ปรับตัวตามโลก ห้องสมุดในจอร์เจียเอาหนังสือออกเกือบหมด แล้วเพิ่มที่นั่งแทน
วิธีการเรียนรู้เปลี่ยนไป ยุคนี้เขาเอาหนังสือออกจากห้องสมุดกันแล้ว
หรือว่านี่จะเป็นนิยามของห้องสมุดในโลกยุคใหม่?
ห้องสมุดของสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย (Georgia Tech หรือในชื่อเต็มคือ Georgia Institute of Technology) จัดทำโครงการ Library Next โดยทำการย้ายหนังสือกว่า 95% (ประมาณ 1 ล้านเล่ม) ออกจากห้องสมุด แล้วนำเอาไปเก็บไว้ในคลังนอกมหาวิทยาลัย โดยใช้งานร่วมกับมหาวิทยาลัยเอมโมรี (Emory University)
- คำถามก็คือ ทำไมต้องเอาหนังสือออกจากห้องสมุด?
คำตอบคือ การเอาหนังสือออกจากห้องสมุดเกือบทั้งหมดในครั้งนี้ เป็นเพราะต้องการให้นักเรียนมี “ที่นั่ง” เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเราทราบกันดีว่า ยุคนี้เทคโนโลยีมีบทบาทสูงมากในการเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนรู้ไปอย่างมหาศาล ทำให้นักศึกษาไม่จำเป็นต้องจำกัดความรู้ไว้เพียงแค่ในหนังสือเท่านั้น
Catherine Murray-Rust คณบดีของห้องสมุดสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย บอกว่า “โครงการนี้คือการปรับฐานคิดสำหรับห้องสมุดวิจัยครั้งใหญ่ในรอบ 100 ปี ซึ่งมันเป็นสิ่งที่สถาบันการศึกษาควรทำ”
นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของห้องสมุดที่ตระหนักดีว่า คนรุ่นใหม่ในยุคนี้เขามีวิธีการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปแล้ว นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ยังตอกย้ำให้เห็นว่า แวดวงวิชาการมีความเป็นดิจิทัล ไม่ได้หัวเก่าคร่ำครึ และพร้อมปรับตัวกับโลกภายนอกที่เปลี่ยนแปลง
ห้องสมุดยุคใหม่อาจไม่จำเป็นต้องมีหนังสือ เพราะวิธีการเรียนรู้ของมนุษย์เปลี่ยนไป อินเทอร์เน็ตทำให้เราเข้าถึงข้อมูลความรู้อย่างกว้างขวางและหลากหลาย แต่ถึงที่สุดแล้ว หนังสือก็ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ไปอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม
ที่มา brandinside
Tags: