เปิดโลก การเงินอิสลาม เรียนรู้เรื่องธุรกรรมอิสลาม ระบบดอกเบี้ย ระบบเงินกู้
การเงินอิสลาม การปะทะระหว่างอารยธรรมเป็น "มายาคติ"
เปิดโลก การเงินอิสลาม
คอลัมน์ ล่องคลื่นโลกาภิวัฒน์ โดย สฤณี อาชวานันทกุล ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3925 (3125)
ท่ามกลางบรรยากาศอันร้อนระอุของการเมืองโลก นักคิดฝ่าย "ขวาจัด" ผู้ทรงอิทธิพลหลายคน อาทิ แซมมวล ฮันติงตัน (Samuel Huntington) ได้ขนานนามยุคนี้ว่า เป็นยุคแห่ง "การปะทะระหว่างอารยธรรม" ระหว่างอารยธรรมที่เขาเรียกว่า "โลกตะวันตก" กับ "โลกอิสลาม"
นักคิดนักเศรษฐศาสตร์หลายคนแย้งว่า การปะทะระหว่างอารยธรรมเป็น "มายาคติ" ที่ไม่มีอยู่จริง แต่เป็นการต่อสู้ระหว่างคนกลุ่มน้อยสองกลุ่มมากกว่า คือ กลุ่มผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรง กับรัฐบาล "สายเหยี่ยว" ของอเมริกาภายใต้ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช นักคิดเหล่านี้มองว่า มุมมองแบบฮันติงตันไม่มีอะไรมากไปกว่าอคติที่แฝงเร้น เพราะเป็นการเหมารวมว่า ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในจำนวนกว่า 1.2 พันล้านคนทั่วโลก "สนับสนุน" การกระทำของกลุ่มผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรง ซึ่งมีจำนวนเพียง 190,000 คน ถ้าเชื่อตัวเลขในฐานข้อมูลของสำนักงานสืบสวนสอบสวนกลางของสหรัฐ (เอฟบีไอ) และในทางกลับกัน มุมมองนี้ก็เหมารวมด้วยว่า พลเมืองในโลกตะวันตกส่วนใหญ่สนับสนุนนโยบาย "ขวาจัด" ของรัฐบาลบุช ทั้งๆ ที่ชาวอเมริกันกว่า 49 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ลงคะแนนเลือกบุชในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2004 และหลังจากนั้นคะแนนนิยมของบุชในประเทศตัวเองก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียงราวๆ 30 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนกรกฎาคม 2550
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
- ประกันฮาลาล ตะกาฟุล ประกันชีวิต เป็น ฮาลาลหรือหะรอม
- ธุรกิจต้องห้ามในศาสนาอิสลาม
- ริบา(ดอกเบี้ย) บาปใหญ่ที่ต้องหลีกเลี่ยง
- การเงินอิสลาม รูปแบบทางการเงินที่อิสลามควรรู้
- ทำไม มุสลิมถึงห้ามกินดอกเบี้ย ?
อย่างไรก็ดีเหตุการณ์ก่อการร้ายหรือข่าว เกี่ยวกับการยับยั้งแผนก่อการร้ายที่เรายังได้ยินอยู่เนืองๆ ตลอดจนสถานการณ์ความไม่สงบในอิรัก ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้มายาคติของฮันติงตันทวีอิทธิพลทางความคิดมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะในขณะที่คนจำนวนมากกำลังหมกมุ่นอยู่กับมายาคตินี้ โลกการเงินอิสลามยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งเป็นตลาดที่หลายฝ่ายประเมินว่า มีขนาดถึง 7-9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ก็กำลังเติบโตอย่างน่าตื่นเต้นและน่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะช่วยให้ชาวมุสลิมจำนวนมาก เข้าถึงแหล่งทุนแล้ว ยังช่วยให้นักธุรกิจ นักลงทุน และนักการเงินการธนาคารได้มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอิสลาม ได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่มีความ "น่าลงทุน" ไม่แพ้เครื่องมือในระบบการเงินกระแสหลัก อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างทัศนคติอันดีเกี่ยวกับศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในโลกอีกด้วย
สำหรับหลักชาริอะฮ์ (Shariah คือ ระบบกฎหมายและจริยธรรมอิสลาม) ข้อสำคัญๆ ที่เป็นพื้นฐานของระบบ การเงินอิสลาม และทำให้ระบบนี้แตกต่างจากระบบ การเงิน ทั่วไปในสาระสำคัญ ผู้เขียนจะขอหยิบยกบางส่วนจากหนังสือเรื่อง Islamic Financial Services ของ ดร.โมฮัมเหม็ด โอบายดุลลาห์ (Mohammed Obaidullah) ซึ่งเผยแพร่ฟรี ในรูปหนังสืออิเล็กทรอนิกส์บนเว็บไซต์ https://islamiccenter.kau.edu.sa/english/publications/Obaidullah/ifs/ifs.html มาเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้ :
ระบบ การเงินอิสลาม
1) ห้ามจ่ายหรือเก็บดอกเบี้ย
ระบบการเงินอิสลาม ตามหลักชาริอะฮ์ สัญญาและธุรกรรมทุกชนิดต้องไม่มี "ริบา" (riba หมายถึง "ส่วนเกิน" หรือ excess) ซึ่งหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องไม่มีรายได้ ผลตอบแทน หรือผลประโยชน์อื่นใดก็ตามที่ "งอก" ขึ้นเพียงเพราะเวลาผ่านไประยะหนึ่งเท่านั้น หลัก การเงินอิสลาม ข้อนี้แปลว่า เจ้าหนี้ที่ต้องการทำธุรกรรมกับชาวมุสลิม จะไม่สามารถคิดดอกเบี้ยเงินกู้ได้ ต้องใช้เงื่อนไขอื่นๆ แทน เช่น กำหนดส่วนแบ่งผลกำไร (profit sharing) จากกิจการของลูกหนี้ที่กู้เงินไปลงทุน ทำ หรือถ้าลูกหนี้ตั้งใจกู้เงินไปซื้อทรัพย์สิน เจ้าหนี้ก็อาจใช้วิธีซื้อทรัพย์สินนั้นมาก่อน แล้วนำทรัพย์สินนั้นไปขายต่อ หรือคิดค่าเช่ากับลูกหนี้ ในอัตราที่รวมผลตอบแทนไว้แล้ว
เนื่องจากชาริอะฮ์ห้ามคิดดอกเบี้ย ความสัมพันธ์ระหว่าง "เจ้าหนี้" กับ "ลูกหนี้" ใน ระบบการเงินอิสลาม จึงมีลักษณะที่ทั้งสองฝ่ายมีผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น "การร่วมกันแบ่งความเสี่ยง" (risk sharing) หรือ "การร่วมลงทุน" (co-investing) ซึ่งทำให้ทั้งสองฝ่าย มักจะมีมุมมองเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินก้อนนั้นในทิศทางที่ตรงกันมากกว่าเจ้าหนี้ และลูกหนี้ ในระบบการเงินปกติ (นอกจากที่ต้องยึดมั่นในหลักคุณธรรมตามหลักศาสนา) ซึ่งก็หมายความว่า ความเสี่ยงจากการมีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน (เช่น ความเสี่ยงที่ลูกหนี้นิสัยไม่ดีอาจเลือก "ชักดาบ" ทั้งๆ ที่มีความสามารถในการจ่ายคืนเงินกู้) นั้น มีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลยในการเงินอิสลาม นอกจากนั้น โครงสร้างเงินกู้แบบแบ่งผลกำไรก็ยังช่วยลดความเสี่ยงที่เงินกู้จะกลายเป็นหนี้เสียอีกด้วย เพราะการ "จ่ายคืน" มีความยืดหยุ่นตามกระแสเงินสดของลูกหนี้มากกว่าเงินกู้ปกติ
ประโยชน์ของเงินกู้อิสลามที่กล่าวถึงข้างต้น มักจะถูกมองข้ามโดยนักการเงินการธนาคารกระแสหลักที่เข้าใจผิดว่า โครงสร้างของเงินกู้อิสลามเป็นเพียง "เล่ห์กลทางการตลาด" (marketing gimmick) ที่บิดเบือนคำพูดแบบ ศรีธนญชัยเพื่อให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อ ให้กับชาวมุสลิมเท่านั้น โดยไม่มีความแตกต่างจากเงินกู้ทั่วไปในสาระสำคัญ
2) ห้ามเล่นการพนันและรับรายได้อัน มิบังควร (unearned income)
ระบบการเงินอิสลาม ตามหลักชาริอะฮ์ห้ามชาวมุสลิมทำธุรกรรม หรือสัญญาใดๆ ก็ตามที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก (gharar) หรือเก็งกำไรโดยปราศจากข้อมูลรองรับ เนื่องจากถือว่าทั้งสองอย่างนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับการพนัน (al-qimaar) ซึ่งเป็นกิจกรรมต้องห้าม นอกจากนี้ชาริอะฮ์ยังห้าม ชาวมุสลิมไม่ให้รับรายได้ใดๆ ก็ตามที่ไม่ได้หา มาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง ซึ่งถือว่าเป็น รายได้ที่มิบังควรจะได้ (al-maysir แปลว่า unearned income)
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลักศาสนาข้อนี้ไม่ได้ห้ามชาวมุสลิมไม่ให้เก็งกำไรใดๆ ทั้งสิ้น (อาจมองได้ว่า การตัดสินใจทางธุรกิจแทบทุกกรณี ล้วนถือเป็นการ "เก็งกำไร" ทั้งนั้น เพราะตั้งอยู่บนการคาดการณ์อนาคตที่ยังมาไม่ถึง จึงมีความไม่แน่นอนอย่างน้อยระดับหนึ่งเสมอ) เพียงแต่ระบุว่าให้เก็งกำไรได้เฉพาะในกรณีที่การตัดสินใจนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่หนักแน่นเชื่อถือได้ และชาวมุสลิมได้วิเคราะห์ข้อมูลนั้นมาอย่างดีแล้วเท่านั้น นับว่าหลักชาริอะฮ์ข้อนี้ไม่ต่างกันมากนักกับหลักการลงทุนของ "นักลงทุนเน้นคุณค่า" (value investors) และหลักการบริหารธุรกิจทั่วไปที่นักธุรกิจผู้รอบคอบใช้กันมานานแล้ว
3) ห้ามการควบคุมราคาและการบิดเบือนราคา
ระบบ การเงินอิสลาม ชาริอะฮ์ยึดมั่นในระบบตลาดเสรี ซึ่งราคาสินค้าถูกกำหนดด้วยความเคลื่อนไหวของอุปสงค์และอุปทาน ไม่มีการแทรกแซงใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งจากภาครัฐ (อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอิสลามหลายคนมองว่า อิสลามยอมรับการแทรกแซงของภาครัฐได้ หากกระทำไปเพื่อแก้ไขภาวะผิดปกติในตลาดซึ่งมีสาเหตุมาจากภาวะการแข่งขันที่ไม่เสรีจริง เช่น ถูกผู้ครองตลาดรายใดรายหนึ่งบิดเบือนกลไกตลาด) ดังนั้นอิสลามจึงห้ามการ "ปั่นราคา" ด้วยการสร้างภาวะอุปทานขาดแคลนเทียม (ihtikar) หรือภาวะอุปสงค์เทียม (najash เช่น ภาวะที่ผู้ซื้อเพิ่มราคาเสนอซื้อไปเรื่อยๆ แต่ไม่ได้ตั้งใจจะรับมอบสินค้าชิ้นนั้นจริงๆ)
ในภาคปฏิบัติ หลักการข้อสำคัญที่กล่าวถึงเบื้องต้นนั้น ต้องนำมาใช้ร่วมกับหลักการพื้นฐานข้ออื่นๆ ในอิสลาม เพื่อให้เห็นภาพรวมของทั้งระบบ เช่น อิสลามห้ามแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต้องห้าม เช่น สุรา และเนื้อหมู การลงทุน (เช่น ซื้อหุ้น) ในบริษัทที่ผลิตสินค้าและบริการต้องห้ามเหล่านี้ก็ทำไม่ได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ชาริอะฮ์ยังระบุว่า ปัจเจกชนต้องเสียสละเสรีภาพในการทำสัญญาทางธุรกิจและธุรกรรมต่างๆ ถ้าหากสัญญาหรือธุรกรรมนั้น ขัดต่อหลักศาสนาข้ออื่นๆ ที่สำคัญยิ่งกว่า เช่น ประโยชน์ส่วนรวม (maslahah mursalah)
กฎชาริอะฮ์ซึ่งเป็นทั้งระบบกฎหมายและจริยธรรมของอิสลาม มีความชัดเจนค่อนข้างมากในการลำดับความสำคัญ ของหลักการต่างๆ ยกตัวอย่าง เช่น ริบาและการพนันเป็นเรื่องต้องห้ามในทุกกรณี มีความสำคัญเหนือหลักการ ให้บุคคลที่สามที่ได้รับผลกระทบจากสัญญาธุรกิจ (darar) มีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือเงื่อนไขพิเศษ (al-shufa ซึ่งแปลว่า preemptive rights เช่น สิทธิของผู้ถือหุ้นรายย่อยในการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน) อย่างไรก็ตามความซับซ้อนของระบบการเงินสมัยใหม่ที่รุดหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง แปลว่าจะต้องมีการตีความชาริอะฮ์อยู่เนืองๆ ให้ทันโลกปัจจุบัน เช่น ถ้าหน่วยงานกำกับดูแลภาครัฐเชื่อว่า นักลงทุนส่วนใหญ่เป็นคนไร้เดียงสา (namve) และไร้เหตุผล (irrational) หน่วยงานนั้นควร ออกมาตรการคุ้มครองนักลงทุนที่เคร่งครัดไม่ต่างจากวิธีคุ้มครองลูกของพ่อแม่หรือไม่ ? ความซับซ้อน ของโลกการเงินสมัยใหม่ แปลว่านักลงทุนอาจไม่สามารถประมวลผล ตีความ หรือวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนได้เอง ในทางที่จะนำไปสู่การตัดสินใจลงทุนที่มีเหตุผล (rational) ในกรณีเหล่านี้ผู้คุมกฎภาครัฐควรอนุญาตให้ชาวมุสลิมทำธุรกรรมหรือไม่ ? การแทรกแซงของภาครัฐในตลาดควรมีลักษณะและขอบเขตเช่นใด ? เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามใหญ่ที่ท้าทายนักวิชาการ นักการเงินอิสลาม และผู้เชี่ยวชาญชาริอะฮ์
ในระบบ การเงินอิสลาม ธนาคารพาณิชย์ เป็นตัวกลางหลักในการเชื่อมระหว่างผู้ต้องการเงินทุนกับผู้ต้องการลงทุน ไม่ต่างจากระบบการเงินกระแสหลักในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ธนาคารอิสลามระดมทุนส่วนใหญ่จากเงินฝากคล้ายกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป แล้วนำเงินนั้นมา "ปล่อย" ให้กับผู้ต้องการเงินทุน ด้วยการขาย ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีลักษณะใกล้เคียงหุ้นทุน (equity based) เช่น การทำหน้าที่ผู้รักษาทรัพย์สิน (trustee partnership), การแบ่งปันกำไร จากการร่วมลงทุน (joint venture) ฯลฯ และ ขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีลักษณะใกล้เคียงหนี้ (debt based) เช่น การซื้อทรัพย์สินมาแล้วไป ขายต่อในราคาสูงกว่า (cost plus financing หรือที่เรียกว่า murabaha), การให้เช่าทรัพย์สิน (leasing) ฯลฯ
ปัจจุบันธนาคารอิสลามหลายแห่งได้เริ่มขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ หลายชนิด ซึ่งยัง เป็นข้อถกเถียงระหว่างนักการเงินอิสลามและผู้เชี่ยวชาญชาริอะฮ์ว่า ขัดต่อหลักศาสนาหรือไม่ เช่น สัญญารับซื้อคืน (repurchase), การรับซื้อลดตั๋วแลกเงิน (bill discounting), สินเชื่อระยะสั้น และบัตรเครดิต เป็นต้น
บริษัทประกันอิสลาม หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ "ตะกาฟุล" (takaful) ซึ่งหมายถึงการให้หลักประกันซึ่งกันและกัน (mutual guarantee) เป็นตัวกลางดั้งเดิมอีกประเภทหนึ่งในระบบการเงินอิสลาม องค์กรเหล่านี้ระดมทุนจากประชาชน ผ่านการขายกรมธรรม์ตะกาฟุลแบบต่างๆ แล้วนำเงินนั้นไปลงทุนในช่องทางต่างๆ ที่ไม่ขัดต่อหลักชาริอะฮ์
นอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์และบริษัทประกันที่เป็นตัวกลางสำคัญในระบบการเงินอิสลามมาช้านาน กองทุนรวมและวาณิชธนกิจ (investment banking) ก็เป็นผู้เล่นใหม่ในระบบการเงินอิสลามที่กำลังทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการเติบโตของตลาดทุนอิสลามที่หลายฝ่ายคาดว่าจะมีขนาดถึง 3-4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า เหตุผลหลักเพราะราคาน้ำมันซึ่งถีบตัวสูงมากกำลังทำรายได้มหาศาลให้กับผู้ผลิตน้ำมันซึ่งจำนวนมากนับถืออิสลาม ผู้ต้องการนำรายได้ไปลงทุนในช่องทางใหม่ๆ ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝากและตะกาฟุล
เนื่องจากชาริอะฮ์อนุญาตให้ชาวมุสลิมซื้อขายได้เฉพาะทรัพย์สินจริงๆ เท่านั้น ห้ามซื้อขาย "ภาวะแห่งหนี้สิน" (indebtedness) และมองว่าเงินเป็นเพียงเครื่องวัดมูลค่าทรัพย์สิน ไม่ใช่ "ทรัพย์สิน" ในตัวมันเอง ตราสารหนี้กระแสหลักจึงไม่อาจนำไปซื้อขายในตลาดทุนอิสลามได้ (คล้ายกับเหตุผลที่ชาวอิสลามใช้เงินกู้กระแสหลักไม่ได้) ผลิตภัณฑ์คล้ายตราสารหนี้ส่วนใหญ่ ในตลาดทุนอิสลามจึงตั้งอยู่บนหลักการ "แปลงสินทรัพย์เป็นทุน" (securitization) เรียกว่า sukuk และในขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะคล้ายตราสารทุนในตลาดทุนอิสลาม ก็ยึดโยง อยู่กับผลิตภัณฑ์คล้ายทุนของธนาคารอิสลาม เช่น ตราสาร murabaha
กฎชาริอะฮ์อันเคร่งครัดที่ห้ามการหลอกลวงและห้ามทำธุรกรรมที่มีความไม่แน่นอนสูง แปลว่าทั้งราคาเสนอขาย และเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์ทางการเงินอิสลามต่างๆ เช่น sukuk ต้องตั้งอยู่บนผลการประเมินกระแสเงินสดในอนาคต ที่มีความรัดกุมและรอบคอบ ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนมีความแน่นอนระดับหนึ่ง คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้ตลาดทุนอิสลามกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากนักลงทุนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม และจากบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกที่ต้องการระดมทุน เพราะนักลงทุนชาวมุสลิม (ซึ่งจำนวนมากมาจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่มั่งคั่ง) ไม่สามารถซื้อผลิตภัณฑ์ธรรมดาได้ แต่ทั้งนักลงทุนทั่วไปและนักลงทุนชาวมุสลิมสามารถซื้อผลิตภัณฑ์การเงินอิสลามได้ ทำให้บริษัทสามารถระดมทุนจากนักลงทุนทั้งสองประเภท
ดังนั้นนอกจากจะกำลังสร้าง "สะพานทุน" ที่เชื่อม "โลกตะวันตก" เข้ากับ "โลกอิสลาม" แล้ว ระบบการเงินอิสลาม ก็กำลังทำประโยชน์ทางอ้อม ที่อาจสำคัญยิ่งกว่าการจัดสรรทุน กล่าวคือ การเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ในทางที่นักคิดขวาจัดอย่างฮันติงตันอาจมองไม่เห็น และคนจำนวนมากยังคิดไม่ถึง
ขอบคุณข้อมูลจาก : nidambe11.net
Tags: