรยามารยาทของศาสนา โดยการคลุมฮิญาบ สวมใส่อาภรณ์หลวม ๆ ไม่รัดรูป ปราศภาพลักษณ์ที่ทำให้เกิดการยั่วยวน ไม่ใส่น้ำหอมในขณะออกจากบ้าน แต่ทว่า เมื่อนางกลับถึงบ้าน ก็อนุญาตให้ใส่น้ำหอมได้ตามที่ต้องการ โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องไม่ให้ชายอื่นได้กลิ่นหอมนั้น
ข้อ 2 ห้ามภรรยาปฏิเสธการร่วมหลับนอนกับสามี เมื่อเขาร้องขอ
บทนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งสตรีส่วนมากต้องเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว จนกระทั่งทำให้พวกนางต้องได้รับการสาปแช่งจากมะลาอิกะฮ์ ด้วยสาเหตุที่สามีมีความโกรธกับนาง
รายงานจาก อบูฮุรอยเราะฮ์ ท่านนบีซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า “เมื่อสามีได้เรียกร้องให้ภรรยาของเขาไปยังที่หลับนอน แล้วนางให้การปฏิเสธโดยค่ำคืนนั้นสามีความโกรธต่อนาง ดังนั้น บรรดามะลาอิกะฮ์จะทำการสาปแช่งนางจนกระทั่งถึงยามเช้า” รายงานโดย บุคคอรีย์และมุสลิม
หะดิษนี้ ชี้แนะแก่เราว่าภรรยานั้นต้องมีสิทธิพึงปฏิบัติต่อผู้เป็นสามี และส่วนหนึ่งจากบรรดาสิทธิต่าง ๆ ก็คือ สิทธิในการแสวงหาความสุขจากนาง และถือเป็นสิ่งต้องห้ามแก่ภรรยาที่ให้การปฏิเสธสิทธิดังกล่าวที่มีต่อสามี ถ้าหากไม่เช่นนั้น นางก็จะได้รับการสาปแช่งจากมวลมะลาอิกะฮ์ด้วยสาเหตุดังกล่าว และการสาปแช่งนั้น หมายถึง บรรดามะลาอิกะฮ์ได้วอนขอดุอาอ์ให้นางห่างไกลจากความเมตตาของอัลเลาะฮ์ตะอาลา ดังนั้น นางเป็นรู้สึกอย่างไรเล่า ที่บรรดามะลาอิกะฮ์ได้ทำการขอดุอาอ์ให้นางห่างไกลจากความเมตตาของอัลเลาะฮ์ และต่อไปจะเป็นเช่นไรในขณะที่นางได้อยู่เบื้อหน้าอัลเลาะฮ์ตะอาลา (หมายถึง รอรับการสอบสวน) และการปฏิบัติต่าง ๆ ของนางนั้นได้ถูกนำเสนอ ซึ่งส่วนหนึ่งในนั้น มีการประพฤติที่ชั่วจนเป็นเหตุให้นางต้องได้รับการลงโทษด้วยสาเหตุของบาปนั้น
แต่หากว่า ภรรยาอยู่ในสภาวะที่ป่วย มีประจำเดือน และถือศีลอดในเดือนรอมะฏอน ก็อนุญาตให้นางปฏิเสธในสิ่งดังกล่าวได้
ข้อ 3 ห้ามสตรีพรรณนาหญิงอื่นให้สามีของนางรับฟัง
รายงานจากท่านอิบนุมัสอูด ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ เขากล่าวว่าท่านนบีซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “ผู้หญิงคนหนึ่งอย่าทำการสัมผัสกับผู้หญิงอีกคนหนึ่ง แล้วนางทำการพรรณนาคุณลักษณะแก่สามีของนาง ประหนึ่งเขาได้มองเห็นหญิงคนนั้น” รายงานโดย อัลบุคอรีย์
ท่านอิมามอิบนุอัลเญาซีย์ กล่าวว่า “ถูกห้ามจากสิ่งดังกล่าวนี้ เพราะผู้ชายคนหนึ่ง เมื่อได้ยินคุณลักษณะของสตรี ปณิธานของเขาจะสั่นไหว (คือให้ความสนใจ) และหัวใจของเขาจะมุ่งปรารถนา จิตใจจะคอยแสวงหาคุณลักษณะที่สวยงาม (ที่มีเหมือนกับสตรีคนนั้น) ดังนั้นบางครั้งการพรรณนาคุณลักษณะ จะเรียกร้องไปสู่ความต้องการคุณลักษณะที่สวยงามนั้น และบางครั้ง การให้ความสนใจแสวงหาสิ่งดังกล่าวนั้น ทำให้เกิดความคะนึงหา(สตรีคนนั้น)” ดูอะหฺกาม อันนะซาอ์ หน้า 63
ข้อ 4 ห้ามสตรีทำการถือศีลอดสุนัต โดยที่สามีอยู่ นอกจาก ได้รับการอนุญาตจากเขา
เพราะมีหะดิษจากท่านอบูฮุรอยเราะฮ์ รอฏิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“ไม่อนุญาตให้สตรีทำการถือศีลอด โดยที่สามีของนางอยู่ นอกจาก ได้รับอนุญาตจากเขา และนางจะไม่อนุญาต(ให้ผู้อื่น)เข้ามาในบ้าน นอกจากได้รับอนุญาตจากเขา” รายงาน โดย บุคคอรีย์ และ มุสลิม
ท่านอิมามอันนะวาวีย์ ร่อฮิมะฮุลลอฮ์ กล่าวว่า
“หะดิษนี้ถูกตีความว่ามันคือการถือศีลอดสุนัตโดยไม่เจาะจงเวลาที่เฉพาะ และการห้ามนี้ คือ การห้ามแบบฮะรอมที่บรรดานักปราชญ์ของเราได้กล่าวชัดเจนไว้ และสาเหตุการห้าม คือ สามีนั้นมีสิทธิในการหาความสุขกับนางในทุก ๆ วัน และสิทธิดังกล่าวเป็นสิ่งวายิบ(จำเป็น) อย่างรีบด่วน ดังนั้นสิทธิดังกล่าวไม่สามารถละเลยด้วยเหตุของการกระทำสุนัตและสิ่งที่วายิบแบบล่าช้า และหากกล่าวว่าสมควรอนุญาตให้นางทำการถือศีลอดโดยไม่ต้องขออนุญาตจากสามี เพราะเมื่อสามีต้องการหาความสุขกับนางก็อนุญาตแก่ผู้เป็นสามีได้โดยที่การศีลอดของนางต้องเสียไป ดังนั้นคำตอบก็คือตามปกติแล้วการถือศีลอดของนางจะมาหักห้ามเขาแสวงหาความสุข เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้การถือศีลอดของนางเสียไปและคำกล่าวของท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า “โดยที่สามีของนางอยู่ด้วย” หมายถึง อยู่ในเขตเมือง(ที่เขาอาศัยอยู่) แต่เมื่อสามีได้เดินทาง ก็อนุญาตให้ภรรยาทำการถือศีลอดได้ เนื่องจากสามีไม่สามารถมาหาความสุขได้ หากนางไม่ได้อยู่พร้อมกับสามี” ดู ชัรฮ์ซอฮิหฺมุสลิม เล่ม 3 หน้า 65
ข้อ 5 ห้ามสตรีอวดความสวยงามต่อหน้าบรรดาบุรุษ
เพราะอัลเลาะฮ์ตะอาลาตรัสความว่า
“พวกเธอและอย่าได้โออวดความงาม เช่น การอวดความงาม (ของพวกสตรี) แห่งสมัยงมงายในยุคก่อน” อัลอะหฺซาบ 33
รายงานจากอบูฮุรอยเราะฮ์ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ ความว่า ท่านนบีซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “บุคคลสองประเภทที่อยู่ในนรก ซึ่งฉันไม่เคยเห็นทั้งสองมาก่อนเลยคือ กลุ่มชนที่ถือแซ่ที่เหมือนกับหางวัวซึ่งพวกเขาจะใช้ตีบรรดาผู้คนทั้งหลาย บรรดาสตรีที่สวมใส่เสื้อผ้าคับทำให้มองเห็นเรือนร่าง สตรีที่ปฏิบัติตนให้เป็นจุดเด่นชักจูงหญิงอื่นให้คล้อยตามด้วย สตรีที่ออกนอกลู่ทาง (ไม่ทำตามคำสั่งของอัลเลาะฮ์) สตรีที่เกล้าผมไว้ด้านหลังดูเหมือนตระโหนกอูฐ ซึ่งพวกนางเหล่านั้นจะไม่ได้เข้าสวรรค์ พวกนางจะไม่ได้พบแม้กลิ่นหอมของสวรรค์และกลิ่นหอมของสวรรค์นั้นมีระหว่างทางเท่านี้เท่านั้น” รายงานโดย มุสลิม
บรรดาพี่น้องสตรีโปรดจงพิจารณาถึงสัญญาลงโทษที่รุนแรงและการลงโทษที่แสนเจ็บปวดนี้ สำหรับสตรีที่อวดความงามของตนต่อหน้าบรรดาชายอื่น หากแม้นว่าพวกนางจะระเริง ภูมิใจ แต่โลกหน้านางจะมีความโศกเศร้าเสียใจซึ่งมันเป็นสาเหตุห้ามจากการเข้าสรวงสวรรค์และต้องลงในนรกอันลุกโพรง
ดังนั้นเธอจงพึงระวังจากการอวดโฉมความสวยงามต่อหน้าชายอื่นไม่ว่าจะด้วยการคลุมฮิญาบที่ถูกต้องตามหลักของศาสนาหรือใส่น้ำหอมโดยให้ผู้ชายได้รับกลิ่นหอมนั้น เพราะทุก ๆ จากสิ่งดังกล่าวจะทำให้ได้รับโทษในวันกิยามะฮ์
อาจจะมีมารดาบางท่านอาจจะว่ากล่าวในเชิงขอดุอาอ์แก่บรรดาลูก ๆ ของนาง โดยที่นางอ้างว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะให้เกิดความหายนะแก่บรรดาลูก ๆ ของนาง แต่ลิ้นมันพลาดไปเท่านั้น และกรณีเช่นนี้ นักปราชญ์กล่าวว่ามันเป็นคำแก้ตัวที่น่ารังเกียจมากกว่าทำ 1 บาปเสียอีก เพราะว่ามีหะดิษห้ามจากการขอดุอาอ์ให้ตกแก่บรรดาลูก ๆ ดังนั้นจึงจำเป็นแก่ผู้เป็นมารดาอย่ากล่าวถ้อยคำที่อยู่ในเชิงขอดุอาอ์ให้ประสบแก่บุตรชายและหญิงของนาง ไม่ว่านางจะมีเจตนาที่ไม่ดีหรือดีก็ตาม
ข้อ 6 ห้ามเปิดเผยความลับการร่วมสุขระหว่างสามีภรรยา
ท่านอบู สะอีดอัลคุดรีย์ได้รายงานว่าท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ซอลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“ผู้ที่มีตำแหน่งชั่วช้าที่สุด ณ ที่อัลเลาะฮ์ ในวันกิยามะฮ์นั้น คือ สามีได้สัมผัส(ร่วมเสพสุข)กับภรรยาของเขาและภรรยาของเขาได้สัมผัส(ร่วมเสพสุข)กับเขา หลังจากนั้นความลับของนางได้ถูกเปิดเผย” รายงานโดย มุสลิม
ท่านอิมามอันนะวาวีย์ กล่าวว่า
“ในหะดิษนี้ห้ามสามีเปิดเผยการเสพสุขระหว่างเขาและภรรยาและพรรณนารายละเอียดดังกล่าว และห้ามเปิดเผยดังกล่าวที่เกี่ยวกับภรรยาไม่ว่าจะเป็นคำพูด การกระทำ หรืออื่น ๆ” ชัรหฺซอฮิหฺมุสลิม เล่ม 3 หน้า 610
ข้าพเจ้าขอกล่าวว่า การสัญญาลงโทษนี้ ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ผู้เป็นสามีเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงภรรยาด้วยเช่นกัน
ข้อ 7 ห้ามสตรีทำการใช้จ่ายทรัพย์สินของสามีนอกจากได้รับการอนุญาตเสียก่อน
รายงานอบูอุมามะฮ์ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุว่า ท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“ฉันได้ยินท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้ให้สุนทรพจน์ในปีฮัจญ์อำลาว่า สตรีจะไม่ทำการใช้จ่ายสิ่งใดจากบ้านของสามีของนาง นอกจากได้รับการอนุญาตจากสามีของนางเสียก่อน” หะดิษนี้ หะซัน รายงานโดย อบูดาวูด หะดิษที่ 3565 , และท่านอัตติรมีซีย์ หะดิษที่ 670
หะดิษนี้ชี้แนะให้เราทราบว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภรรยาต้องขออนุญาตในการใช้จ่ายทรัพย์สินของผู้เป็นสามี และเป้าหมายของการใช้จ่ายตรงนี้ หมายถึง ใช้จ่ายทรัพย์ในหนทางที่ถูกต้องตามหลักศาสนา เช่น ซะกาต บริจาคทาน ใช้จ่ายเพื่อสนองความต้องการ ช่วยผู้ที่เดินทางผ่านมา หรือผู้ที่ขัดสน
ดังนั้น เมื่อนางได้ทำการใช้จ่ายไปตามหลักการที่ศาสนาส่งเสริมจากทรัพย์สินของสามีเหล่านี้ โดยได้ขออนุญาตแล้ว แน่นอนนางก็จะได้รับผลบุญในการเฉกเช่นเดียวกันกับผู้เป็นสามี
ข้อ 8 ห้ามสตรีทำการ สัก ถอนขนที่ใบหน้า และถ่างฟัน
ท่านอิบนุมัสอูด รายงานว่า ท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
لعن الله الواشمات والمستوشمات, والناصمات والمتنمصات, والمتفلجات للحسن,المغيرات خلق الله
“อัลเลาะฮ์ทรงสาปแช่ง ผู้หญิงที่ทำการสัก และใช้ให้ทำการสัก ผู้หญิงที่ขจัดขนบนใบหน้าและผู้หญิงที่ขอให้ขจัดขนบนใบหน้า ผู้หญิงที่ถ่างช่วงระหว่างฟันเพื่อความสวยงาม ซึ่งพวกนางเป็นผู้ที่ทำการเปลี่ยนแปลงการสร้างของอัลเลาะฮ์…” รายงานโดย อัลบุคอรีย์และมุสลิม
การขจัดขนบนใบหน้า ย่อมครอบคลุมถึง ขนคิ้วด้วยเช่นกัน ท่านอิมามอันนะวาวีย์กล่าวว่า “การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่หะรอม นอกจาก ผู้หญิงที่มีเคราและหนวดงอกขึ้นมา ดังนั้น จึงไม่หะรอมที่จะขจัดมันออกไป ยิ่งกว่านั้น ยังถือว่าเป็นสุนัตให้ขจัด(เคราและหนวดของสตรี)ตามทัศนะของเรา(มัซฮับชาฟิอีย์)…และแท้จริง การห้ามนั้นคือการขจัดขนคิ้วและบริเวณใบหน้า” ดู ชัรหฺซอฮิหฺมุสลิม เล่ม 7 หน้า 361 หะดิษที่ 2125
การถูตัดฟันและการถ่างช่องระหว่างฟัน ซึ่งเป็นสิ่งที่หะรอม เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่อัลเลาะฮ์ทรงประทานมาและท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ห้ามไว้
อัลเลาะฮ์ทรงตรัสว่า
وَلَآمُرَنَّهُمْ فَلَيُغَيِّرُنَّ خَلْقَ اللَّهِ
“แล้วแน่นอนพวกเขาก็จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสร้าง” อันนิซาอ์ 119
ท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่าอัลเลาะฮ์ทรงแช่งสตรีต่อไปนี้
والمتفلجات للحسن المغيراتِ خلقَ الله
“บรรดาสตรีที่ทำการถ่างช่องระหว่างฟันเพื่อความสวยงาม คือผู้ที่ทำการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่อัลเลาะฮ์ทรงสร้าง” รายงานโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม
แต่การตัดฟันหรือถ่างช่องฟันเพื่อการรักษาหรือปกปิดลักษณะที่น่าเกลียด ย่อมไม่เป็นไรเนื่องจากการห้ามนั้นเพื่อความสวยงาม
ท่านอิมามอันนะวาวีย์ กล่าวว่า
“ในหะดิษนี้ชี้ถึงการห้ามนั้นคือสิ่งที่ถูกกระทำเพื่อความสวยงาม ถ้าหากสตรีท่านหนึ่งมีความต้องการที่จะเยียวยาหรือปกปิดข้อตำหนิของตนและอื่น ๆ ก็ถือว่าไม่เป็นไร” ดู ชัรหฺซอฮิหฺมุสลิม เล่ม 7 หน้า 361
ข้อ 9 ห้ามสตรีฝ่าฝืนสามีของนาง
สมควรแก่ภรรยาที่ดี(ซอลิหะฮ์) ทำการอยู่ร่วมชีวิตกับสามีด้วยความเพียงพอ เชื่อฟังและภักดีต่อเขาด้วยความดีงาม เพราะท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮะวะซัลลัม ใช้ให้บรรดาภรรยาปฏิบัติดีแก่สามีของพวกนาง ห้ามทำการฝ่าฝืนและปฏิบัติในแง่ลบกับพวกเขา ท่านนบีซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“หากฉันจะใช้คนหนึ่งทำการสุยูดให้กับบุคคลหนึ่ง แน่นอนฉันจะใช้ภรรยาทำการสุยูดต่อสามีของนาง” รายงานโดย ท่านอัตติรมีซีย์ หะดิษนี้ซอฮิหฺ
ท่านนบีซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวเช่นกันว่า
“อัลเลาะฮ์จะไม่มองไปยังสตรีคนที่ไม่ทำการขอบคุณต่อสามีของนาง โดยที่นางเองยังคงพึ่งพาต่อเขา” รายงานโดย อันนะซาอีย์ หะดิษนี้ซอฮิหฺ
ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ถูกถามเกี่ยวกับbบรรดาสตรีที่ประเสริฐสุด? ท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตอบว่า
“คือสตรีที่ภักดี เมื่อเขา(สามีของนาง)ได้สั่งใช้ เธอมีความปิติยินดีเมื่อเขาได้มอง และเธอจะคอยดูแลรักษาเขา เกี่ยวกับตัวของนางและทรัพย์สินของเขา” รายงานโดย อันนะซาอีย์ หะดิษซอฮิหฺ
ดังนั้น สมควรแก่มุสลิมะฮ์ทุกคนในการสร้างความพอใจกับผู้อภิบาลของนางด้วยการฏออัตสามี และปฏิบัติดีกับเขาในทั้งคำพูดและการกระทำ เพราะฉะนั้นสามีจึงเป็นดังกล่าวสวรรค์และนรกของภรรยา หมายถึงหากปฏิบัติดีต่อสามีก็จะได้รับสวรรค์และหากปฏิบัติไม่ดีก็จะได้รับสิ่งตรงกันข้าม แต่การฏออัตของภรรยาที่มีต่อสามีนั้นต้องกระทำเสมอไปหรือไม่ แม้กระทั่งในเรื่องที่ฝ่าฝืนกระนั้นหรือ?
แน่นอนว่าไม่ใช่แน่นอน เพราะการที่ภรรยาฏออัตต่อสามีนั้นต้องมีข้อแม้ว่าต้องไม่เป็นสิ่งที่ทำให้อัลเลาะฮ์ ตะอาลา ทรงพิโรธ ดังนั้นเมื่อสามีใช้ให้นางกระทำสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนต่ออัลเลาะฮ์และร่อซูลของพระองค์ แน่นอนว่าต้องไม่มีการภักดีต่อสามีในเรื่องเฉกเช่นดังกล่าวนี้
ท่านอะลี ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“ไม่มีการฏออัตในเรื่องที่เป็นการฝ่าฝืนต่ออัลเลาะฮ์ แต่ทว่าการฏออัตนั้นจะอยู่ในความดีงาม” รายงานโดย อัลบุคอรีย์และมุสลิม
ท่านอิมามอิบนุอัลเญาซีย์ ร่อฮิมะฮุลลอฮ์ กล่าวว่า
“สิ่งที่เราได้กล่าวมา จากความจำเป็นในการฏออัตต่อสามี ดังนั้น จึงไม่อนุญาตให้ภรรยาทำการฏออัตในเรื่องที่ไม่อนุญาต พร้อมสามีขอนางทำการร่วมประเวณีในขณะที่มีประจำเดือน ในสถานที่อันน่ารังเกียจ ในกลางวันของเดือนรอมาฏอน หรืออื่น ๆ จากบรรดาสิ่งฝ่าฝืนทั้งหลาย ดังนั้นจึงไม่มีการฏออัตกับมัคโลคในการฝ่าฝืนต่ออัลเลาะฮ์ ตะอาลา”
ข้อ 10 ห้ามสตรีปฏิเสธตัดพ้อต่อสามีผู้ร่วมชีวิต
รายงานจากท่านอิบนุอับบาส ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “ฉันถูกทำให้ได้เห็นนรก ดังนั้นชาวนรกส่วนมากจะเป็นบรรดาผู้หญิงซึ่งพวกนางชอบปฏิเสธ จึงถูกตั้งคำถามขึ้นว่าพวกนางปฏิเสธอัลเลาะฮ์กระนั้นหรือ ? ท่านนบีกล่าวว่า พวกนางปฏิเสธต่อสามีผู้ร่วมชีวิต ปฏิเสธต่อการปฏิบัติอันดีงาม หากท่านปฏิบัติดีต่อคนหนึ่งคนใดจากนางเป็นเวลานาน หลังจากนั้นนางได้เห็นสิ่งหนึ่ง(ที่นางไม่พอใจ)จากท่าน นางก็จะกล่าวว่า ฉันไม่เห็นความดีใด ๆ จากท่านเลย” รายงานโดย อัลบุคอรีย์และมุสลิม
รายงานจากอัสมาอ์ บุตรี ยะซีด ร่อฏิยัลลอฮุอันฮา นางกล่าวว่า “ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เดินผ่านพวกเรา ซึ่งเรากำลังอยู่ในหมู่บรรดาผู้หญิงทั้งหลาย แล้วท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ได้ให้สลามแก่พวกเรา และกล่าวว่าพวกเธอจงระวังเกี่ยวกับการปฏิเสธบรรดาผู้ที่ให้ความอำนวยสุข พวกเรากล่าวว่า โอ้ ร่อซูลลัลลอฮ์ อะไรคือการปฏิเสธบรรดาผู้ที่ให้ความอำนวยสุขหรือ? ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์กล่าวว่าบางครั้งอาจจะมีผู้หญิงคนหนึ่งที่คลองโสดอยู่กับบิดามารดาของนางเป็นเวลานาน จากนั้นอัลเลาะฮ์ทรงประทานสามีให้แก่นางและพระองค์ทรงประทานให้นางมีทรัพย์สินและบุตร แล้วนางก็เกิดความโกรธขึ้นมาครั้งหนึ่ง แล้วนางก็ชอบกล่าวว่า ฉันไม่เคยเห็นเขามีดีอะไรสักวันหนึ่งเลย” หะดิษหะซัน รายงานโดยท่านอิมามอะห์มัด ,อบูดาวูด , และท่านอัตติรมีซีย์
ดังนั้น การปฏิเสธตัดพ้อต่อสามี คือการปฏิเสธเนี๊ยะมัติเช่นเดียวกัน ซึ่งการตัดพ้อน้อยใจ ก็คือ ความไม่พอใจต่อค่าเลี้ยงดูของสามี ซึ่งท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำการอธิบายไว้อย่างชัดเจนแล้ว เพื่อไม่ให้สตรีผู้เป็นภรรยาอ้างข้อแก้ตัวต่ออัลเลาะฮ์ ตะอาลา
ในขณะที่พระองค์ทรงถามพวกนางเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้เป็นสามี ว่า เธอปฏิบัติดีต่อเขาหรือว่าเธอตัดพ้อไม่พอใจสิ่งอำนวยสุขของเขาหรือว่านางมีความไม่พอใจต่อค่าเลี้ยงดู!?
เพราะฉะนั้นพฤติกรรมเช่นนี้ เป็นสิ่งทำให้มีผลตามมาที่อันตรายและเป็นบาปอันใหญ่หลวง ซึ่งทางที่ดีพวกนางต้องละทิ้งพฤติกรรมดังกล่าวและให้มีการตักเตือนซึ่งกันและกันในหมู่พวกนาง ว่าสิ่งดังกล่าวนั้นเป็นสาเหตุให้ต้องถูกลงโทษในวันกิยามะฮ์
ข้อ 11 ห้ามบรรดาสตรีของหย่ากับสามีโดยไร้เหตุผล
การแต่งงานเป็นบทบัญญัติที่อัลเลาะฮ์ทรงเรียกร้องและท่านร่อซูลุลเลาะอ์ ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้ให้การส่งเสริม ดังนั้นการแต่งงานจึงเป็นความผูกพันระหว่างชายและหญิงตามหลักการของศาสนา ที่มีขอบเขตจำกัด มีกฎระเบียบต่าง ๆ ได้วางไว้ และมีปัจจัยต่าง ๆ ที่ได้รับผลมาจากการแต่งงาน เช่นการรังสรรค์สังคม ด้วยการมีครอบครัวอิสลามที่อยู่ในทางนำของอัลกุรอานและซุนนะฮ์ ประหนึ่งก้อนอิฐหนึ่งที่ร่วมสร้างสรรค์สังคมที่มีความมีคุณธรรม แต่บางครั้งอาจเป็นการทำลาย ด้วยเหตุของการมีครอบครัวที่หย่าร้างแยกทางกัน ซึ่งเป็นผลในแง่ลบที่มีต่อ สามี ภรรยา ลูก ๆ และสังคม
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ อัลเลาะฮ์จึงวางบทบัญญัติและทรงเรียกร้องให้เรามีการแต่งงาน – เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้สร้างเรามาและทรงตระหนักยิ่งต่อศักยภาพของเรา – ดังนั้น พระองค์ทรงรู้ดีว่า พฤติกรรมหรือจรรยามารยาทนั้น บางครั้งขาดความเหมาะสม บรรดาความคิดย่อมมีความแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น พระองค์ทรงวางบัญญัติในเรื่องของการหย่า(ต่อล๊าก)ให้แก่เรา กล่าวคือ หากไม่มีทางเลือกอื่นในการคืนดีระหว่างสองสามีภรรยาแล้ว ก็ต้องมีการแยกทางระหว่างทั้งสองด้วยการหย่า
แต่ทว่าอัลเลาะฮ์ ตะอาลา ทรงวางระบบของหลักชาริอัต เช่น การหย่าไว้ โดยมีขอบเขต ผู้ที่มักง่ายจะละหมาดขอบเขตดังกล่าวนั้นไม่ได้ ซึ่งส่วนหนึ่งจากขอบเขตเหล่านั้น คือ ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทรงห้ามบรรดาสตรีขอหย่าต่อบรรดาสามีอย่างไร้เหตุผล และท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ได้เตือนให้ตระหนักถึงโทษต่อผู้ที่กระทำสิ่งดังกล่าว
ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“สตรีใดที่เขาให้สามีของนางทำการหย่า โดยไม่มีปัญหาอันใด ดังนั้น กลิ่นหอมของสวรรค์จะถูกห้ามแก่นาง” รายงานโดย อบูดาวูด , อัตติรมีซีย์ , และท่านอิบนุมาญะฮ์ และหะดิษนี้ซอฮิหฺ
ข้อ 12 ห้ามสตรีอยู่ตามลำพังกับชายอื่น
ท่านอับดุลเลาะฮ์ อิบนุอับบาส ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า ฉันได้ยินท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวสุนทรพจน์ ความว่า “ชายคนหนึ่งจะไม่อยู่ตามลำพังกับผู้หญิงคนหนึ่ง นอกจากพร้อมกับนางต้องมีมะห์รอม(ผู้ที่แต่งงานร่วมกันไม่ได้)” รายงานโดย อัลบุคอรีย์และมุสลิม
ท่านอุกบะฮ์ บิน อามิร (ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ) ได้รายงานว่า แท้จริงท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “พวกท่านจงระวังการเข้าไปหาบรรดาสตรี ผู้ชายคนหนึ่งจากชาวอัน
ซ๊อรตั้งคำถามขึ้นว่า ท่านเห็นว่าอย่างไรเกี่ยวกับพี่น้องของสามี? ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ตอบว่า พี่น้องสามีคือความตาย” รายงานโดย อัลบุคอรีย์และมุสลิม
ดังนั้น สองหะดิษนี้ระบุชัดเจนในเรื่องของการห้ามอยู่ร่วมตามลำพังระหว่างบุรุษและสตรีอื่น และเราได้นำเสนอเกี่ยวกับเรื่องนี้เนื่องจากสตรีส่วนมากทำเบาความเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ด้วยการอนุญาตให้ชายอื่นเข้าไปพบนางได้นั่งร่วมคุยกับนางได้ ด้วยการอ้างว่า เขาเป็นเพื่อนหรือคนรู้จักของครอบครัว แต่นางได้ทำให้เสื่อมเกียรติด้วยการอ้างเหตุผลที่คลุมเครือดังกล่าวทำลายครอบครัวของตนเอง
ฉะนั้น จึงมีความจำเป็นต่อสตรีมุสลิมะฮ์ต้องไม่ให้ผู้ใดเข้ามาในบ้านของสามีนอกจากผู้ที่สามีพอใจ และให้นั่งคุยด้วยมารยาทตามกฎบัญญัติของศาสนาด้วยการคลุมฮิญาบ ไม่นั่งตามลำพังสองต่อสองและต้องมีความจำเป็นเท่านั้น ดังนั้นสตรีผู้เป็นภรรยาต้องไม่นั่งพร้อมกับชายอื่น แม้กระทั่งอยู่ต่อหน้าสามีหรือคนใดจากผู้ที่ไม่สามารถแต่งงานกับนางได้ก็ตาม – เพียงเพื่อนั่งพูดคุยหรือพูดจาพาทีกับอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ทว่าการนั่งพูดคุยนั้นมีความจำเป็นทางด้านศาสนา เช่นเพื่อการเยียวยารักษาหรือเพื่อการแต่งงาน
สตรีบางส่วนนั่งคุยกับชายอื่นโดยมีบุตรเล็ก ๆ ของตนร่วมอยู่ด้วย และอ้างว่าหากมีบุตรเล็ก ๆ ทั้งหญิงหรือชาย ร่วมอยู่ด้วยถือว่าไม่เป็นการอยู่ร่วมกันตามลำพัง ซึ่งดังกล่าวนี้ ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะการมีเด็กเล็ก ๆ ร่วมอยู่ด้วยนั้น เหมือนกับไม่มี เนื่องจากไม่มีความละอายใด ๆ ให้กับเด็กเพราะอายุยังน้อย และเช่นเดียวกัน ในกรณีที่บรรดาชายอื่นมากกว่าหนึ่งได้อยู่ร่วมกับสตรีเพียงคนเดียวถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องห้าม
และบางครั้งผู้ชายพบกับผู้หญิงพบกันระหว่างทางโดยบังเอิญก็ถือว่าอนุญาตให้เดินทางพร้อมกับเขาได้ แต่ให้ผู้ชายเดินนำหน้าสตรีเสมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮา ในขณะที่ท่านหญิงได้เดินทางอยู่ข้างหลังกองทหาร ซึ่งอยู่ในช่วงของเหตุการณ์ที่ท่านหญิงถูกกล่าวหาในครั้งนั้น
Tags: