ซะกาต คืออะไร ซะกาตมีกี่ประเภท และ ความสำคัญของซะกาต ในอิสลาม
ความสำคัญของซะกาตในอิสลาม
คณะทำงานการกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2550, น.13)ได้มีการแบ่งรูปแบบสวัสดิการเป็น 4 ฐาน ซึ่ง ซะกาต ถือเป็นสวัสดิการฐานชีวิตวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นสวัสดิการพื้นฐานของชีวิต ในขณะที่ ระพีพรรณ คำหอม (2545, น. 273) ได้ กล่าวถึง “ซะกาต” ในความหมายที่ใกล้เคียงกัน คือ เป็น “สวัสดิการพื้นถิ่น” ที่เกิดจากฐานคิดทางศาสนา เป็นสวัสดิการเชิงวัฒนธรรมที่ไม่ได้ปรากฏรูปแบบชัดเจนให้คนภายนอกได้เข้าใจมากนัก ดังนั้น จึงไม่ ใช่เรื่องแปลกที่คำว่า “ซะกาต” จะไม่ใช่คำที่คุ้นเคยนักสำหรับศาสนิกอื่นที่มิใช่มุสลิม แต่เป็นสิ่งที่ผู้ศรัทธาในอิสลาม ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของศาสนา เนื่องจากเป็นหนึ่งในห้าข้อปฏิบัติที่มุสลิมต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ “ซะกาต” จึงถือเป็นการยืนยันการศรัทธาด้วยการปฏิบัติสำหรับมุสลิมทั่วโลก มิใช่เพียงชุมชนมุสลิมภาคใต้ของประเทศไทยเท่านั้น
“ซะกาต” ตามความหมายในเชิงภาษาศาสตร์ หมายถึง การทำให้สะอาดบริสุทธิ์ ความจำเริญ หรือการพัฒนา ในขณะที่ความหมายทางชารีอะฮฺ (หนทางปฏิบัติ หรือ วิถีชีวิตที่คนมุสลิมต้องดำเนินตาม) หมายถึง อัตราส่วนที่แน่นอนที่ได้จากทรัพย์สินที่แน่นอนซึ่งบังคับให้จ่ายแก่บุคคลที่แน่นอนหาก (อับดุลเลาะ บารู, 2549, น. 91) หรือความหมายที่ทำให้เข้าใจชัดเจนขึ้น คือ สวัสดิการซะกาต ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบสวัสดิการสังคมในอิสลามที่มุ่งเน้นให้สวัสดิการในการดูแลปกป้องบุคคลในสังคม ซึ่งเป็นภารกิจของปัจเจกบุคคลที่มีความสามารถ โดยที่หลักสวัสดิการนั้น ได้ครอบคลุมตั้งแต่ระดับอุดมการณ์ของสังคม จริยธรรมของบุคคลในสังคม พฤติกรรมการใช้ชีวิตในสังคม โดยมีความศรัทธาต่อพระเจ้าเป็นแกนกลาง และการช่วยเหลือด้วยทรัพย์สินเป็นกลไก เพื่อให้ผู้มีสิทธิรับซะกาต สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข (ศุภชัย สมันตรัฐ, 2548, น. 16) ดังนั้น เจตนาของการจ่ายซะกาต คือ การชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จากความตระหนี่ ขี้เหนียว ซึ่งเป็นโรคที่เป็นภัยต่อความเจริญทางจิตใจของสังคมมนุษย์ ซะกาตจึงเป็นสิ่งชำระล้างสังคมให้บริสุทธิ์จากการขัดแย้งระหว่างคนมีกับคนจน ซึ่งนอกจากจะเป็นการภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ยังมีความสัมพันธ์ต่อสังคมส่วนรวมอีกด้วย พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์มาด้วยความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถแตกต่างกัน ที่ทำให้รายได้ของแต่ละคนแตกต่างกันตามไปด้วย อิสลามไม่ต้องการให้ความแตกต่างด้านความสามารถ ด้านรายได้นี้ นำไปสู่ความแตกต่างด้านชนชั้น จนเกิดความขัดแย้งขึ้นจากความแตกต่างนั้น คนรวยไม่ใส่ใจคนยากจน มองดูด้วยสายตาเหยียดหยาม ในขณะที่คนยากจนมองคนรวยด้วยสายตาแห่งความอิจฉา และมีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้น อิสลามไม่ต้องการให้มีสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในสังคม ดังคำกล่าวของท่านศาสดามุฮัมหมัดที่ว่า “คนใดกินจนท้องอิ่ม แล้วปล่อยให้เพื่อนบ้านหิวโหย คนนั้นมิใช่มุสลิม” ซึ่งคำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาที่จะให้คนในสังคมใช้ชีวิตอย่างเกื้อกูลกัน
นอกจากนี้สิ่งที่ยืนยันความสำคัญของซะกาตในฐานะที่เป็นโครงสร้างสำคัญ 1 ใน 5 ของอิสลาม คือ ซะกาตมีการกล่าวถึงในอัลกุรอ่านควบคู่กับการละหมาด จำนวนหลายประโยค นั่นแสดงให้เห็นว่า เป็นบทบัญญัติที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะละหมาดเป็นหลักปฏิบัติเพื่อพระเจ้า เป็นเสาหลักของศาสนา ในขณะที่ซะกาตเป็นหลักปฏิบัติเพื่อมนุษย์
ประเภทของซะกาต
ประเภทของซะกาต (ทานบังคับ) แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ซะกาตอาหาร และซะกาตทรัพย์สิน
- ซะกาตอาหาร ภาษาอาหรับเรียกว่า “ซะกาตฟิตเราะห์” หมายถึง การที่มุสลิมทุกคน ต้องจ่ายทานบังคับให้แก่มุสลิม โดยใช้อาหารหลักของท้องถิ่นบริจาคตามพิกัดที่ถูกกำหนด สำหรับประเทศไทยซึ่งรับประทานข้าวให้บริจาคข้าวสาร จำนวน 2.75 ลิตร หรือ 4 ทะนาน หรือบริจาคเงินโดยคิดตามราคาข้าวสารในท้องถิ่นนั้น โดยผู้ที่ต้องจ่ายซะกาต คือ มุสลิมทุกคนทั้งชายและหญิงที่มีชีวิตอยู่ในวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน เพื่อนำไปมอบแก่มุสลิมที่มีความเหมาะสมที่จะรับซะกาต ซะกาตประเภทนี้ไม่ต้องรอกำหนดเวลา และไม่มีเงื่อนไขของจำนวนการบริจาค เพราะทุกคนต้องจ่ายเท่ากัน
- ซะกาตทรัพย์สิน ภาษาอาหรับ เรียกว่า “ซะกาตมาล” เป็นซะกาตที่มีการกำหนดเวลา และมีเงื่อนไขของจำนวน เก็บเฉพาะมุสลิมที่มีทรัพย์สินถึงจำนวนที่กำหนด ถ้ามีต่ำกว่า ไม่ต้องจ่ายซะกาต ทรัพย์สินที่ต้องจ่ายซะกาต มีดังนี้
- โลหะเงินและทองคำ เงินสด เงินในบัญชี หุ้น สินค้า หากมีมูลค่าเท่ากับราคาทองคำหนัก 85 กรัม หรือประมาณ 5.66 บาท (ทองคำ 1 บาท หนัก 15 กรัม) เมื่อครบรอบปีต้องจ่ายซะกาต 2.5% จากทรัพย์สินเหล่านี้
- ผลผลิตจากการเกษตร หากเป็นผลผลิตที่เกิดจากการใช้ระบบชลประทานที่ต้องลงทุน อัตราซะกาต คือ 5% หากไม่ใช้การชลประทานและอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว อัตราซะกาต คือ 10%
- ปศุสัตว์ เช่น แพะ แกะ วัว ควาย อูฐ เป็นต้น
- ขุมทรัพย์ที่พบได้ในแผ่นดิน
ขอบคุณข้อมูลจาก : krualee.com
Tags: