ลืมอ่านฟาติฮะห์ ละหมาดใช้ได้หรือไม่?
ไม่อ่าน หรือ ลืมอ่าน "ฟาติฮะห์" ละหมาดใช้ได้หรือไม่?
การอ่านฟาติฮะห์ ในละหมาด มีความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างอุลามาอฺในการอ่านซูเราะฮฺฟาติฮะห์ในละหมาด บางท่านถือว่า วายิบต้องอ่านฟาติฮะห์ และบางท่านถือว่า ไม่วายิบต้องอ่านฟาติฮะห์ แต่วายิบต้องมีการอ่านเฉยๆ (ไม่เจาะจงต้องเป็นฟาติฮะห์)
หากเราไม่อ่านฟาติฮะห์หลังจากอีหม่ามอ่านจบในละหมาดที่อ่านเสียงดัง ละหมาดใช้ได้หรือไม่?
ตามมัซฮับอัช-ชาฟีอียฺ การอ่านสูเราะฮฺ อัล-ฟาติฮะห์เป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) สำหรับอิหม่ามและผู้ที่ละหมาดคนเดียวในทุกรอกอะฮฺ และจำเป็นสำหรับมัสบูก [1] ในสิ่งที่มัสบูกกระทำทันพร้อมกับอิหม่ามโดยไม่มีข้อขัดแย้ง ส่วนผู้เป็นมะอฺมูมนั้น ตามมัซฮับที่ถูกต้องถือว่าการอ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติฮะห์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้เป็นมะอฺมูมในทุกรอกอะฮฺของการละหมาดทั้งที่อ่านเสียงค่อยและเสียงดัง
และอิหม่ามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวไว้ในอัล-เกาะดีมว่า : ไม่จำเป็นสำหรับมะอฺมูมในการอ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติฮะห์ในละหมาดที่อ่านเสียงดัง และอัชชัยคฺ อบูหามิดได้ถ่ายทอดในอัต-ตะอฺลีกของท่านจากอัล-เกาะดีม และอัล-อิมลาอฺ ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า อัล-อิมลาอฺเป็นส่วนหนึ่งจากเกาลุนญะดีด และอัล-บันดะนัยญียฺถ่ายทอดจากอัล-เกาะดีมและอัล-อิมลาอฺ และบทที่ว่าด้วยการละหมาดวันศุกร์จากเกาลุนญะดีด (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 3/321)
และเมื่อเรากล่าวว่า การอ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติฮะห์ ไม่วาวิญิบสำหรับมะอฺมูมในละหมาดที่อ่านเสียงดัง นั่นหมายถึงรอกอะฮฺของละหมาดที่มีบทบัญญัติให้อ่านเสียงดัง ส่วนรอกอะฮฺที่ 3 ของละหมาดมัฆริบและอิชาอฺ ตลอดจนรอกอะฮฺที่ 4 ของละหมาดอิชาอฺก็จำเป็นที่มะอฺมูมต้องอ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติฮะห์ในรอกอะฮฺดังกล่าวโดยไม่มีข้อขัดแย้ง (อ้างแล้ว 3/321)
ดังนั้นหากถือตามทัศนะของมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺที่ถูกต้อง (اَلْمَذْهَبُ الصَّحِيْحُ) การไม่อ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติฮะห์ของมะอฺมูมหลังจากอิหม่ามอ่านจบในละหมาดที่อ่านเสียงดัง ก็ถือว่าละหมาดของมะอฺมูมใช้ไม่ได้ แต่ถ้าถือตามทัศนะที่ปรากกฏในเกาลุนเกาะดีมและตำราที่ถ่ายทอดเกาลุนญะดีดของอิหม่ามอัช-ชาฟิอียฺก็ถือว่าการละหมาดของมะอฺมูมใช้ได้
ส่วนกรณีของหนังสือบางเล่มที่ระบุอัล-หะดีษซึ่งมีสำนวนว่า “เมื่ออิหม่ามอ่าน พวกท่านทั้งหลายจงนิ่งฟัง” นั้นสายรายงานของอิหม่ามมุสลิมรายงานจากท่านอบูมูสา อัล-อัชอะรียฺ (ร.ฎ.) เป็นหะดีษเศาะฮีหฺ ซึ่งนักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺอธิบายว่า นั่นคือในขณะที่อิหม่ามอ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺก็ให้มะอฺมูมตั้งใจฟัง เมื่ออิหม่ามอ่านอัล-ฟาติฮะห์จบก็ควรหยุดนิ่งครูหนึ่งตามระยะเวลาที่พอสำหรับการที่มะอฺมูมจะอ่านอัล-ฟาติฮะห์จบก็คือว่าไม่ขัดกับใจความของอัล-หะดีษที่รายงานโดยอิหม่ามมุสลิม
ส่วนหะดีษทสำนวนเดียวกันนี้ที่รายงานโดยอบูดาวูด อัต-ติรมีซียฺ และอันนะสาอียฺ จากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) นั้น อัล-บัยฮะกียฺระบุว่า เป็นถ้อยคำที่มิได้ถูกท่องจำ (ฆอยรุ้ มะหฺฟูเซาะฮฺ) จากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) (กิตาบ อัล-มัจญมูอฺ เล่มที่ 3/326)
ส่วนที่ถามว่าเมื่อเรามาละหมาดโดยตักบีเราะตุลอิหฺรอมขณะที่อิหม่ามกำลังอ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติฮะห์หรือสูเราะฮฺที่มีสุนนะฮฺให้อ่านหลังอ่านฟาติหะฮฺก็ให้เราหยุดฟังหลังการตักบีเราะตุลอิหฺรอม เมื่ออิหม่ามอ่านฟาติฮะห์จบ เราก็อ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติฮะห์ของเรา ส่วนเมื่ออิหม่ามกำลังอ่านสูเราะฮฺอื่นอยู่ เราก็อ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติฮะห์ของเรา เมื่อจบแล้วก็ฟังอิหม่ามอ่านสูเราะฮฺต่อไปโดยนิ่งฟัง
[1] มัสบูก คือ ช่วงระยะเวลาการยืน (กิยาม) ของมะอ์มูมพร้อมกับอิหม่าม น้อยกว่าระยะเวลาการอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์จนจบทั้งซูเราะฮ์ของคนส่วนใหญ่ ไม่อ่านเร็วเกินไปและไม่ช้าเกินไป จะต้องนับว่าระยะเวลาปานกลางในการอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์นั้น ส่วนใหญ่ใช้เวลาเท่าใดเป็นเกณฑ์ มิใช่ยึดเวลาของอิหม่ามหรือมะอ์มูม
คุณอาจกำลังสนใจสิ่งนี้อยู่
Tags: