ซื้อยาผ่านเน็ต ปลอดภัยแค่ไหน?
ออนไลน์ เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่การทำมาค้าขายทำได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว เหมาะกับวัยหนุ่มสาวที่เล่นอินเตอร์เน็ตเป็นประจำทุกวัน อีกทั้งยังมีต้นทุนต่ำ ทำให้ราคาของถูกลงไปอีกด้วย ปัจจุบันการขายของออนไลน์จึงเป็นที่นิยมกันมากทั้งผู้ซื้อ และผู้ขาย
แต่สินค้าบางประเภทก็ยากที่จะขายกันผ่านออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าประเภท “ยา” ที่ปกติแล้วเราต้องเดินเข้าร้านขายยาที่มีเภสัชกรเป็นผู้ดูแลจัดยาให้ แต่หากมีการขายยากันผ่านอินเตอร์เน็ต เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่ายาเหล่านั้นเหมาะกับเรา และปลอดภัยกับเราจริงๆ
ขายยาผ่านเน็ต ถูกกฎหมาย?
ก่อนที่จะพูดเรื่องความปลอดภัยต่อร่างกาย เรามาพูดกันถึงประเด็นแรก คือเรื่องของกฎหมายกันก่อน หลายคนอาจจะทราบดีอยู่แล้วว่าการขายยาโดยไม่มีเภสัชกรเป็นผู้แนะนำ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ดังจะเห็นจากร้านสะดวกซื้อที่มีเคาท์เตอร์ขายยา จะไม่จำหน่ายยาให้เราเมื่อเภสัชกรไม่อยู่ประจำร้าน
ตามหลักกฎหมายแล้ว การขายยาผ่านอินเตอร์เน็ตถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นการขายยานอกสถานที่ที่ได้รับอนุญาต ยกเว้น ยาสามัญประจำบ้านที่สามารถขายได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต เช่น ยาแก้ไอ ปวดศีรษะ ลดน้ำมูก ยาแก้เมารถ เมาเรือ ถูกน้ำร้อนลวก ท้องอืด ท้องเฟ้อ ถูกมีดบาด น้ำเกลือแร่ ORS แก้ท้องร่วง และวิตามิน เป็นต้น
ยา คือวัตถุที่มุ่งสำหรับใช้ในการวินิจฉัย บำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยของมนุษย์หรือสัตว์ หรือวัตถุที่มุ่งหมายสำหรับให้เกิดผลแก่สุขภาพ โครงสร้างหรือกระทำหน้าที่ใดๆ ของร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์ ซึ่งการขายยาต้องขายภายในร้านที่มีเภสัชกรอยู่ตลอดเวลาทำการ ไม่สามารถขายบนอินเทอร์เน็ตได้ อีกทั้งยาอันตรายยังมิให้โฆษณาขายยาต่อประชาชนทั่วไปด้วย ซึ่งการขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
ยาในเน็ต อันตราย?
เนื่องจากยาในอินเตอร์เน็ต มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสินค้าที่ไม่ผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. โดยเฉพาะยาที่กล่าวอ้างสรรพคุณน่าเหลือเชื่อ รวมไปถึงยาสมุนไพรที่อาจกล่าวอ้างว่าปลอดภัย 100% เพราะมาจากธรรมชาติแท้ๆ ที่อาจทำให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดว่าปลอดภัยจริงๆ แต่อันที่จริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นยาปฏิชีวนะแผนปัจจุบัน หรือยาสมุนไพรแผนโบราณ ก็ไม่สามารถจำหน่ายผ่านอินเตอร์เน็ตโดยไม่มีเภสัชกรเป็นผู้ดูแลได้ อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการได้ยาปลอม แม้ว่าจะเป็นตัวยาที่เคยใช้ หรือเคยได้ยินชื่อก็ตาม
ดังนั้น ควรซื้อยาจากร้ายขายยาที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานสาธารณสุข มีเภสัชกรที่แท้จริงประจำอยู่ที่ร้าน หรือเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และรับยาที่ตรงกับอาการจริงๆ จะปลอดภัยที่สุด
ที่มา: sanook
Tags: