เมื่อลูกๆ แต่งงานไปแล้ว พ่อแม่ควรปฎิบัติตัวอย่างไร ตามหลักอิสลาม
หน้าที่ของพ่อแม่ที่ปฏิบัติต่อลูกที่แต่งงานแล้วทางหลักศาสนาอิสลาม
ครอบครัวในทัศนะอิสลาม
ความสำคัญของครอบครัว
ในวิชามนุษย์วิทยาแบ่งครอบครัวออกเป็นสามประเภทคือ
ครอบครัวจุดเริ่มต้น หรือครอบครัวเดียว มีสามี, ภรรยาและลูก เป็นจุดเริ่มต้น
ถ้ามีญาติมาอาศัยอยู่ด้วย ก็เรียกว่า ครอบครัวขยาย
ครอบครัวที่มีครอบครัวอื่นมาอยู่ร่วมด้วย เช่นในบ้านเดียวกันมีหลายครอบครัว เรียกว่า ครอบครัวซับซ้อน
ครอบครัวในเอเชียหรือจะว่าในตะวันออกต่างจากครอบครัวในยุโรปและอเมริกา หรือในตะวันตก เมื่อชาวตะวันตกแต่งงาน เขาก็มีบ้านต่างหาก เมื่อมีลูกก็หาสำนักงานเลี้ยงลูก แต่เมื่อชาวตะวันออกแต่งงาน พ่อแม่ยังเป็นห่วง บางรายก็อยู่ที่บ้านของฝ่ายชาย หรือฝ่ายหญิง ยังมีคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ยังมีความเป็นห่วงลูกห่วงหลาน ยังไม่อยากพรากจากกันอย่างซาบซึ้งในชีวิตของครอบครัว
ซึ่งลักษณะและวัฒนธรรมเช่นนี้เราจะไม่พบในยุโรป เพราะฉะนั้น ครอบครัวของชาวตะวันออกจึงอบอุ่นและมีชีวิตมีความเป็น “คน” มากกว่าครอบครัวของชาวตะวันตก
ครอบครัวจะเป็นอย่างไร มีกี่ชนิดก็ตาม แต่อิสลามถือว่า ครอบครัวเป็นหน่วยสำคัญของบ้าน เป็นจุดเริ่มต้นของสังคม เรื่องของครอบครัวจึงสำคัญกว่าปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมือง ความสงบสุขของสังคมจะเป็นในด้านเศรษฐกิจหรือการเมืองก็ตามต้องสืบมาจากความผาสุกในครอบครัวก่อน คือต้องมีกิน มีใช้ มีความสมัครสมานปรองดองกัน ถ้าในบ้านไม่มีข้าวสารกรอกหม้อ สามีกินเหล้า ภรรยาเล่นไพ่ ลูกเป็นอันธพาล ถึงแม้ว่าครอบครัวนั้นจะมั่งคั่งแต่มีความประพฤติเสีย ถึงแม้ว่าประเทศนั้นจะมีเศรษฐกิจดีไม่เสียเปรียบในดุลการค้า เสถียรภาพของการเมืองมั่นคง ก็เป็นแต่ของเทียมเท่านั้น หาใช่ชีวิตที่แท้จริงไม่ ความผาสุกของครอบครัวจึงเป็นบ่อเกิดแห่งอารยธรรมและวัฒนธรรม
ในครอบครัวของมุสลิม ชายและหญิงมีสิทธิ์เท่าเทียมกันตามหน้าที่ เพราะอิสลามกล่าวว่า ชายและหญิงมาจากเชื้อเดียวกัน
4:1 “มนุษย์เอ๋ย! จงสำรวมตนต่อพระผู้อภิบาลของสูเจ้าผู้ได้ทรงสร้างสูเจ้าจากอินทรีย์หนึ่ง และได้ทรงสร้างจากอินทรีย์นั้นซึ่งคู่ครองของมัน และได้ทรงแพร่จากทั้งสองซึ่งผู้ชายมากมายและผู้หญิง (มากมาย) และจงสำรวมตนต่ออัลลอฮฺพระผู้ซึ่งสูเจ้าต่างเรียกร้อง (สิทธิ) ต่อกันและกัน และ(จงรักษา) การสัมพันธ์ทางเครือญาติ แท้จริง อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเฝ้าดูเจ้าเสมอ”
ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม สามีหรือภริยาก็ดี จะได้รับผลตอบแทนการงานของตนตามที่ตนได้ประกอบไว้
16:97 “ผู้ใดกระทำการดี จะเป็นเพศชายหรือหญิงก็ตาม และเขาเป็นผู้ศรัทธา ดังนั้น ! แน่นอน-เราจะให้เขาดำรงชีวิตที่ดี และแน่นอน-เราจะตอบแทนพวกเขาโดยประเสริฐยิ่งตามที่พวกเขากระทำ”
จุดประสงค์ของการมีครอบครัว
การมีครอบครัวเป็นสัญชาติญาณของมนุษย์ ในสมัยโบราณชายจะมีภรรยากี่คนก็ได้ หรือหญิงจะมีสามีกี่คนก็ได้ ใครจะเล่นชู้กับใครก็ได้ สรุปแล้วก็คือการแสดงออกซึ่งสัญชาติญาณของการร่วมประเวณี จะเป็นในทางที่ถูกต้องหรือไม่ก็ตาม
จุดประสงค์ของการมีครอบครัวในอิสลาม ก็เพื่อความสงบใจ ไม่ไปทำชู้ และตั้งหน้าทำนุบำรุงบ้านให้เป็นหน่วยที่ดีของสังคม
30:20-21 “และ(หนึ่ง) ในสัญญาณทั้งหลายทั้งหลายของพระองค์คือ พระองค์ได้ทรงบังเกิดสูเจ้าจากธุลี แล้วเมื่อนั้น-ดูเถิด-สูเจ้าได้เป็นมนุษย์แผ่ขยายออกไป และ(หนึ่ง) ในสัญญาณทั้งหลายของพระองค์คือ พระองค์ได้ทรงสร้างจาก (เชื้อเดียวกันแห่ง) หมู่สูเจ้าซึ่งคู่ครองสำหรับสูเจ้า แท้จริง ! ในนั้น-แน่นอน-มีสัญญาณสำหรับชนผู้ตรึกตรอง”
25:74 “และบรรดาผู้กล่าว (วิงวอน) ว่า : ข้าแต่พระผู้อภิบาลของเรา ! ได้ทรงโปรดประทานแก่เราซึ่งคู่ครองของเราและลูก ๆ ของเราเป็นที่เย็นตา (หรือชื่นชม) แก่สายตา (ของเราโดยที่พวกเขาเป็นผู้ภักดีต่ออัลลอฮฺ) และได้ทรงทำให้เราเป็นแบบอย่างของปวงผู้สำรวมตนจากความชั่ว”
หน้าที่ของพ่อบ้านและแม่บ้าน
ตามศาสนาอิสลามถือว่า พ่อบ้านเป็นช้างเท้าหน้า และแม่บ้านเป็นช้างเท้าหลังสามีเป็นผู้ปกครองอุปการะครอบครัว
4:34 “ผู้ชายเป็นผู้ปกครองเลี้ยงดูผู้หญิง โดยที่อัลลอฮฺได้ทรงโปรดปรานให้บางคนในหมู่พวกเขาเหนือกว่าอีกบางคน และโดยที่พวกเขาใช้จ่ายจากสมบัติของพวกเขา (เลี้ยงดูนาง)”
ตามสามัญสำนึกของพ่อบ้าน และแม่บ้านหรือสามีภรรยาคือ ผู้ร่วมรับผิดชอบในการนี้เลี้ยงดูครอบครัว ถ้าจะเปรียบก็ว่าสามีเป็นฝ่ายบู๊ส่วนภริยาเป็นฝ่ายบุ๋น คือดูแลการบ้านเรือน ศาสนาอิสลามถือว่า ครอบครัวมาก่อน เพราะฉะนั้น ภรรยาจึงมีหน้าที่รับผิดชอบในครอบครัว ในการดูแลบ้านเรือน ในสมัยนี้ ผู้หญิงออกไปทำงานนอกบ้านปล่อยให้สถาบันต่าง ๆ ทำหน้าที่เลี้ยงดูลูกเต้าแทน แทนที่จะได้กินนมมารดา กลับกินนมแป้ง แทนที่จะได้รู้จักความอบอุ่นจากพ่อแม่ กลับมีแต่ความว้าเหว่และกระด้าง ทารกสมัยใหม่ในประเทศตะวันตกหรือประเทศที่รุดหน้าทางวัตถุนิยมเป็นเช่นนี้ ซึ่งอิสลามไม่สนับสนุน
อัล-กุรฺอาน ได้กล่าวถึงหน้าที่ของพ่อแม่ไว้ตอนหนึ่งว่า
66:6 “บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ! จงช่วยตัวของสูเจ้าและครอบครัวของสูเจ้าให้พ้นจากไฟนรก”
โองการนี้กล่าวถึงพ่อบ้านให้ปกป้องตนเองและครอบครัวของตนให้พ้นจากไฟนรก ด้วยการอยู่ในทางที่ดีงาม ไม่ใช่อยู่ในทางที่เสียหายอันนำไปสู่ความหายนะ ได้กล่าวถึงแม่บ้านว่า
33:34 และ(พวกเธอ) จงรำลึกถึง (โดยการอ่านและท่องจำปฏิบัติตามอัล-กุรฺอาน) ซึ่งได้ถูกอ่าน (โดยท่านนบี) ในเหย้าเรือนของพวกเธอ-คือโองการทั้งหลายของอัลลอฮฺและวิทยปัญญา แท้จริง ! อัลลอฮฺทรงรอบรู้ที่ละเอียดอ่อน ทรงตระหนักเสมอ”
ในที่นี้จะเห็นได้ว่า ครอบครัวที่ดีนั้นคือครอบครัวที่มีศาสนาที่มีจริยธรรม และสิ่งเหล่านี้มาจากแม่ก่อนอื่น เพราะแม่เป็นครูคนแรกของลูก นอกจากให้รู้เรื่องในศาสนธรรมแล้ว แม่ยังต้องพยายามให้ลูกได้เข้าใจวิทยาการต่างๆ ด้วย จะเป็นโอวาทจากท่านนบีมุหัมมัด (ซ้อล ฯ) หรืออื่นใดก็ตาม อันเป็นวิชาที่ยังประโยชน์
อุปมาภาระของมารดาและความหวังดีของพ่อแม่
46:15 “และเราได้สั่งมนุษย์ให้ทำการดีต่อพ่อแม่ของเขา แม่ของเขาได้อุ้มครรภ์เขาด้วยความเหนื่อยยาก และได้คลอดเขาด้วยความเจ็บปวด”
17:23 “และพระผู้อภิบาลของเจ้าได้ทรงบัญชาว่า :สูเจ้าจงอย่าเคารพภักดีผู้ใดนอกจากพระองค์เท่านั้น และจงทำการดีต่อพ่อแม่ ถ้าผู้ใดในทั้งสองลุวัยชราอยู่กับสูเจ้า ดังนั้น! จงอย่ากล่าวแก่ทั้งสองว่า “อุฟ” (เช่น เฮ้ย-เออ-อือ) และจงอย่าตะเพิดทั้งสอง แต่จงพูดแก่ทั้งสองซึ่งถ้อยคำที่อ่อนโยนยิ่ง”
17:24 “และจงน้อมแก่ทั้งสองซึ่งปีกทั้งสอง (หมายถึงความเข้มแข็ง) แห่งความถ่อมตนเนื่องจากความเมตตา (คือให้ปฏิบัติต่อแม่ด้วยคารวะและมีความเอ็นดูเมตตา) และจงกล่าวว่า : ข้าแต่พระผู้อภิบาลของฉัน !ได้ทรงโปรดเมตตาแก่ทั้งสองเช่นที่ทั้งสองได้เลี้ยงดูฉันเมื่อยังเล็ก”
ที่กล่าวนี้เป็นหน้าที่ของมุสลิมพึงมีต่อครอบครัว ซึ่งมีพ่อแม่ของเราร่วมอยู่ด้วย
ในฮะดีซ (รายงาน)มีว่า
ท่านอบูสะอีด อัล-คุดรีกล่าวว่า : ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ้อล ฯ) ได้กล่าววว่า : “ผู้ใดที่มีลูกสาวสามคนหรือน้องสาวสามคน หรือลูกสาวสองคน หรือน้องสาวสองคน และเขาได้เลี้ยงดูปฏิบัติเธออย่างดี และได้สำรวมตนต่ออัลลอฮฺเนื่องด้วยเธอเหล่านั้น สำหรับชายคนนั้นมีสวนสวรรค์”
นี่ก็เป็นหน้าที่หนึ่งของมุสลิมที่มีต่อครอบครัว ซึ่งเป็นครอบครัวแบบครัวซับซ้อน หรือคอมเพล็กซ์
ได้มีฮะดีซ (รายงาน)เล่าโดยท่านหญิงอาอิชะฮฺว่า “มีผู้หญิงคนหนึ่งพาลูกสาวของนางมาหาฉันแล้วก็ขออาหารจากฉัน แต่เวลานั้นฉันไม่มีอะไรเลยนอกจากลูกอินทผลัมลูกเดียว ฉันจึงให้ลูกอินทผลัมแก่นาง นางได้บิออกเป็นสองซีกแบ่งให้ลูกของนาง ส่วนตัวนางเองไม่ได้กินอะไรแล้วก็จากไป หลังจากนั้นท่านนบีมุหัมมัด (ซ้อล ฯ) ได้มา ฉันจึงเล่าเรื่องนี้ให้ท่านฟัง ท่านกล่าวว่า : ผู้ใดก็ดีที่ได้ถูกทดลองให้ได้รับความลำบากเนื่องด้วยลูกของคนนั้นเขาจะถูกกั้นออกจากไฟนรก
นี่ก็เป็นหลักฐานอีกข้อหนึ่งที่พ่อบ้าน แม่บ้านหรือสามีภริยาต้องมีต่อครอบครัว ความลำบากที่ว่าอันเนื่องด้วยลูกของตนเองนี้ ก็คือการแสดงออกซึ่งความรักอันแท้จริงของพ่อแม่ต่อลูกนั่นเอง
การสมรสคืออะไร ? ทำอย่างไร ? อยู่อย่างไร
ศาสนาอิสลามถือว่า การสมรสเป็นพันธะซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องยินยอมด้วยกัน จะสมรสได้ต่อเมื่ออายุถึงเกณฑ์ความเป็นผู้ใหญ่ คือ มีความรู้สึกทางเพศ มีความรับผิดชอบ การสมรสกันแต่เด็ก ๆ โดยที่ต่างฝ่ายต่างยังไม่รู้หน้าที่ของตนนั้น จึงค้านต่อหลักการของอิสลาม ในการสมรสนั้นให้มีการสู่ขอ ให้มีของหมั้น ซึ่งตกเป็นของหญิงโดยเฉพาะ ให้มีพยานอย่างน้อยสองคน จึงเห็นได้ว่า การสมรสนั้นเป็นเรื่องที่ศาสนาส่งเสริมและให้ทำอย่างเปิดเผย อิสลามไม่ส่งเสริมการล่วงประเวณี การผิดในกาม แต่ส่งเสริมชีวิตสมรส ท่านนบีมุหัมมัด (ซ้อล ฯ) ได้กล่าวว่า
“ฉันได้สมรส ดังนั้น ! ผู้ใดอยู่ห่างจากแนวทางของฉัน เขาไม่ได้อยู่ในประชาคมของฉัน
ได้มีรายงานจากท่านอัล-เกาะมะฮฺว่า ครั้งหนึ่งฉันเดินไปกับท่าน อับดุลลอฮฺ อิบนิ-มัสอูด เขาบอกว่า เราอยู่ร่วมกับท่านนบีมุหัมมัด (ซ้อล ฯ) ท่านได้กล่าวว่า : ผู้ใดก็ดีในหมู่พวกท่านที่มีความสามารถเพียงพอจะสมรสได้ก็ควรสมรส เพราะมันเป็นวิธีที่ดียิ่งที่จะหลบสายตาลงต่ำ และรักษาความบริสุทธิ์ของตน ส่วนผู้ใดไม่มีความสามารถจะสมรสได้ ก็จงให้เขาถือศีลอด เพราะมันจะดับความใคร่ของเขาได้ (คัดจากอัล-บุคอรี)
ในอัล-กุรฺอานก็ได้พิจารณาชีวิตของการสมรสไว้อย่างลึกซึ้ง
2:187 “นางเป็นอาภรณ์สำหรับสูเจ้า และเจ้าเป็นอาภรณ์สำหรับนาง”
เพราะฉะนั้น ชีวิตครอบครัวของมุสลิมจึงเป็นชีวิตที่ต้องร่วมกัน เชิดชูกันร่วมเดินทางกันไปในเส้นขนานที่ดี
การครองเรือน และการหย่าในทรรศนะของอิสลาม
เพื่อจะได้มีการครองเรือนที่ดี ท่านนบี มุหัมมัด (ซ้อล ฯ) ได้กล่าวไว้มีฮะดีซ (รายงาน)ว่า
ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ รายงานว่า : ท่าน นบีมุหัมมัด (ซ้อล ฯ) ได้กล่าวว่า “ผู้หญิงถูกสมรสเนื่องด้วยสี่ประการ คือด้วยทรัพย์สินของนาง เนื่องด้วยตระกูลอขงนาง เนื่องด้วยความสวยของนาง เนื่องด้วยศาสนาของนาง ดังนั้นจงประสบความสำเร็จด้วยการสมรส กับหญิงที่มีศาสนา (คัดจาก อัล-บุคอรี)
มีคนถามท่านนบีมุหัมมัด (ซ้อล ฯ) ว่า :ผู้หญิงอย่างไหนที่ดีที่สุด ? ท่านได้ตอบดังมีฮะดีซ (รายงาน)ว่า
ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺได้รายงานว่า ได้มีคนมาถามท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ้อล ฯ) ว่า: ผู้หญิงอย่างไหนที่จัดว่าประเสริฐสุด ? ท่านตอบว่า : “คือนางผู้ยังความชื่นใจแก่สามีของนางเมื่อเขามองดูนาง นางผู้นอบน้อมภักดีเมื่อเขาสั่งนาง และมิได้ขัดแย้งกับสามีในตัวของนางและทรัพย์สินของนางอันจะทำให้เขาไม่พึงใจ” (คัดจาก นะสาอี)
ท่านอับดุลลอฮฺ บิน-อัมร บินอัล-อาส ได้กล่าวว่า “ท่านนบีมุหัมมัด (ซ้อล ฯ) ได้กล่าวว่า : ทุกสิ่งในโลกล้วนเป็นปัจจัย แต่ปัจจัยที่เลิศที่สุดของโลกนี้คือหญิงกัลยาณี” (คัดจาก นะสาอี)
ถึงแม้ว่า ชีวิตในครอบครัวจะมีหลักเกณฑ์อย่างใดก็ตาม ก็อาจมีเรื่องระหองระแหงกันได้ แต่อิสลามให้คู่ผัวเมียอดทนจนถึงที่สุด เพราะถือว่าการหย่าร้างกันนั้นเป็นเรื่องน่ารังเกียจ
ท่านอิบนิ อุมัรได้กล่าวว่า “ท่านนบี มุหัมมัด (ซ้อล ฯ) ได้กล่าวว่า : สิ่งที่ถูกอนุมัติอันน่ารังเกียจ
ท่านอิบนิ อุมัรได้กล่าวว่า “ท่านนบีฯ (ซ้อล ฯ) ได้กล่าวว่า : สิ่งที่ถูกอนุมัติอันน่ารังเกียจยิ่งในทรรศนะของอัลลอฮฺคือการหย่า”
การหย่าจึงใช่เรื่องทำกันง่าย เพราะฉะนั้น-ในอิสลามจึงมีระเบียบของการหย่าคือ เมื่อหย่ากันแล้ว ฝ่ายหญิงจะต้องคอยจนครบสามเดือนเพื่อให้รู้ว่าจะมีครรภ์หรือไม่ แล้วจึงจะสมรสใหม่ได้ ในระหว่างที่คอยนั้นให้คืนดีกันได้ ห้ามหย่าเวลามีระดู ห้ามหย่าเมื่อโมโหโทโส จะต้องมีพยานสองคนเวลาหย่า หากหย่าต่างวาระครบสามครั้งแล้ว ให้สมรสกับชายอื่น เมื่อชายอื่นหย่าแล้ว คอยจนครบสามเดือนแล้ว จึงจะคืนดีกับสามีเดิมหรือสมรสอีกได้
เพราะฉะนั้น – ตามหลักการอิสลาม การหย่าจึงไม่ใช่เรื่องทำกันง่าย ๆ นัก อัลลอฮฺทรงให้ฝ่ายสามีมีความอดกลั้นมากที่สุด โดยให้พิจารณาในแง่ดีของภรรยาบ้าง
4:19 “ดังนั้น ถ้าสูเจ้าชังนาง (โดยนางมิได้ทำผิด) ก็อาจจะเป็นเพราะว่า สูเจ้าชังสิ่งหนึ่ง และอัลลอฮฺได้ทรงทำให้มีความดีมากมายในนั้น”
หากมีทางปรองดองกันได้ ก็ให้หาตุลาการตัดสินเพื่อจะได้อยู่ครองเรือนกันต่อไป (4:35)
หัวหน้าครอบครัวและผู้อยู่ใต้ปกครองจะถูกสอบสวน
ได้กล่าวแต่ต้นแล้วว่า ความรับผิดชอบ คือการถูกสอบสวน เมื่อรู้ว่าตนจะถูกสอบสวนก็จำต้องปฏิบัติหน้าที่ให้สมบูรณ์และซื่อสัตย์สุจริต ดังมีฮะดีซ (รายงาน)ว่า
ท่านอิบนิ อุมัรได้ยินท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ้อล ฯ) กล่าวว่า “ทุก ๆ คนในหมู่พวกท่าน-เป็นผู้ปกครอง และจะถูกสอบสวนเกี่ยวกับพสกนิกร และผู้ชาย (คือสามี) เป็นผู้ครองในครอบครัวของเขา และเขาจะถูกสอบสวนเกี่ยวกับผู้อยู่ใต้ปกครองผู้หญิง (คือภรรยา) ก็เป็นผู้ปกครองในบ้านของสามีของนาง และนางจะถูกสอบสวนเกี่ยวกับผู้อยู่ใต้ปกครองของนาง ส่วนคนใช้ก็เป็นผู้ปกครองทรัพย์สินของนายของเขา และเขาจะถูกสอบถามเกี่ยวกับผู้อยู่ใต้ปกครองของเขา” (คัดจาก อัล-บุคอรี)
เมื่อพิจารณาตามนี้ก็เห็นได้ชัดว่า มุสลิมมีความรับผิดชอบต่อครอบครัวของตนเองอย่างเต็มประตู ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะอะไรก็ตาม
สวนสวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้ามารดา-คืออะไร
ท่านมุอาวิยะฮฺ อิบนิ-ญาฮิมะฮฺกล่าวว่า “ท่านญาฮิมะฮฺมาหาท่านนบีมุหัมมัด (ซ้อล ฯ) แล้วกล่าวว่า: โอ้-ท่านรสูลุลลอฮฺ ฉันต้องการเป็นพลรบ และได้มาหาท่านเพื่อปรึกษาท่าน ท่านจึงถามว่า : เจ้ามีแม่ไหม เขาตอบว่า : มี ท่านจึงบอกว่า : ดังนั้นจงอยู่กับแม่เถิด เพราะสวนสวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้าทั้งสองของนาง” (คัดจาก นะสาอี)
จะเห็นได้ว่า ความรับผิดชอบที่บุคคลมีต่อมารดาของตนด้วยการรับใช้ปรนนิบัติท่านให้อยู่ดี-กินดี มีความสุขนั้น เท่ากับผู้นั้นจะสะสมความดี เพราะการปฏิบัติเช่นนี้ได้มรรคผล
มุสลิมอบรมสมาชิกในครอบครัวอย่างไร
ครั้งหนึ่งมีคนแก่คนหนึ่งมาหาท่านนบีมุหัมมัด (ซ้อล ฯ) บรรดาสาวกก็เชือนแชที่จะให้ที่แก่คนแก่นั้น ท่านจึงได้มีฮะดีซ (รายงาน)ว่า
ท่านอิบนิ อับบาส ได้รายงานว่า “ท่าน รสูลุลลอฮฺ (ซ้อล ฯ) ได้กล่าวว่า คนใดที่ไม่เมตตาต่อผู้เยาว์ และไม่ให้เกียรติแก่ผู้สูงอายุ คนนั้นไม่ได้อยู่ในประชาคมของฉัน (คัดจาก อัต-ติรมีซี)
การอบรมสมาชิกในครอบครัว จึงมีในด้านศาสนา ในด้านการศึกษา ในด้านสังคม ดังที่ท่านนบีมุหัมมัด (ซ้อล ฯ)ได้กล่าวว่า การแสวงหาวิชาความรู้เป็นหน้าที่แก่มุสลิมชายและหญิง ซึ่งรวมทั้งการศึกษาด้านศาสนา จริยศึกษาและวิชาอื่น ๆ เพื่อประกอบอาชีพต่อไป
เมื่อเราเทียบสังคมของมุสลิมของสังคมอื่น เราจะเห็นว่ามีข้อผิดแผกแตกต่างกันเนื่องจากสังคมมุสลิมต้องอยู่ในกฏเกณฑ์ มีระเบียบวินัย มีอัล-กุรฺอานเป็นพระบัญญัติ มีท่านนบี มุหัมมัด (ซ้อล ฯ) เป็นผู้นำและให้แบบอย่าง ซึ่งมุสลิมจะต้องปฏิบัติตาม จะไปเอาแบบอย่างที่ทำให้ละเมิดบัญญัติไม่ได้ ดังมีปรากฏว่า
โดยแน่นอนยิ่ง-ได้มีสำหรับสูเจ้าแล้วในรสูลุลลอฮฺ ซึ่งแบบอย่างอันดีงามสำหรับผู้หวัง (ด้วยความมั่นใจ) ใน (การพบ) อัลลอฮฺ และ (เชื่อว่ามี) วันสุดท้าย และ (โดยเหตุนี้) เขารำลึกถึงอัลลอฮฺมาก
เพราะฉะนั้น เมื่อมุสลิมจะประกอบกิจการใด ก็จะต้องคำนึงเสมอว่า ผิดต่อระเบียบแบบแผนของศาสนาอิสลาม เพราะระเบียบแบบแผนนั้นเป็นสังคมของมุสลิมนั่นเอง
ข้อมูลจาก : quran.al-shia.org
Tags: