ชง "สแกนนิ้ว-ใบหน้า" ลงทะเบียนใช้มือถือชายแดนใต้ โทรข้ามเขตโดนแจ้งเตือน!
รายงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. เรื่อง "การปฏิรูปการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย" ซึ่งผ่านการลงมติรับรองจากที่ประชุม สปท.ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นเมื่อวันจันทร์ที่ 3 ก.ค.60 ไม่ได้มีข้อเสนอเฉพาะการควบคุมการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์เป็นการทั่วไปเท่านั้น แต่ยังมีบางประเด็นที่เป็นข้อเสนอเฉพาะสำหรับแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
รายงานชิ้นนี้จัดทำโดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน มีชื่อหัวข้อว่า "ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูปการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย" หนึ่งในข้อเสนอสำคัญคือ มาตรการจัดระเบียบการลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะระบบเติมเงิน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากการลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชนแล้ว ยังต้องเพิ่มการใช้ข้อมูลลายนิ้วมือ และใบหน้า ควบคู่กันไปด้วย พร้อมหาวิธีการให้ "ผู้ให้บริการ" หรือ operator จัดเก็บรูปภาพของผู้ลงทะเบียนซิมการ์ดไว้เพื่อเป็นหลักฐานด้วย
ข้อเสนอนี้มีที่มาจากการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเนื้อหาของรายงานอ้างถึงการดำเนินการของ กสทช. หรือคณะกรรมการกำกับกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ที่มีแผนจะใช้ลายนิ้วมือ ใบหน้า ควบคู่กับการลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือด้วยบัตรประชาชน ซึ่งจะเริ่มใช้บังคับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีเหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรง ภายในปี 2560 นี้
ข้อเสนอในรายงานระบุว่า มาตรการใหม่ของ กสทช.ควรปรับเปลี่ยนเป็นการใช้บังคับทั่วประเทศ หรือเริ่มทุกจังหวัด ยกเว้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากนั้นจึงค่อยมาใช้บังคับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเป็นผลทางจิตวิทยา เพราะในปัจจุบันประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความรู้สึกว่าถูกตรวจสอบและกำกับดูแลสูงกว่าพื้นที่อื่น ซึ่งทำให้เกิดแรงต่อต้านต่อภาครัฐ หากเริ่มมาตรการนี้ในพื้นที่อื่นๆ ก่อน ก็จะเป็นผลดีต่อการวางแผนในด้านการรักษาความปลอดภัยทุกพื้นที่ทั่วประเทศให้เข้มข้นมากขึ้น
การดำเนินการของ กสทช. ควรประสานความร่วมมือกับสำนักบริหารการทะเบียนของกรมการปกครอง ที่กำกับดูแลข้อมูลประชาชน ในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ในกรณีที่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับระบบของกรมการปกครองได้ กสทช.ควรออกหลักเกณฑ์ให้บริษัท "ผู้ให้บริการ" หรือ Operator หาวิธีการจัดเก็บรูปภาพของผู้ลงทะเบียนซิการ์ดในช่วงการลงทะเบียนไว้ เพื่อใช้เป็นหลักฐาน
นอกจากนั้น รายงานของ สปท.ยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ควรมีมาตรการเสริมในการจำกัดขอบเขตการใช้งานโทรศัพท์มือถือเฉพาะพื้นที่ กล่าวคือ กสทช.ควรกำหนดหลักเกณฑ์ทางเทคนิค เพื่อให้บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ หรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ประสานงานและร่วมมือกันในการกำหนดหมายเลขโทรศัพท์ หรือ MSISDN (Mobile Subscriber Integrated Services Digital Network Number) หมายเลขอุปกรณ์โทรศัพท์ หรือ IMEI (International Mobile Equipment Identity) และหมายเลขประจำซิมการ์ด หรือ IMSI ที่ใช้งานเฉพาะในแต่ละจังหวัด หากผู้ใช้งานได้ข้ามเขตพื้นที่ ควรมีระบบแจ้งเตือน (alert) ให้ทราบว่าได้ใช้งานข้ามเขต และต้องแสดงตัวตนในการรับทราบ เพื่อยอมรับการเข้าใช้งานอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการรักษาความปลอดภัยที่มีความเข้มงวด หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการใช้อำนาจในพื้นที่ดังกล่าว อาจจำเป็นต้องออกประกาศ คำสั่ง ระเบียบ หรือข้อบังคับเสริมเพิ่มจากประกาศของ กสทช. เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ในการวางมาตรการรักษาความปลอดภัย หรือการตรวจสอบหาพยานหลักฐานเมื่อเกิดเหตุได้โดยง่ายยิ่งขึ้น ที่สาคัญคือจะทำให้การระบุตัวตนจริง พื้นที่การใช้งาน มีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น หากการดำเนินการของ กสทช. ประสบความสำเร็จ ก็สมควรขยายพื้นที่การใช้งานทั่วประเทศในช่วงระยะเวลาปฏิรูปต่อไป
รายงานของ สปท.ระบุด้วยว่า สาเหตุที่เสนอมาตรการคุมเข้มที่มุ่งเน้นไปที่การระบุตัวตนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ เพราะสถิติปัจจุบันมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั่วประเทศประมาณ 90 ล้านเครื่อง มีมากกว่า 50 ล้านเครื่องที่มีการใช้งานสื่อออนไลน์ เช่น มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือลงทะเบียนใช้งานเฟสบุ๊คมากกว่า 30 ล้านเลขหมาย
ขณะเดียวกันก็ให้จัดตั้ง "ศูนย์กลางเฝ้าระวังการใช้สื่อออนไลน์" โดยนำเทคโนโลยีการติดตามและตรวจสอบข้อความ รูปภาพ และคลิปเสียงมาใช้ เช่น เครื่องมือตรวจสอบใบหน้าบุคคลในโซเชียลมีเดียที่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับภาพวิดีโอ หรือภาพจากกล้องวงจรปิด เพื่อติดตามหาตัวผู้กระทำความผิดต่างๆ ได้ เป็นต้น
ที่มา: https://www.isranews.org/south-news/other-news/57728-scan.html
Tags: