วิธีคำนวณค่าสินสอด ไม่ให้เป็นหนี้หรือต้องเลิกกัน
พาดหัวข่าวบันเทิงว่าด้วยเรื่อง เงินสินสอด 80 สิบล้านบาท ที่ทำให้ความรักของหนุ่มสาวคนดังสั่นคลอนจนต้องเลิกราต่อกัน นับเป็นประเด็นร้อนฉ่าที่ใครหลายคนต่างพูดถึง
หลากหลายความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว บ้างก็บอกว่าจำนวนเงินที่หยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากเกินกว่าเหตุ สรุปแล้วจะเป็นการแต่งงานหรือเรียกค่าตัวให้กับตัวเองกันแน่ บ้างก็มองเป็นเรื่องของสถานะทางสังคม 80 สิบล้านบาทกับพื้นที่ที่ทั้งคู่ยืนอยู่นับว่าไม่มากไม่น้อยเกินไปหรอก (?)
แล้วในความเป็นจริง ‘สินสอด’ มันควรมาก-น้อยแค่ไหนกันล่ะ?
ก่อนจะไปพูดถึงเรื่องของ ‘จำนวน’ ที่ชวนปวดหัวและเป็นปัญหาโลกแตกของคนที่คิดจะแต่งงาน เราอยากจะชวนคุณมาดูความหมายของคำว่า ‘สินสอด’ กันก่อน..
สินสอด ตามกฎหมายมาตรา 1437 ว.3 คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส
ลักษณะของสินสอดมีอยู่ 3 ประการ ได้แก่ ต้องเป็นสินทรัพย์ที่มีการตกลงกันก่อนสมรส, ฝ่ายชายมอบให้แก่พ่อแม่ หรือผู้ปกครองของผู้หญิง ถ้าหากฝ่ายหญิงบรรลุนิติภาวะ แต่ไม่มีผู้ปกครองแล้วตกลงรับสินสอดด้วยตัวเอง ถือเป็นการให้โดยเสน่หาไม่ใช่สินสอด
ประการสุดท้าย สินสอดให้เพื่อตอบแทนการที่ฝ่ายหญิงยอมสมรส ทรัพย์สินที่เป็นสินสอดเมื่อมอบให้แก่ผู้ปกครองของฝ่ายหญิงแล้ว จะตกเป็นกรรมสิทธิ์เด็ดขาดแก่ผู้รับโดยทันที
จะเห็นได้ว่าสินสอด ไม่ใช่สิ่งที่ขึ้นอยู่กับคู่บ่าวสาวเพียงเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันกับผู้ปกครองของฝ่ายหญิงด้วย เมื่อต้องพิจารณาความเหมาะสมของสินสอด เราจึงต้องนำปัจจัยข้อนี้มาหาแนวทางร่วมด้วย
แล้วอะไรคือ ‘ความเหมาะสม’ ล่ะ?
แม้หลายคนจะบอกว่าเรื่องของสินสอดเป็นเรื่องของทางผู้ใหญ่ที่ต้องพูดคุยกัน เด็กไม่เกี่ยว แต่ในความเป็นจริง ชาย-หญิงที่คิดจะแต่งงานกัน สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดกับทั้งสองฝ่ายได้
เริ่มต้นจากการที่ชาย-หญิงอาจจะลองสอบถามเรื่องสินสอดจากคนใกล้ตัว เพื่อน พี่ น้อง หรือญาติที่มีสถานะทางสังคมใกล้เคียงกัน เพื่อเป็นการประเมินค่ากลางที่พอจะเป็นไปได้ แล้วจากนั้นควรลองสอบถามความคิดเห็นของผู้ปกครองของตัวเองเพื่อหาแนวโน้มและจุดร่วมว่า อะไร-ยังไง-เท่าไหร่ ก่อนที่ทางผู้ใหญ่จะเข้ามาเจรจาสู่ขอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อถกเถียงที่อาจทำให้เกิดการผิดใจกัน
‘ความเหมาะสม’ ในที่นี้จึงหมายถึง ‘ความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย’
สินสอด จึงไม่จำเป็นต้องเป็นสินทรัพย์ที่มากล้นฟ้า อาจจะเป็นเพียงจำนวนที่พอเหมาะพอควรแก่ฐานะครอบครัวของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เพราะอย่าลืมว่างานแต่งงานไม่ได้จบอยู่แค่เพียงค่าสินสอด แต่มันยังเต็มไปด้วยค่าใช้จ่ายมากมายในพิธีแต่งงานที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกเป็นขบวน
พอจะมีวิธีคำนวณ ‘สินสอด’ เป็นแนวทางมั้ย?
วิธีการแรก อยากจะแนะนำให้คุณรู้จักกับเว็บไซต์ Siamviva (https://goo.gl/PDhRSe) ที่จะช่วยคุณคำนวณสินสอดโดยคำนึงถึงอายุ รายได้ การศึกษา และสถานะทางสังคม แต่หากคุณมองว่ามันยุ่งยากเกินไปและจำนวนเงินสินสอดดูสูงเกินตัว งั้นลองใช้สูตรคำนวณแบบง่าย ๆ นั่นคือ
(เงินเดือนฝ่ายชาย) บวก (เงินเดือนฝ่ายหญิง) คูณ (5 ถึง 10) = สินสอด
ตัวอย่างเช่น ฝ่ายชายมีเงินเดือน 35,000 บาท ส่วนฝ่ายหญิงมีเงินเดือน 32,000 บาท ทั้งสองฝ่ายตกลงคิดจากค่ากลางระหว่าง 5-10 อยู่ตรงที่ 7 ดังนั้นเงินสินสอดโดยประมาณของคู่นี้จะอยู่ที่ 469,000 บาท
ชาย-หญิงที่กำลังคิดจะแต่งงาน ลองนำไปคำนวณดู เชื่อว่าน่าจะพอเป็นแนวทางในการวางแผนการเงินเพื่อแต่งงานได้พอสมควร แต่ถ้าหากจำนวนสินสอดที่คำนวณได้มันเกินกว่ากำลัง คุณอาจจะปรับลดตามความเหมาะสมได้ ไม่ควรไปกู้ยืมเงินมา เพราะมันจะเป็นภาระตามมาในภายหลัง
และสำหรับใครที่มีความคิดว่า ‘ไหน ๆ จะแต่งงานทั้งที เรียกสินสอดให้น้อยหน้าชาวบ้านชาวช่องไม่ได้ ต้องเยอะไว้ก่อน!’ อยากให้คิดย้อนขึ้นไปใหม่ว่าจริง ๆ แล้ว คนเราแต่งงานกันเพื่อเงินสินสอด หรือเพราะความรักกันแน่
เพราะถ้าเป็นอย่างแรก คงยากหน่อยที่จะได้พบเจอ ‘คู่ชีวิต’
ที่มา: sanook
Tags: