รับมืออย่างไรเมื่อเข้าสู่ “วัยทอง”
'วัยทอง' คำแสลงใจของ 'มนุษย์เมนส์' เชื่อว่าหลายคนอาจจะเคยประสบชะตากรรมถูกล้อเลียนด้วยคำๆ นี้ จากพฤติกรรมขี้บ่น ขี้หงุดหงิดของเรา ในบางเวลาที่อาจไม่ได้ตั้งใจ เพราะอาการดังกล่าวเป็นอาการของการเข้าสู่ 'วัยทอง' หรือภาวะที่สตรีเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน มักพบในช่วงอายุระหว่าง 45 – 50 ปี สาเหตุเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ได้แก่ การเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เมื่อผู้หญิงมีอายุมากขึ้น ระบบต่างๆ ภายในร่างกายย่อมทำงานเสื่อมประสิทธิภาพลง
เกิดจากการเจ็บป่วยหรือความผิดปกติของรังไข่ ที่อาจส่งผลต่อการไม่มีประจำเดือน รวมไปถึงการผ่าตัดรักษา เช่น การผ่าตัดเอารังไข่ทั้งสองข้างออกไป ทำให้เข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือน
นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากการรักษาทางการแพทย์ เช่น การทำเคมีบำบัด ที่ใช้ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง แล้วไปส่งผลต่อเซลล์ต่างๆ ของร่างกายที่มีการเจริญเติบโต
สัญญาณเตือนล่วงหน้าก่อนจะเข้าสู่วัยทอง จะมีอาการทั้งทางด้านอารมณ์และร่างกาย คือ ประจำเดือนเริ่มมาคลาดเคลื่อน มากะปริบกะปรอย และประจำเดือนอาจหายขาดไปกว่า 1 ปี ก่อนจะหมดประจำเดือนอย่างถาวร
เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยทอง รังไข่จะไม่มีการตกไข่ ทำให้ไม่มีการผลิตฮอร์โมนเพศอย่างเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนอีกต่อไป จะเริ่มมีอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น ไม่มีประจำเดือน ร้อนวูบวาบ ไม่สบายตัว มีเหงื่อออกในตอนกลางคืน มีปัญหาเรื่องการนอน นอนน้อย นอนไม่หลับ ผิวแห้ง หนังศีรษะบาง ผมร่วง อ้วนขึ้น ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานได้น้อยลง ไม่มีสมาธิ อารมณ์แปรปรวน และหงุดหงิดง่าย
แม้แต่ผู้ชายเองก็มีวัยทองด้วยเช่นกัน ช่วงอายุเข้าวัยทองจะใกล้เคียงกับผู้หญิง เมื่ออายุมากขึ้นฮอร์โมนแอนโดรเจนจะน้อยลงเรื่อยๆ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจของผู้ชาย ทางการแพทย์เรียกผู้ชายวัยทองว่า 'แอนโดรพอส' (andropause)
อาการของผู้ชายวัยทองคล้ายคลึงกับผู้หญิงคือ เครียด หงุดหงิด โกรธง่าย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เหงื่อออกมาก สมาธิลดลง นอนไม่ค่อยหลับ กำลังวังชาลดลง โครงสร้างของร่างกาย เช่น กระดูกต่างๆ เริ่มเสื่อมถอย มีความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ กระดูกพรุน ต่อมลูกหมากโต ปัสสาวะออกลำบาก สมรรถภาพทางเพศลดลง
นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ บอกว่า แนวทางการดูแลตัวเองในช่วงวัยทอง ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดการรับประทานอาหารหวาน มัน เค็ม เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และน้ำอัดลม งดสูบบุหรี่
นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอร่วมกับการทำสมาธิ พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อรักษาอารมณ์ให้เป็นปกติ และหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากมีอาการผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาอาการและรับการรักษาต่อไป
ที่มา: หมอชาวบ้าน
Tags: