ศาสนาอิสลามกับการรักษาสุขภาพ
ความอดทนและการมองโลกในแง่ดีเป็นเครื่องมือชั้นเลิศที่เราสามารถนำไปใช้ในการบำบัดรักษาสุขภาพจิตและสุขภาพกายได้ในเวลาเดียวกัน สุขภาพจิตมักเกิดขึ้นจากความเครียดในยามทุกข์ยากและมันส่งผลกระทบถึงสุขภาพร่างกายด้วย
คัมภีร์กุรอาน (2:155) กล่าวว่า “จงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนที่เมื่อประสบเคราะห์กรรมแล้วกล่าวว่า ‘แท้จริง เราเป็นของอัลลอฮฺและยังพระองค์ที่เราต้องกลับไป’ คนเหล่านี้คือผู้ได้รับการอำนวยพรและความเมตตาจากพระผู้อภิบาลของพวกเขาและพวกเขาเป็นผู้ได้รับการชี้ทาง” วิทยาศาสตร์สมัยใหม่กล่าวว่าความเมตตาที่ได้รับนี้มักจะมาในรูปของสุขภาพที่ดีขึ้น
เบอร์นาร์ด เจนเซนกล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง “The Science and Practice of Iridology” ของเขาว่า “แพทย์สมัยใหม่จะยอมรับว่าโรงงานที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ไม่ใช่ร่างกาย แต่เป็นความคิดที่ควบคุมร่างกายต่างหาก” ดร.เทด เอ็ม. มอร์เตอร์ (Dr. Ted M. Morter) ยืนยันเรื่องนี้ไว้ในหนังสือเรื่อง Your Health…Your Choice ว่า “ความคิดในทางลบเป็นตัวสร้างกรดหมายเลขหนึ่งในร่างกาย(และระดับกรดสูงในร่างกายคือสาเหตุสำคัญของโรค) เพราะร่างกายมีปฏิกิริยาต่อความคิดในทางลบและความรู้สึกกดดันที่ถูกสร้างขึ้นโดยการคิดเช่นเดียวกับที่มันแสดงปฏิกิริยาต่ออันตรายที่คุกคามร่างกาย
การศึกษาจากโรงพยาบาลหลายแห่งในสหรัฐแสดงให้เห็นว่าในคนไข้ทั้งหมดที่มาพบแพทย์ผู้ป่วยนอก 70% ไม่ได้ป่วยจริงอย่างที่บอก เมื่อไม่พบสาเหตุในทางการแพทย์ แต่มีอาการทางร่ายกายให้เห็น ผู้คนจึงมักพุ่งเป้าไปที่เรื่องความคิดตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์เพื่อแก้ปัญหาบางอย่างโดยลืมไปว่าเราไม่สามารถแยกความคิดออกจากร่างกายได้
ความคิดอยู่ในหัวสมองและสมองเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายที่ต้องการสารอาหารเหมือนอวัยวะอื่นๆ มันมีความรู้สึกไวต่อปัญหาทั้งหมดและมันต้องอาศัยร่างกาย มันต้องการน้ำตาลเพื่อพัฒนาพลังงาน ดังนั้น มันจึงเป็นอวัยวะแรกที่ประสบปัญหาจากน้ำตาลในเลือดต่ำและมันจะแสดงปฏิกิริยาอย่างรุนแรง
ถ้าเราถือว่าสมองเป็นอวัยวะหนึ่งที่ทำงานร่วมกับอวัยวะอื่นๆและได้รับอาหารจากกระแสเลือด เราก็สามารถเข้าใจได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทางความคิดมีผลกระทบต่อเราทางร่างกาย ตัวอย่างเช่น การใช้สมองคิดทำให้เกิดการเผาผลาญสารอาหารในร่างกายของเราโดยเฉพาะฟอสฟอรัส การใช้สมองหนักไปสามารถทำให้เราป่วยจากการขาดฟอสฟอรัสได้ ในทางกลับกัน คนที่มีความสามารถทางสติปัญญามักจะมีระดับฟอสฟอรัสในระบบร่างกายสูง
ท่านนบีมุฮัมมัด กล่าวว่า “คนแข็งแรงมิใช่คนที่เอาชนะคนโดยความแข็งแกร่งของร่างกาย แต่คนแข็งแรงคือคนที่ควบคุมตัวเองได้ในขณะโกรธ” นั่นแสดงว่าความจริงแล้ว ความอดทนและการสงบนิ่งเป็นกุญแจไขไปสู่ความแข็งแรงทางร่างกาย
ฟอสฟอรัสมิใช่สารอาหารเพียงตัวเดียวที่สามารถหมดไปโดยความเครียดและการขาดความสงบทางจิตใจ ถ้าต่อมไทรอยด์อวัยวะแรกที่รับมือความรู้สึกของเราทำงานหนักเกินไป เราก็อาจป่วยจากการขาดไอโอดีน ความเครียดจากการหางาน การหย่าหรือหาที่อยู่ใหม่เป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียโปแตสเซียมและโซเดียมในร่างกายเพราะมันมีผลกระทบต่อต่อมอะดรีนัลที่สร้างความต้องการแร่ธาตุเหล่านี้มากขึ้น
แม้แต่โรคน้ำตาลในเลือดต่ำอาจมีสาเหตุมาจากความตื่นตกใจ ศาสนาสอนเราให้ใช้ชีวิตในทางสายกลาง แต่เราเองที่ชอบพาตัวเองไปสู่ความตื่นเต้น เช่น การตะโกน การดูโทรทัศน์มากเกินไป การไปห้างสรรพสินค้า ดูภาพยนตร์ ไปสวนสนุก เมื่อเห็นอะไรที่ตื่นเต้น ต่อมอะดรีนัลของเราจะถูกกระตุ้นและทำให้น้ำตาลในเลือดของเราสูงขึ้นซึ่งมันจะไปกระตุ้นตับอ่อนให้ขับสารอินซูลินเข้าไปในเลือดเพื่อลดระดับน้ำตาล จึงทำให้เรารู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนล้า
ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาสุขภาพ เมื่อเผชิญอะไรก็ตามที่ทำให้เกิดความว้าวุ่นหรือความเครียด อิสลามสอนมุสลิมให้กล่าวว่า “อัลฮัมดุลิลลาฮฺ” (บรรดาการสรรเสริญเป็นของพระเจ้า)และยอมรับสภาพซึ่งจะทำให้เกิดความสงบและเป็นผลดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้แล้ว เราควรจัดสภาพแวดล้อมของบ้านและที่ทำงานให้สงบและปลอดจากความตึงเครียดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อีกทางหนึ่งในการเผชิญกับผลของความเครียดก็คือการรู้ว่าตัวเองกำลังเผชิญอยู่กับอะไรและบริโภคสารอาหารที่เหมาะสมอย่างเพียงพอ
ตัวอย่างเช่น ถ้านอนดึก ควรกินอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูงหรืออาหารที่จะช่วยรักษาฟอสฟอรัสในร่างกายไว้ ถ้าอ่อนล้าจากการทำงานหนัก ควรกินอาหารที่มีโปแตสเซียมและโซเดียมสูงรวมทั้งวิตามินบีค็อมเพล็กซ์
ถ้าเราไม่สนใจความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพทางความคิดและร่างกาย เราจะพลาดรายละเอียดสำคัญในการรักษาสุขภาพตนเอง ในเรื่องสุขภาพ การป้องกันดีกว่าการหาวิธีการรักษา ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ทัศนคติและความรู้สึกในเชิงลบควบคุมร่างกายกายของเราก็คือ การปฏิบัติตามภูมิปัญญาที่เราได้รับจากคำสอนของศาสนาอิสลาม
ท่านนบีมุฮัมมัดสอนให้สาวกของท่านกล่าว “อัลฮัมดุลิลลาฮฺ” (การสรรเสริญเป็นของพระเจ้า)สำหรับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ กล่าว “อินชาอัลลอฮฺ” (ถ้าพระเจ้าประสงค์)สำหรับสิ่งที่ตั้งใจ กล่าว “ซุบฮานัลลอฮฺ” (พระเจ้าผู้ทรงบริสุทธิ์ยิ่ง)เมื่อเห็นอะไรที่ตื่นเต้น กล่าว “อัสตัฆฟิรุลลอฮฺ” (ฉันขออภัยต่อพระเจ้า)เมื่ออารมณ์เสียหรือรู้สึกผิด และกล่าว “อัลลอฮุอักบัรฺ” (พระเจ้าทรงยิ่งใหญ่)เมื่อเผชิญหน้ากับการท้าทายของชีวิต
วลีทั้งห้านี้หากกล่าวเป็นปกติ นอกจากจะเป็นการระลึกถึงและเป็นการรักษาความสัมพันธ์์กับอัลลอฮฺแล้ว ยังเป็นเหมือนการเสริมวิตามินสารพัดให้สุขภาพโดยรวม
โดย อาจารย์บรรจง บินกาซัน
Tags: