ความเชื่อผิดๆ และข้อห้าม ! ขณะภรรยาตั้งครรภ์ในอิสลาม
คำถาม:
1. มีข้อห้ามใดที่อิสลามสั่งห้ามสามีภรรยากระทำไหม ในขณะภรรยาตั้งครรภ์
2. กรณีที่คนเฒ่าคนแก่ เตือน ห้าม กระทำทั้งสามีและตัวภรรยาเอง เมื่อภรรยาตั้งครรภ์ เพราะเกรงจะมีความไม่ดีตกกับลูกทั้งร่างกายและจิตใจ เราจะเชื่อดีไหม จะเชื่อได้แค่ไหน และอิสลามว่าอย่างไร
3. จากข้อ 2 ความเชื่อนั้น มีอยู่ในศาสนาพุทธ เรื่องกรรมเวร ดังนั้น ผู้ใหญ่เราเชื่อตามเขาหรือไม่
4. จากข้อ 2และ3 เป็นชิริกไหม
กรณีตัวอย่างที่อยากให้ช่วยอธิบาย
1 ห้ามตีงู หรือสัตว์มีพิษอื่นที่เราพบเจอ
2 ห้ามทรมานสัตว์
3 ห้ามลืมตัวลืมตน ว่ากำลังท้องกำลังไส้อยู่ ในขณะที่กระทำการงานใดๆ ก็ตาม
4 ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
5 ห้ามตกปลา
ตอบโดย: อ. อาลี เสือสมิง
1. สิ่งใดที่ศาสนาบัญญัติห้ามมิให้กระทำนั่น คือ สิ่งที่สามีและภรรยาห้ามกระทำจะเป็นช่วงที่ตั้งครรภ์หรือไม่ก็ตาม
2. หากการเตือนหรือการห้ามของผู้อาวุโสนั้นสอดคล้องกับสิ่งที่ศาสนาบัญญัติเอาไว้ก็จำเป็นต้องเชื่อเพราะเป็นการเชื่อฟังในสิ่งที่ดี ไม่ได้ขัดต่อหลักการของศาสนา แต่ถ้าการเตือนหรือการห้ามนั้นไม่มีบัญญัติรับรองทางศาสนาหรือขัดแย้งกับสิ่งที่ศาสนาบัญญัติเอาไว้ ก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตาม มิหนำซ้ำในบางกรณีก็ห้ามมิให้เชื่อและปฏิบัติตามอีกด้วย
3. เราไม่สามารถกล่าวได้ว่าผู้อาวุโสของเรามีความเชื่อตามความเชื่อในศาสนาอื่น เพราะจะกลายเป็นการกล่าวหาที่รุนแรงถึงขั้นตกศาสนาได้ (มุรตัด) เมื่อไม่มีสิ่งบ่งชี้ยืนยันอย่างชัดเจนในข้อกล่าวหาทำนองนี้ ก็ห้ามที่จะมีอคติ (สูอุซฺซ็อน) และกล่าวหาผู้ที่เป็นมุสลิมในเรื่องนี้
อีกทั้งความเชื่อในเรื่องทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว และการส่งผลดีหรือไม่ดีต่อผู้กระทำความดีหรือความชั่วรวมถึงผู้เกี่ยวข้องก็เป็นหลักคำสอนของศาสนาอิสลามที่ชัดเจนเช่นกัน เพราะถึงแม้ว่าจะไปคล้ายหรือเหมือนกับความเชื่อในศาสนาอื่นก็ย่อมมีความแตกต่างในรายละเอียดของความเชื่อนั้นอยู่ดี เช่น ความเชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษ นรก สวรรค์ ก็มีอยู่ในคำสอนของศาสนาอื่นแต่ก็มีบริบทและรายละเอียดที่ต่างจากหลักความเชื่อในศาสนาอิสลามเป็นต้น
4. หากถือว่า การทำดีและการทำชั่วเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงกำหนดและลิขิตเอาไว้ก็ไม่เป็นการตั้งภาคี (ชิรฺก์) แต่อย่างใด หากยังถือเป็นหนึ่งในหลักศรัทธาขั้นพื้นฐาน 6 ประการที่ผู้ศรัทธาต้องปักใจเชื่อและปฏิเสธมิได้โดยเด็ดขาด แต่ถ้ามีความเชื่อว่าการกระทำเหล่านั้นส่งผลในการให้คุณให้โทษด้วยตัวของมันเองก็ถือว่าเป็นการตั้งภาคี (ชิรฺก์) แล้ว
ส่วนกรณีที่ยกตัวอย่างมานั้น ข้อ 2 และ 3 เป็นข้อห้ามโดยหลักการของศาสนาอยู่แล้ว ส่วนข้อ 1 , 4 และ 5 ต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะการตีงูหรือสัตว์มีพิษในกรณีที่มันจะทำร้ายเราเป็นสิ่งที่ศาสนาอนุญาตให้กระทำได้แม้กระทั่งในขณะปฏิบัติละหมาด จึงเป็นข้อยกเว้นว่าทำได้ในกรณีจำเป็น แต่ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควร เช่น ไล่ให้มันไปโดยดีได้ก็ควรทำ
การห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและการตกปลาก็เช่นกัน ต้องดูข้อเท็จจริงว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือไม่ เช่น เชือดไก่เพื่อทำอาหาร ตกปลาเพราะเป็นอาชีพเลี้ยงปากท้อง ก็ย่อมสามารถกระทำได้ เพราะเป็นสิ่งที่ศาสนาอนุญาต แต่ถ้ายิงนกตกปลาเพื่อทำลายชีวิตเอาเป็นเรื่องสนุก เป็นงานอดิเรกโดยไม่มีเป้าหมายในการนำมาเป็นอาหารหรือสินค้าก็ย่อมถือว่าต้องห้ามโดยบัญญัติของศาสนาอยู่แล้วเพราะเป็นการสร้างความเสียหายบนหน้าโลกซึ่งศาสนาห้าม
อย่างไรก็ตามการดำเนินการใดๆ เช่น ตีงู ตกปลาหาเลี้ยงชีพ เชือดไก่เพราะจะทำอาหาร ให้เป็นหน้าที่ของสามี โดยภรรยาสมควรหลีกเลี่ยงที่จะดูหรือมีส่วนร่วม เพราะอาจจะนำไปนึกคิดและเห็นภาพที่ไม่ดีจะเป็นเหตุให้เกิดความไม่สบายใจและคิดมาก ซึ่งไม่เป็นผลดีแต่อย่างใดสำหรับคนที่กำลังตั้งครรภ์ จึงควรเลี่ยงเสียจากสิ่งดังกล่าวเพราะเมื่อจิตใจฟุ้งซ่านเป็นกังวลและนึกถึงภาพที่เห็นซัยฏอนก็จะถือเป็นโอกาสในการรบกวนจิตใจได้ว่าจะเป็นอย่างนั้นจะเป็นอย่างนี้ ลูกในท้องจะเป็นอย่างนั้นจะเป็นอย่างนี้ จึงต้องปิดหนทางไม่ให้ซัยฏอนมีโอกาสในเรื่องนี้
Tags: