บีบีซีร้องยูเอ็น ขอทางการอิหร่านหยุดคุกคามผู้สื่อข่าว
บีบีซียื่นคำร้องต่อองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ขอให้ทางการอิหร่านหยุดคุกคามผู้สื่อข่าวแผนกภาษาเปอร์เซียที่ทำงานอยู่ในกรุงลอนดอน และครอบครัวพวกเขาในอิหร่าน
ทางการอิหร่านเริ่มข่มขู่ คุกคามผู้สื่อข่าว จับกุมญาติของพวกเขา และสั่งห้ามคนเหล่านั้นเดินทาง ตั้งแต่ช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2009
ผลการเลือกตั้งในครั้งนั้นกลายเป็นประเด็นถกเถียง และทางการอิหร่านกล่าวหาว่า ต่างชาติเข้าแทรกแซง
การยื่นคำร้องนี้จะเกิดขึ้นในระหว่างการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา
กลัวถูกจับ
เมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว ผู้สื่อข่าวแผนกภาษาเปอร์เซีย รวมตัวกันเพื่อให้กำลังใจเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งที่พ่อเพิ่งเสียชีวิต
เขาได้รับข่าวว่าพ่อล้มป่วยหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ถ้าเป็นคนทั่วไป ก็คงจะรีบจองตั๋วเพื่อเดินทางกลับไปหาพ่อ แต่เขาไม่สามารถกลับบ้านเกิดได้เนื่องจากเกรงจะถูกจับกุม สิ่งที่เขาทำได้คือคุยกับพ่อผ่านทางสไกป์
นี่เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้สื่อข่าวบีบีซีแผนกภาษาเปอร์เซียที่นี่ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้สื่อข่าวกว่า 30 คน แล้วที่พ่อแม่เสียชีวิตโดยพวกเขาไม่มีโอกาสบอกลา ทางการอิหร่านกล่าวหาว่าพวกเขาเป็นผู้มุ่งบ่อนทำลาย หรือไม่ก็เป็นสายลับของต่างชาติ
ขู่ฆ่า
ผู้สื่อข่าวอีกคนหนึ่งถูกขู่ผ่านสไกป์ให้เลิกทำงานให้กับบีบีซี หรือ ให้แอบสอดแนมเพื่อนร่วมงาน เพื่อแลกกับอิสรภาพของน้องสาววัย 27 ปี ซึ่งถูกหน่วยความมั่นคงของรัฐจับตัวไประหว่างการบุกค้นบ้านของพ่อเธอที่กรุงเตหะราน
"พอฉันปฏิเสธ พวกเขาก็จับน้องสาวฉันไปขังเดี่ยวอยู่ถึง 17 วัน" เธอได้บันทึกเทปบทสนทนากับหน่วยความมั่นคงไว้ด้วย
ผู้ประกาศคนหนึ่งที่ทำงานกับแผนกทีวีได้รับอีเมลขู่บังคับให้เธอเลิกทำงานให้กับบีบีซี โดยบอกว่าพวกเขารู้ว่าลูกชายวัย 10 ขวบ ของเธอเรียนโรงเรียนอะไร แม่ของสื่อข่าวอาวุโสคนหนึ่งถูกเรียกไปสอบสวนโดยองค์กรความมั่นคงองค์กรหนึ่งในกรุงเตหะราน โดยพวกเขาบอกกับเธอว่าลูกชายอาจจะประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้หากเขาไม่เลิกทำงานให้กับบีบีซี
ผู้สื่อข่าวแผนกภาษาเปอร์เซียกว่า 20 คนถูกขู่ฆ่าหลายต่อหลายครั้ง เป็นจำนวนมากพอที่พวกเขาสามารถขอรับการคุ้มครองจากตำรวจในสหราชอาณาจักร
หลังเหตุคุกคามและข่มเหงพนักงานมาหลายปี ในที่สุด บีบีซีได้ร้องเรียนต่อนานาชาติโดยยื่นคำร้องต่อยูเอ็น
"การยื่นคำร้องนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่บีบีซีไม่เคยทำมาก่อน เป็นเพราะทางการอิหร่านไม่สนใจคำเรียกร้องของทางเราให้หยุดการคุกคามนี้" โทนี ฮอลล์ ผู้อำนวยการบีบีซี ระบุ
ทางการอิหร่านกล่าวหาว่า ผู้สื่อข่าว และอดีตผู้สื่อข่าว และผู้สนับสนุนผลงานให้กับแผนกรวม 152 คน "สมรู้ร่วมคิดกันบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ" และเริ่มการสืบสวนทางอาญา
นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้อิหร่านหยุดกระบวนการฟ้องร้องทั้งหมดต่อทั้งผู้สื่อข่าวและครอบครัวของพวกเขา รวมทั้ง การกระทำที่ขัดต่อ "ความเป็นอิสระในการเสนอข่าวสาร ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับบีบีซีหรือไม่"
คาดว่ามีชาวอิหร่านประมาณ 18 ล้านคน หรือ หนึ่งในสี่ ของประชากรในประเทศ ที่ใช้บริการข่าวจากบีบีซีแผนกภาษาเปอร์เชีย ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ วิทยุ และทีวี โดยมีผู้ชมราว 12 ล้านคนที่ติดตามรายการข่าวสารทางโทรทัศน์เป็นประจำ
"คนอิหร่านจำนวนมากติดตามข่าวจากบีบีซีแผนกภาษาเปอร์เชียเนื่องจากพวกเขาไม่สามารถได้รับข่าวและการวิเคราะห์ที่เชื่อถือได้และเป็นกลางจากสื่อของอิหร่านซึ่งถูกเซ็นเซอร์มาก" โรซิตา ลอตฟิ หัวหน้าแผนกบีบีซีภาษาเปอร์เซีย
หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2009 ชาวอิหร่านหลายล้านคนออกประท้วงโดยบอกว่ามีการโกงผลการเลือกตั้ง การกล่าวหานี้นำไปสู่สถานการณ์วุ่นวายหลายเดือน และรัฐบาลอิหร่านได้โทษว่าเป็นจากการแทรกแซงของสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร รัฐบาลต่าง ๆ ในประเทศตะวันตก และบีบีซี ด้วย
"นี่ไม่ใช่เรื่องเฉพาะบีบีซีเท่านั้น เพราะว่าเราไม่ใช่สื่อเดียวที่โดนคุกคาม และถูกบังคับให้ประนีประนอม จริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องใหญ่กว่านั้น เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน" โทนี ฮอลล์ กล่าว
ที่มา: บีบีซี
Tags: