อิดิลอัฎฮา วันที่เปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์อิสลาม
อิดิลอัฎฮา วันที่เปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์อิสลาม
บทความโดย: ดร.วินัย ดะห์ลัน
มุสลิมซุนหนี่อย่างที่ผมและมุสลิมส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นกัน มีวันเฉลิมฉลองสำคัญอยู่สองวัน วันแรกคือ “อิดิลฟิตริ” ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองการสิ้นสุดของเดือนรอมฎอน อีกวันคือ “อิดิลอัฎฮา” เป็นวันเฉลิมฉลองพิธีฮัจย์ บางคนเรียกว่า “วันกุรบาน” บางคนเรียกว่า “วันฉลองวูกุฟ” แถมด้วยชื่ออื่นๆอีก มีคำถามว่าวันไหนสำคัญกว่า หลายคนตอบว่าอิดิลอัฎฮาเพราะถือเป็นวันตรุษใหญ่ ขณะที่อิดิลฟิตริเป็นวันตรุษเล็ก แต่ถามหน่อยเถอะว่าคิดกันอย่างนั้นจริงหรือเปล่า หลายคนยอมรับว่าตนเองให้ความสำคัญกับอิดิลฟิตริเพราะผูกพันใกล้ชิดและมีส่วนร่วมด้วยมากกว่า ได้ถือศีลอดมาตลอดเดือนก่อนหน้านั้น ขณะที่อิดิลอัฎฮาเป็นเรื่องของพิธีฮัจย์ซึ่งอยู่ห่างไกลถึงมักกะฮ์ในซาอุดีอาระเบีย ความรู้สึกผูกพันจึงมีค่อนข้างน้อย
ตามความเข้าใจของผม ท่านศาสดาในอิสลามคือ นบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ที่แม้ในช่วงชีวิตของท่านมีโอกาสร่วมฉลองวันอิดิลฟิตริบ่อยกว่าทว่าท่านผูกพันกับอิดิลอัฎฮามากกว่า ทั้งนี้เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นในวันอิดิลอัฎฮานี่เองที่เป็นเหตุการณ์ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนในหน้าประวัติศาสตร์อิสลาม
จาก ค.ศ.610 ถึง ค.ศ.620 ยาวนาน 11 ปี ท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) เผยแผ่อิสลามในเมืองมักกะฮ์ซึ่งเป็นเมืองเกิดของท่านเองอย่างยากเย็นแสนเข็ญ การจากไปของท่านหญิงคอดีญะฮ์ผู้ภรรยา และอบูตอลิบ ผู้เป็นลุงส่งผลให้ความยากลำบากในการเผยแผ่อิสลามเพิ่มขึ้นหลายเท่าทวีคูณ มุสลิมที่มีน้อยนิดอยู่แล้วในมักกะฮ์จำเป็นต้องหลบหนีจากการทำร้ายของชาวเมืองที่เกิดบ่อยขึ้น ท่านนบีเองมีสถานภาพไม่ต่างกัน ท่านตัดสินใจย้ายการทำงานไปที่เมืองฏออีฟที่อยู่บนเนินเขาห่างไปทางใต้ประมาณร้อยกิโลเมตร สุดท้ายล้มเหลวต้องย้อนกลับมาเมืองมักกะฮ์อีกครั้งด้วยกลยุทธที่เปลี่ยนแปลงไปนั่นคือเผยแผ่ในหุบเขามีนาช่วงจบพิธีฮัจย์ก่อนที่ทุกคนที่แห่แหนมาจากทั่วคาบสมุทรอาระเบียพากันแยกย้ายกลับภูมิลำเนา
ฮัจย์เป็นพิธีศาสนาที่ทำกันมาเนิ่นนานตั้งแต่ยุคนบีอิบรอฮีม (อ.ล.) 2,500 ปีก่อนหน้ายุคท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) พิธีกรรมตามรูปแบบของชนนอกศาสนาที่บูชาเทพเจ้าหลายองค์ในยุคนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) แม้ผิดเพี้ยนไปมากแต่ยังคงมีวันวูกุฟซึ่งหมายถึงการรวมตัวกันที่ทุ่งอารอฟะฮ์ตอนเที่ยงวันที่ 9 เดือนซุลฮิจยะฮ์ จากนั้นเข้าวันที่ 10 เดือนซุลฮิจยะฮ์ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกจึงเดินทางย้อนกลับมาที่หุบเขามีนาก่อนกลับเข้าไปตอวาฟรอบวิหาร (บัยตุลเลาะฮ์) ในมักกะฮ์และแยกย้ายกันกลับคืนถิ่น
วันที่ 10 เดือนซุลฮิจยะฮ์ ค.ศ.621 ตรงกับปีที่ 12 ของการเป็นศาสดานี้เองท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) นัดพบกับชาวยาธริบ (มะดีนะฮ์) 6 คนที่เนินเขาเล็กๆในบริเวณหุบเขามีนา เนินเขานี้มีชื่อว่า “อะกอบะฮ์” เจรจากันกระทั่งเกิดเป็นคำสัญญาอัลอะกอบะฮ์ครั้งที่ 1 ส่วนใครจะเรียกว่าคำสาบานหรือคำปฏิญญาหรือสนธิสัญญาก็ได้ไม่มีอะไรผิด
วันที่ 10 เดือนซุลฮิจยะฮ์ปีต่อมาคือ ค.ศ.622 ท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) นัดพบชาวยาธริบจำนวน 75 คน (บ้างก็ว่า 73 คน) โดย 5 คนคือคนที่พบกันแล้วในปีที่ผ่านมา การเจรจานำไปสู่คำสัญญาอัลอะกอบะฮ์ครั้งที่ 2 อันเป็นจุดเริ่มต้นของการฮิจเราะฮ์หรือการอพยพจากมักกะฮ์สู่ยาธริบหรือมะดีนะฮ์ของท่านนบีและท่านอบูบักรที่เกิดขึ้นไม่นานหลังจากนั้น คำสัญญาอะกอบะฮ์จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของอิสลามอย่างสิ้นเชิง
วันเวลาผ่านไปจนกระทั่ง ค.ศ.630 เมื่อท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) นำมุสลิมกลับมาทำฮัจย์ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของท่าน วันที่ 10 เดือนซุลฮิจยะฮ์นี่เองบรรดาฮุจญาตหรือผู้แสวงบุญเริ่มต้นวันคือหลังดวงอาทิตย์ตกพากันหลั่งไหลออกจากทุ่งอะรอฟะฮ์กลับมาที่หุบเขามีนาโดยพักแรมที่ทุ่งมุสดาลีฟะฮ์ สิ่งแรกที่ท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ทำในเช้าวันที่ 10 เดือนซุลฮิจยะฮ์คือพิธีโยนหินเจ็ดก้อนที่เนินเขาอะกอบะฮ์สถานที่ที่เป็นจุดกำเนิดของคำสัญญาอะกอบะฮ์ทั้งสองครั้ง อะกอบะฮ์จึงเป็นสถานที่สำคัญเชิงสัญญะสำหรับท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) หากไม่มีอะกอบะฮ์ในวันนั้น ก็ไม่รู้ว่าอิสลามจะเป็นอย่างไรในวันนี้
อัลอะกอบะฮ์ในพิธีฮัจย์วันนี้คือสถานที่ตั้งของเสาหินใหญ่หรือญุมรอตอัลอะกอบะฮ์ (جمرة العقبة) ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของเสาหินในพิธีขว้างเสาหิน สิ่งที่แตกต่างจากเสาหินอีกสองต้นคืออะกอบะฮ์เป็นเสาหินเดียวที่ฮุจญาตหรือผู้แสวงบุญขว้างหรือโยนหินเจ็ดก้อนยามเช้าวันที่ 10 เดือนซุลฮิจยะฮ์ ช่วงเวลาเดียวกับที่มุสลิมทั่วโลกพากันเฉลิมฉลองวันตรุษที่เรียกว่าอิดิลอัฎฮา
ใครจะตั้งชื่อรองของอิดิลอัฎฮาว่าวันฉลองวูกุฟ วันกุรบาน หรือชื่อเรียกอะไรก็เรียกกันไปเถิอด ผมเรียกของผมเองว่า "วันอะกอบะฮ์" เพื่อรำลึกถึงวันสำคัญที่เปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของอิสลามอย่างสิ้นเชิง เป็นหิดายะฮ์หรือทางนำที่อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงมอบให้แก่ท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ผมเข้าใจของผมอย่างนั้น
Tags: