คำสอนนบี(ซ.ล.) กับคุณค่าของละหมาดวันศุกร์
วันศุกร์ เป็นประมุขของวัน ยิ่งใหญ่กว่าวันอีดิลฟิตริและอีดิลฮัฎฮาเสียอีก เพราะอัลลอฮฺได้สร้างนบีอาดัม ท่านนบีอาดัมถูกขับจากสวรรค์สู่พื้นดิน ท่านนบีอาดัมมรณภาพ ในวันนั้น และในวันศุกร์ ปรภพจะอุบัติขึ้น ดังอัลหะดิษได้กล่าวไว้ ความว่า
"ประมุขแห่งวันทั้งหลาย ณ อัลลอฮฺ คือ วันศุกร์ ซึ่งยิ่งใหญ่กว่าวันอีดิลนะฮ์ริ และอีดิลฟิตริเสียอีก ในวันศุกร์นั้นมี (ความประเสริฐกว่า) ห้าประการ คือ อัลลอฮฺสร้างนบีอาดัมในวันนั้น ท่านนบีอาดัมถูกขับจากสวรรค์ สู่พื้นดิน ก็วันนั้น ท่านนบีอาดัมมรณภาพวันนั้น และในวันศุกร์มีชั่วโมงหนึ่ง ซึ่งไม่ว่าข้าทาสคนใด จะขอต่ออัลลอฮฺสิ่งใดๆ ก็ตาม นอกจากอัลลอฮฺจักทรงประทานแก่เขา ตามที่เขาขอเสมอ ทั้งนี้ ตราบที่เขาไม่ขอสิ่งที่เป็นบาป หรือ ในการตัดไมตรี วันศุกร์ เป็นวันที่ปรภพจะอุบัติขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมลาอิกะฮฺ ผู้ใกล้ชิด(ต่ออัลลอฮฺ) ไม่ว่าชั้นฟ้า ไม่ว่าแผ่นดิน ไม่ว่าลม ไม่ว่าภูเขา ไม่ว่าก้อนหิน นอกจากว่าทุกๆ สิ่งเหล่านั้น มีความฝักใฝ่ในวันศุกร์ทั้งสิ้น" รายงานโดย อัชชาฟีอีย์, อะหมัด, บุคอรีย์ จาก สะอีด บินอุบาดะฮฺ
"ศุกร์หนึ่งถึงศุกร์หนึ่งนั้น เป็นสิ่งนิรโทษ (แก่ผู้กระทำละหมาดวันศุกร์) ในช่วงเวลาระหว่างมันทั้งสอง ทั้งนี้ ตราบเท่าที่ไม่มีการทำบาปใหญ่ๆ" รายงานโดย อิบนุมายะฮฺ จาก อะบีฮุรอยเราะฮฺ
"การละหมาดวันศุกร์ เป็นการบังคับ แก่ผู้ที่ได้ยินเสียงอะซาน" รายงานโดย อิบนิมายะฮฺ จาก อิบนิอุมัร
"การละหมาดวันศุกร์ เป็นหน้าที่อันจำเป็นแก่บุคคลที่เวลากลางคืน ทำให้เขากลับสู่ครอบครัวของเขาทัน"(คือเขาสามารถเดินทางกลับ สู่ครอบครัวของเขาโดยไม่ทันค่ำ) รายงานโดย อัตติรมีซีย์ จาก อะบีฮุรอยเราะฮฺ
"หน้าที่ที่อัลลอฮฺบังคับแก่ทุกคน ที่เป็นมุสลิม คือ เขาจะต้องอาบน้ำทุกๆ เจ็ดวัน ซึ่งมีอยู่วันหนึ่ง ที่เขาต้องล้างศีรษะ และร่างกายของเขา (ทั้งหมด วันนั้น คือ วันศุกร์)" รายงานโดย อัลบุคอรีย์ มุสลิม จาก อะบีฮุรอยเราะฮฺ
"เป็นหน้าที่ของผู้ (อยู่ในวัย) ฝันทุกคน ต้องไปวันศุกร์ และเป็นหน้าที่ของผู้ไปวันศุกร์ทุกคน ต้องอาบน้ำ"รายงานโดย อะบูดาวุด จาก ฮับเซาะฮฺ
"เป็นหน้าที่ของบุรุษมุสลิมทุกคน ในทุก ๆ เจ็ดวัน จะต้องมีการอาบน้ำหนึ่งวัน นั่นคือ วันศุกร์" รายงานโดย อะหมัด และท่านอื่นๆ จาก ยาบิร
"แท้จริงการอาบน้ำในวันศุกร์ จะทำให้ความผิดต่างๆ ไหลออกจากโคนผมอย่างแท้จริง" รายงานโดย อัตตอบะรอนีย์ จาก อะบีอุมามะฮฺ
"แท้จริงในวันศุกร์ มีอยู่ชั่วโมงหนึ่ง ไม่ว่าบ่าวมุสลิมคนใด ได้ประจวบกับมันเข้าพอดี โดยขณะนั้นเขากำลังยืนทำละหมาด ด้วยการวอนขอสิ่งดีงาม ต่ออัลลอฮฺ ในชั่วโมงนั้น นอกจากว่า พระองค์จะทรงประทานสิ่งนั้น แก่เขา อย่างแน่นอน" รายงานโดย มาลิก จาก อะบีฮุรอยเราะฮ
"วันที่ดีที่สุดที่ตะวันได้ขึ้น คือ วันศุกร์ ในวันนั้นนบีอาดัมได้ถูกสร้าง ในวันนั้นนบีอาดัมถูกขับ (จากสวรรค์) ในวันนั้นเขาได้รับการเตาบะฮฺตัว (จากอัลลอฮฺ) ในวันนั้น เขาถูกเก็บตัว (เสียชีวิต) และในวันศุกร์ ปรภพจะอุบัติขึ้น ไม่ว่าสัตว์ใดในหน้าแผ่นดินนี้ นอกจากเมื่อถึงวันศุกร์ จะเงียบสดับฟังจนกว่าตะวันขึ้น เพราะความกลัวว่า วันปรภพจะอุบัติขึ้น ยกเว้นมนุษย์เท่านั้น (ที่ไม่ได้ทำและไม่รู้สึกเช่นนั้น) และในวันศุกร์มีอยู่ช่วงหนึ่ง ไม่ว่าบ่าวมุสลิมคนใดก็ตาม ที่ประจวบกับมัน โดยที่เขากำลังทำละหมาดอยู่ เขาขอต่ออัลลอฮฺแก่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง นอกจากอัลลอฮฺจะประทานสิ่งนั้น แก่เขา อย่างแน่นอน" รายงานโดย มาลิก และท่านอื่นๆ จาก อะบีฮุรอยเราะฮฺ
"คุตบะฮฺทุกคุตบะฮฺ ที่ไม่มีการปฏิญาณตน มันเป็นประหนึ่งมือด้วนนั่นเอง" รายงานโดย อะบูดาวุด จากอะบีฮุรอยเราะฮฺ
"ไม่มีละหมาดใดๆ จากบรรดาละหมาดทั้งหลาย ที่จะได้ผลเลิศกว่าการละหมาดซุบฮิในวันศุกร์ โดยทำรวมกันเป็นคณะ และฉันไม่คิดว่า ใครในหมู่พวกท่านได้มาสู่ละหมาดนั้น นอกจากเขาจะต้องได้รับการอภัยอย่างแน่นอน" รายงานโดย อัลฮากิม, อัตตอบะรอนีย์
"ผู้ใดมาวันศุกร์ โดยในขณะนั้น อีหม่ามกำลังแสดงธรรมกถา แน่นอนวันศุกร์นั้น จะเป็นซุฮุรสำหรับเขา" (ไม่ถือว่าเป็นละหมาดวันศุกร์ที่สมบูรณ์) รายงานโดย อิบนุอะซากิร จาก อัมริบนิลอ๊าศ
"บุคคลใดทิ้งสามวันศุกร์ โดยไม่มีเหตุสุดวิสัย เขาจะถูกบันทึกไว้ให้เป็นหนึ่ง จากบรรดาพวกตลบแตลง"รายงานโดย อัตตอบะรอนีย์ จาก อุซามะฮฺ บินซัยต์
กฎเกณฑ์ผู้วายิบละหมาดวันศุกร์ มีดังนี้
- เป็นมุสลิม
- บรรลุศาสนภาวะ
- มีสติสัมปชัญญะ
- มีอิสระ ไม่ใช่ทาส
- เป็นชาย
- เป็นผู้มีร่างกายปกติ ไม่เจ็บป่วย
- เป็นบุคคลอยู่ประจำถิ่น ไม่ใช่คนเดินทาง
กฎเกณฑ์ของการสมบูรณ์ยุมอะฮฺ
- ทำยุมอะฮฺในเมือง หรือ หมู่บ้าน
- ต้องมีจำนวน 40 คน ที่เป็น "อัฮลียุมอะฮฺ" (หมายถึง ผู้มีคุณสมบัติพร้อมในการทำยุมอะฮฺ) ตั้งแต่เริ่มต้น "คุตบะฮฺ" (บทตักเตือน) จนเสร็จละหมาดโดยสมบูรณ์
- การละหมาดยุมอะฮฺทั้งสิ้น (ตั้งแต่เริ่มจนจบ) และคุตบะฮฺยุมอะฮฺนั้น ต้องอยู่ในเวลา"ดุฮฺริ" ถ้าเวลาได้หมดลงในขณะละหมาดยุมอะฮฺ จะต้องแปรละหมาดนั้น ให้เป็น "ดุฮฺริ" (โดยไม่ต้องเหนียดอีก หรือถ้าแน่ใจว่าเวลานั้น ไม่พอที่จะทำละหมาดวันศุกร์ ก็ให้ทำละหมาดดุฮฺริ)
- ต้องอ่าน 2 คุตบะฮฺ ก่อนละหมาด
- รอกาอั้ตแรกของละหมาดยุมอะฮฺ ต้องกระทำในยะมาอะฮฺ
- จะต้องไม่มียุมอะฮฺอื่นในท้องที่เดียวกัน ละหมาดยุมอะฮฺก่อน หรือละหมาดพร้อมกัน
(หมายเหตุ... คำว่า "เมือง" (มิซริ) หมายถึง ถิ่นที่อยู่อาศัย อันประกอบด้วย ตลาด ที่ทำการต่างๆ ส่วนคำว่า "หมู่บ้าน" (ก็อรยะฮฺ) หมายถึง ถิ่นที่อยู่อาศัย ที่ไม่มีตามนั้น)
กฏเกณฑ์ของ"คุตบะฮฺ" ทั้งสอง
- รูกน (หลักการ) ของคุตบะฮฺ ทั้งสอง ต้องอ่านเป็นภาษาอาหรับ
- จะต้องให้ อัฮฺลียุมอะฮฺ ได้ยินรุกนต่างๆ ของคุตบะฮฺทั้งสอง
- ผู้อ่านคุตบะฮฺ ต้องยืนอ่าน ในกรณีที่เขามีความสามารถจะยืนได้
- ผู้อ่านคุตบะฮฺ จะต้องมีความสะอาด ตามความหมายที่ศาสนากำหนด ( คือ ปราศจากหะดัสเล็กและหะดัสใหญ่)
- ร่างกาย เสื้อผ้า และ สถานที่ของผู้อ่าน จะต้องสะอาดจากนะยิส
- ผู้อ่านคุตบะฮฺ้องปิดเอาเราะฮฺ (อวัยวะที่พึงปิดให้มิดชิด)
- ผู้อ่าน ต้องนั่งใรระหว่างคุตบะฮฺทั้งสอง โดยมี "ตอมะนีนะฮฺ" เหมือนละหมาด
- คุตบะฮฺที่อ่าน จะต้องเป็นคุตบะฮฺที่อ่านในยุมอะฮฺ และ ในสถานที่นั้นๆ (จะใช้เทปหรือถ่ายทอดทางวิทยุ และโทรทัศน์ไม่ได้)
- ผู้อ่านต้องเป็นชาย
- จะต้องอ่านคุตบะฮฺทั้งสองในเวลาดุฮริ
- รูกนต่างๆ ของคุตบะฮฺทั้งสอง จะต้องมีความต่อเนื่องกัน โดยไม่นานเกินกว่าระยะเวลาละหมาดสองรอกาอั้ตเร็วๆ อนึ่ง การแทรกระหว่างรูกนด้วยคำตักเตือน ถึงแม้จะนานก็ไม่เป็นไร
- ระหว่างคุตบะฮฺสุดท้ายกับเริ่มละหมาด จะต้องมีความต่อเนื่องกัน
รูกน (หลักการ) ของคุตบะฮฺทั้งสอง
- ต้องกล่าวสรรเสริญอัลลอฮฺด้วยภาษาอาหรับ เช่น อัลฮำดุลิลลาฮฺ ในคุตบะฮฺทั้งสอง
- ต้องกล่าว "ซอลาหวาด" แก่ท่านศาสดามุฮัมมัด ช.ล. ด้วยภาษาอาหรับ ในคุตบะฮฺทั้งสอง
- ต้องตักเตือนให้มีความยำเกรงอัลลอฮฺ ในคุตบะฮฺทั้งสอง
- ให้อ่านอายะฮฺกุรอาน ในคุตบะฮฺใดคุตบะฮฺหนึ่ง (แต่ที่ดีควรอ่านในคุตบะฮฺแรก)
- ให้ขอพร (ดุอา) แก่มวลมุมิน ในคุตบะฮฺสุดท้าย
สุนัตในวันศุกร์
สุนัต (สิ่งที่ควรทำ) ในวันศุกร์มีอยูมาก แต่จะกล่าว ณ ที่นี่เพียงบางประการ เช่น
- อาบน้ำและชำระร่างกายให้สะอาด เฉพาะผู้ไปละหมาดวันศุกร์
- ใช้เครื่องนุ่งห่มสีขาว เฉพาะผู้ไปละหมาดวันศุกร์
- ตัดเล็บ
- ใช้ของหอม
- ตั้งใจสงบฟังในขณะที่อิหม่ามอ่านคุตบะฮฺ
- อ่าน "ซูเราะตุ้ลกะฮฺฟี" ในวันศุกร์และคืนวันศุกร์ (หมายถึงวันพฤหัสบดีค่ำลง)
- อ่านดุอาให้มาก ในวันศุกร์และคืนวันศุกร์ เพราะในวันศุกร์มีอยู่เวลาหนึ่ง ที่พระองค์อัลลอฮฺจะตอบรับการขอดุอา
- ให้ทาน และ ทำความดีงามให้มาก ในวันศุกร์และคืนวันศุกร์
- ให้อ่านซ่อลาหวาดแก่ท่านศาสดามุฮัมมัด ช.ล.ให้มากๆ
- ให้ไปมัสยิดเพื่อละหมาดวันศุกร์ ตั้งแต่ตอนเช้า
- ฮาลาลไทยแลนด์ -
Tags: