สัญญาณเตือนภาวะ“เด็กติดเกมส์” ภัยร้ายใกล้ตัว
เด็กติดเกมคืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไร แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าคนใกล้ชิดหรือตัวเราเองติดเกมหรือไม่
หมอเสาวภาเลี้ยงลูกเชิงบวก มีคำตอบมาให้ทุกคนได้คลายข้อสงสัย
ในบทความเรื่อง "สัญญาณเตือนภาวะติดเกมของเด็ก" ...
• หมกมุ่นกับการเล่นเกม พูดหรือคุยถึงแต่เรื่องเกมตลอดเวลา ในหัวมีแต่เรื่องเกม
• ไม่สามารถควบคุมการเล่นเกมได้ หรือเล่นเกินเวลาที่ผู้ปกครองอนุญาต ต่อรองขอเวลาเพิ่ม อิดออดไม่ยอมเลิก
• ใช้เวลาเล่นเกมแต่ละครั้งนานขึ้นเรื่อยๆ
• หมดความสนใจ หรือเลิกทำกิจกรรมอื่นๆที่เคยสนใจทำยามว่าง เช่น เลิกเล่นกีฬา เลิกซ้อมดนตรี เลิกเล่นนอกบ้าน
• ใช้การเล่นเกมเพื่อหลบหนีจากเรื่องไม่สบายใจต่างๆ เช่น เล่นเกมเพื่อคลายเครียด
• หมดเงินไปเป็นจำนวนมากกับการเล่นเกม เช่น เติมเงินเพื่อเข้าเล่นเกม ซื้อสิ่งของต่างๆในเกม เป็นต้น
• อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่นเก็บตัว แยกตัว ดูเหมือนมีความลับ ลบหลบซ่อนซ่อน โกหก ขี้โมโห กิจง่าย ซึมเศร้า ดื้อ ต่อต้าน ขโมย ยักยอกเงิน พูดไม่เพราะ พูดจาหยาบคาย เถียง ย้อนเสียงดัง
• มีอาการ “ถอน” หรือ “ลงแดง” เช่น กระบวนกระวายใจ หงุดหงิด ก้าวร้าวเมื่อไม่ได้เล่นเกม เล่นเกมมากจะมีผลกระทบด้านลบต่อการดำเนินชีวิตในด้านต่างๆ เช่นการเรียนตก ไม่ทำงานบ้าน ไม่ทำการบ้าน มีปัญหาสุขภาพจากการเล่นเกม ความสัมพันธ์ในครอบครัวเสียไปเป็นต้น
คัดบทความนี้มาจาก บทที่ 38 เด็กติดเกม (Internet Gaming Disorder) โดย ร.ศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล จากตำราพัฒนาการและพฤติกรรมเล่ม 4
ใครที่มองเห็นว่าลูกมีอาการดังกล่าวแล้ว หมอแนะนำให้ไปพบแพทย์นะคะ เพื่อแพทย์จะได้ให้การวินิจฉัยต่อไปว่า จะช่วยลูกและพ่อแมอย่างไรค่ะ
(ในเบื้องต้น ผู้ปกครองไปหาก่อนก็ได้ อย่างน้อยแพทย์จะแนะนำวิธีคุยเพื่อให้ลูกสนใจมาปรึกษาด้วย)
สิ่งที่หมอพบบ่อยๆ ในประเด็นที่ถกเถียงกันของลูกและพ่อแม่ ก็คือ "เวลา"
ผู้ปกครองไม่ควรดูแค่ ”เวลา” ของการเล่นเกมเพียงอย่างเดียวนะคะ
หลายๆบ้านที่เด็กเล่นเกมเกินเวลาตามตกลง ผู้ปกครองจะโกรธมากหรือดุลูกทันที โดยไม่ตระหนักว่า จริงๆแล้วเด็กจะมีภาวะติดเกมได้นั้น ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ใช่แค่เรื่องของเวลาเท่านั้น!
ที่สำคัญมากที่สุดก็คือ สัมพันธภาพระหว่างเรากับลูก เพราะอย่าลืมว่า ยิ่งเด็กเครียดและหาทางบรรเทาความเครียดไม่เป็น เด็กจะใช้การเล่นเกมเพื่อหลบหนีจากเรื่องไม่สบายใจต่างๆ
ดังนั้น วิธีควบคุมกติกาในบ้าน ไม่ควรทำให้เกิดความตึงเครียดในระดับ “รุนแรงหรือเรื้อรัง” จนกลายเป็นว่า พ่อแม่เป็นแรงเสริมเชิงลบข้อหนึ่งที่ทำให้เด็กมองหาความสุขจากการเล่นเกมแทน
ผู้ปกครองควรใช้เวลาว่าง “ชวนทำกิจกรรมคลายเครียด” ร่วมกับลูก เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกันและยังทำให้เด็กรู้จักวิธีบรรเทาความเครียดที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่มีแต่วิธีเดียวคือเล่นเกม
นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญกับ “ทักษะการจัดการเวลา” ของลูกมากกว่าคิดแต่ “ควบคุมเวลา” โดยการนั่งลงและคุยกับลูกอย่างใจเย็น
เราจะเน้นที่ “ลูกคิด” ดังนั้นพ่อแม่ต้องมีทักษะการฟัง ฟังลูกให้ลึกถึงหัวใจ เพราะหากลูกสามารถแบ่งสัดส่วนการเล่นเกมและทำกิจกรรมอื่นได้อย่างเหมาะสม ก็แสดงว่าเราได้ฝึก “สมองลูกให้คิดเป็น”
จนเมื่อถึงเวลาจริงๆ พ่อแม่ก็เข้ามาช่วยลูก “กำกับตนเอง” ให้ได้ตามที่เขาคิดไว้ สามารถใช้แรงเสริมทางบวก เช่น การชื่นชม การใช้ระบบคะแนน
หรือแรงเสริมทางลบ เช่น การลงโทษแบบไม่มีอารมณ์ (logical consequence) ซึ่งเป็นระบบที่ฝึกเด็กให้คิดและรับผิดชอบตนเอง ไม่ใช่เด็กหยุดเล่นเพราะกลัวโดนด่า หรือกลัวอดเล่นเกมวันต่อไปเท่านั้น
หัวใจของการควบคุมเวลาเล่นเกม คือ “ลูกต้องคิดเป็น กำกับตนเองได้” ไม่ใช่ ถูกพ่อแม่บังคับให้ลงล็อคตามเวลา โดยไม่ทันได้ฝึกคิดอะไรอย่างเป็นระบบเลย
ฝึกที่สมองลูก โอกาสติดเกมจะน้อยลงค่ะ
ที่มา: fb หมอเสาวภาเลี้ยงลูกเชิงบวก
Tags: