คนรวย 1% ครองความมั่งคั่ง 82% ของทั้งโลก
อ็อกซ์แฟม อินเทอร์เนชันนัล องค์กรระหว่างประเทศด้านการต่อสู้กับความยากจน ออกรายงานฉบับล่าสุดที่เปิดเผยว่าร้อยละ 82 ของเงินที่งอกเงยขึ้นมาในปี 2017 เป็นของคนรวยที่สุดเพียงร้อยละ 1 ของโลก ขณะที่คนจนร้อยละ 50 ท้ายสุด หรือประมาณ 3,700 ล้านคนที่จนที่สุดในโลก กลับไม่ร่ำรวยขึ้นเลย
อ็อกซ์แฟมระบุว่า ระบบเศรษฐกิจปัจจุบันทำให้คนรวยได้รับผลประโยชน์มากขึ้น เนื่องจากเงินที่งอกเงยขึ้นมาจะต่อยอดมาจากความร่ำรวย ไม่ใช่การทำงานหนัก นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังเน้นย้ำให้เห็นผลร้ายแรงจากความเหลื่อมล้ำทางเพศด้วย โดยข้อมูลระบุว่า ผู้ชายถือครองทรัพย์สิน หุ้น ที่ดิน มากกว่าผู้หญิงอย่างเห็นได้ชัด
วินนี เบียนยิมา ผู้อำนวยการบริหารอ็อกซ์แฟม อินเทอร์เนชันนัลกล่าวเตือนว่า การที่เห็นเศรษฐีร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจกำลังไปได้ดี แต่เป็นอาการที่แสดงให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจกำลังล้มเหลว ที่คนทอผ้า ประกอบโทรศัพท์ หรือปลูกผักให้เรากินถูกเอารัดเอาเปรียบเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งให้กับบริษัทใหญ่และมหาเศรษฐี
รายงานของอ็อกซ์แฟมออกมาเพียงไม่นานก่อนที่จะมีการประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่เมืองดาวอสของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเบียนยิมาแสดงความเห็นว่า คนชั้นนำของโลกทั้งด้านการเมืองและธุรกิจที่จะไปประชุมที่ดาวอส ควรหยุดพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำแล้วหันมาทำอะไรที่เป็นรูปธรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจได้แล้ว
เบียนยิมายังวิพากษ์วิจารณ์ว่า ผู้นำหลายคนยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมย่ำแย่ลง โดยเฉพาะนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะเข้าร่วมการประชุมที่ดาวอสด้วย โดยกล่าวว่านายทรัมป์ได้แต่งตั้ง 'คณะรัฐมนตรีมหาเศรษฐี' และออกนโยบายภาษีเอื้อประโยชน์ให้คนที่มีฐานะร่ำรวยมากในสังคม แต่ไม่คำนึงถึงประชาชนทั่วไป
อ็อกซ์แฟมเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ มุ่งเน้นนโยบายที่จะกระจายความมั่งคั่งอย่างเป็นธรรม และส่งเสริมสิทธิแรงงานให้เข็มแข็ง เช่น นโยบายกำหนดค่าแรงขั้นต่ำที่เพียงพอกับการดำรงชีวิตของแรงงาน (Living Wage) สนับสนุนสหภาพแรงงาน แก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ
อ็อกซ์แฟม ยังแนะนำว่ารัฐบาลควรจัดการกับการหลีกเลี่ยงภาษี และใช้นโยบายภาษีลดความร่ำรวยสุดขีดลง รวมถึงกำหนดเพดานรายได้ของผู้ถือหุ้นและเงินเดือนผู้บริหาร และบริษัทต่างๆ ไม่ควรจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้น หากยังไม่ยอมให้ค่าแรงที่เพียงพอกับการดำรงชีวิตของแรงงาน รวมถึงเรียกร้องให้มีการกำจัดแหล่งพักเงินในต่างประเทศเพื่อเลี่ยงภาษี และนำเงินภาษีที่ได้ไปทุ่มให้กับการศึกษา สาธารณสุข และการสร้างงานให้คนรุ่นใหม่
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวบีบีซีเผยแพร่ความเห็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจที่เห็นต่างจากรายงานของอ็อกซ์แฟม โดยอ้างอิง 'มาร์ค ลิตเติลวูด' ผู้อำนวยการสถาบันด้านนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งระบุว่าอ็อกซ์แฟมหมกมุ่นอยู่กับคนร่ำรวยมากกว่าจะหาทางแก้ปัญหาให้แก่คนยากจน โดยเขาระบุว่า การขึ้นภาษีจะไม่ช่วยอะไรแก่คนยากจนมากนัก เพราะความมั่งคั่งไม่สามารถแบ่งสันปันส่วนกันได้อย่างชัดเจน และคนรวยต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงอยู่แล้ว การหาทางลดทอนความมั่งคั่งของคนกลุ่มนี้จึงไม่ส่งผลดีต่อการกระจายรายได้ในสังคม
แซม ดูมิทริว นักวิชาการประจำสถาบันอดัม สมิธ เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งออกมาคัดค้านรายงานของอ็อกซ์แฟม โดยเขาระบุว่า อ็อกซ์แฟมให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เพราะแท้จริงแล้วความเหลื่อมล้ำในสังคมทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยยกตัวอย่างประชากรในจีน เวียดนาม และอินเดีย ซึ่งได้รับผลประโยชน์จากนโยบายที่ส่งเสริมแนวคิดเสรีทุนนิยม ช่วยกระตุ้นการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และลดการควบคุมหรือจำกัดสิทธิในการถือครองอสังหาริมทรัพย์ เช่นเดียวกับประเทศยากจนทั่วโลกที่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม รายงานของอ็อกซ์แฟมระบุว่าร้อยละ 72 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 70,000 คนใน 10 ประเทศทั่วโลก ยังคงยืนยันว่า พวกเขาต้องการให้รัฐบาลตระหนักและหาทางแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนเพื่อลดช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนรวยและคนจน
ที่มา: VoiceTV
Tags: