หินนำโชค มุสลิมใส่ไม่ได้! จริงไม๊ !
เมื่อเราเดินไปตามตลาดนัดหรือบนห้างสรรพสินค้า เรามักจะเห็นหินสีสันต่างๆ ที่นำมาดัดแปลงเป็นเครื่องประดับ ไม่ว่าจะเป็นกำไล สร้อย สร้อยข้อมือ ต่างหู และแหวน ซึ่งเป็นกระแสที่คนกำลังนิยมใส่กันอยู่ขณะนี้ แต่รู้หรือไม่ว่าหินสีต่างๆ เหล่านั้นแฝงไปด้วยความเชื่อ! หินมงคล หินนำโชค เครื่องประดับที่กำลังฮิตปี 2015 ที่ต่างศาสนิกเชื่อกันว่า เป็นหินนําโชค เป็นหินมงคล เสริมดวง โดย หินนำโชค แต่ละสีความหมายของหินสี จะแตกต่างกันในเรื่องเสริมดวง การงาน การเงิน ความรัก สุขภาพ แน่นอน! มุสลิมเราไม่เชื่อเรื่องเหล่านี้…
แต่ในเมื่อมันเป็นเครื่องประดับ หินสีเหล่านี้ มุสลิมสามารถใส่ได้หรือไม่อย่างไร “อ.อับดุลอาซีซ ขำเจริญ” หัวหน้าฝ่ายเผยแพร่ มูลนิธิสภายุวมุสลิมโลก สำนักงานประเทศไทย ได้ให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า…
“หินสีถ้าหากโดยตามปกติแล้วหินก็คือสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮาฮูวะตะอาลาทรงสร้างมาอย่างหนึ่ง ดังนั้นเราก็จะอ้างถึงในสมัยของท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) เมื่อครั้งนบีได้จูบหินดำเมื่อท่านได้ไปประกอบพิธีหัจญ์ ท่านอูมัร อิบนิค๊อตต๊อบ รอฎิยัลลอฮุฮันฮุได้บอกว่า“แท้จริงฉันรู้ว่าเจ้า (หมายถึงหินดำ) คือ หินธรรมดาก้อนหนึ่งเท่านั้น เจ้าไม่ให้โทษและไม่ให้คุณ, หากว่าฉันไม่เห็นท่านรสูลุลลอฮฺ จูบเจ้าแล้วละก้อ ฉันก็จะไม่จูบเจ้าหรอก”(บันทึกโดยบุคอรีย์ และมุสลิม)นี่คือคำพูดของท่านอูมัร อิบนิค๊อตต๊อบ คอลีฟะห์ท่านที่ 2 นี่คือสิ่งที่เราน่าคิดว่า ไม่ว่าอะไรก็ตามที่ท่านนบีมูฮัมหมัด(ซ.ล.) ได้กระทำไว้ เราจำต้องปฏิบัติตาม แม้ว่าเราจะรู้เหตุผลหรือไม่ก็ตาม
ส่วนในปัจจุบันนี้เราก็ได้เห็นว่า มีคนบางกลุ่มได้เอาลูกประคำ หรือว่าหินเม็ดสวยๆ งามๆ มาใส่กัน แล้วก็มีความเชื่อว่าจะเสริมบารมี นำโชค ให้ลาภ บ้างก็เชื่อว่าจะช่วยให้การค้าการขายดีขึ้น หรือว่าให้ชีวิตการงานของตัวเองงอกงามขึ้น สิ่งเหล่านี้ เป็นความเชื่อที่ผิดในรูปแบบอิสลาม หากเรานำสิ่งนั้นมาแขวน เราเชื่อแบบนั้น ถือว่าเราได้ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ(ซบ.)
ท่านนบีมูฮัมหมัด ได้กล่าวว่า“ผู้ใดห้อยหรือสวมใส่เครื่องรางของขลัง(ตะมีมะฮฺ) (ตามร่างกายของตัวเอง ลูกๆ หรือในบ้าน) ใดๆ แน่นอนเขาได้ทำชิริกแล้ว”(บันทึกโดยอะหมัดและฮากิม)
ตะมีมะฮฺ (เครื่องราง) หมายถึง ลูกประคำที่ชาวอาหรับแขวนให้กับเด็กๆเพื่อป้องกันอันตรายจากดวงวิญญาณปีศาจ ตามความเชื่อของพวกเขา ต่อมาอิสลามได้ทำลาย และห้ามใช้มัน เพราะท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) ได้บอกไว้ว่าใครก็ตามที่แขวนเครื่องลาง ของขลัง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นหิน ไม้ เชือก บางคนเอาซูเราะห์ยาซีน หรือแม้กระทั่งเอากุรอานทั้งเล่มแต่ย่อฉบับเล็กๆ ได้นำมาห้อยที่คอ แขน และเอว ภาษาอาหรับเรียกว่า “ตะมีมะห์” ดังนั้นอิสลามห้ามในการที่จะให้สิ่งเหล่านี้มายุ่งวุ่นวายในชีวิต และถือว่าเป็นการทำชีริก ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ (ซบ.)
ถ้าเราใส่หินนำโชคได้หรือไม่? หากใส่มันเพื่อความสวยงามจะผิดหลักการอิสลามหรือไม่ อย่างไร?
“เราไม่สามารถใส่หินนำโชคได้. ถ้าหากว่าใส่เพื่อความสวยงามโดยไม่มีความเชื่อที่ผิดๆ นั้นไม่มีปัญหา แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องไม่เป็นการเลียนแบบคนกลุ่มหนึ่ง กลุ่มใดที่ไม่ใช่มุสลิม เพราะท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) ได้บอกความว่า “ใครก็ตามที่เรียนแบบคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด (ในเรื่องการแต่งกาย การสวมของต่างๆ เสื้อผ้า ในเรื่องกิริยามารยาท ในเรื่องคำพูด ความเชื่อ) เขาก็จะเป็นคนกลุ่มนั้น” ดังนั้นเราไปเลียนแบบคนที่เขามีการทำไสยศาสตร์ หรือว่าทำให้เครื่องรางของขลัง มันทำให้เราตกไปอยู่กับคนกลุ่มนั้นด้วย ดังนั้นถ้าหากว่าเป็น เพชร นิลจินดา พลอยต่างๆ ที่คนเขาใส่ปกติกัน และก็ไม่ได้มีความเชื่อ ใส่เพื่อเป็นเครื่องประดับร่างกายเพื่อให้สวยให้งาม ย่อมทำได้ แต่ถ้าหากว่าเรามีความเชื่อ เช่น เมื่อใส่แล้วจะมีโชคลาภ ใส่แบบนี้จะเสริมบารมี อันนี้เป็นสิ่งที่เชื่อในด้านที่ผิด ไม่อนุญาติในการที่จะใส่ แล้วถ้าหากว่าคนทั่วไปเขาใส่กัน และเราก็ไปใส่ด้วย แสดงว่าเราก็ปฏิบัติตามคนกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่อิสลามเหมือนกัน”
อาจารย์คิดอย่างไรว่า ถึงแม้เราไม่มีความเชื่อตามนั้น และถ้าเราใส่แล้วคนที่เห็นคิดว่าเราเชื่ออย่างนั้น ก็จะเกิดฟิตนะห์กับตัวเอง และอาจจะลามไปถึงอิสลามอีก
“แน่นอนครับ ถ้าหากเราไม่มีความเชื่อใดๆ แล้วผู้คนเขาใส่กันตามปกติธรรมดา โดยที่นำมาเป็นเครื่องประดับเฉยๆ ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าหากว่าผู้คนเขาใส่กันแล้วเขายึดถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องรางของขลัง เมื่อเราใส่ไปด้วย แน่นอนครับ มันต้องเกิดความเข้าใจผิด เกิดฟิตนะห์ความเสียหายแก่ตัวเรา อาจจะมีคนพูดว่า.. ทำไมคลุมผ้าฮิญาบเหมือนเป็นคนมุสลิมแต่สวมใส่สิ่งเหล่านี้ แน่นอนจะทำให้เราเสียภาพพจน์ความเป็นมุสลิมไปด้วย เนื่องจากว่าคนที่ต่างศาสนิกเขาใส่กัน และเราไปใส่สิ่งเหล่านั้นด้วย เพราะเขามีความเชื่อแบบนั้น ดังนั้นคนที่มองเราคิดว่า เราน่าจะมีความเชื่อแบบนั้นไปด้วย ก็จะทำให้ผู้อื่น เข้าใจตัวเราผิดและเข้าใจศาสนาอิสลามว่าใส่สิ่งเหล่านี้ได้ ทางที่ดีหลีกเลี่ยงเป็นดีที่สุด
และจะมีบางสถานที่เขาบอกว่าของขลังอิสลาม ของขลังแขก มันจะมีคำพูดเหล่านี้เกิดขึ้น ผมเคยดูทางอินเตอร์เน็ตแล้วเจอ มีสถานที่ที่จะทำเรื่องเครื่องรางของขลังการสักยันต์ แม้กระทั่งมีรูปเขียนคำว่า “อัลลอฮฺ” อยู่บนหลัง โดยคนทำไม่ใช่มุสลิมทางจังหวัดนราธิวาส สักยาซีนเพื่อเสริมบารมี และใช้คำที่นำมาจากกุรอาน ดังนั้น กุรอานแน่นอนเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าหากเราทำในสิ่งที่ผิด ไม่ถูกต้องก็ถือว่าการทำชีริกต่ออัลลอฮฺ(ซบ.) ถามว่าสิ่งเหล่านี้ท่านนบีทำไหม? ถ้าหากว่าทำได้ ท่านนบีก็คงทำให้กับบรรดาซอฮาบะห์แล้ว
เราต้องแยกครับว่า บางคนใส่หรือแขวนสิ่งเหล่านั้นโดยมีความเชื่อว่า ใส่ไปแล้วจะป้องกันโรคภัย ทำให้ผิวพรรณดี เลือดลมดี ซึ่งเราต้องแยกออก ระหว่างความเชื่อ กับยาสมุนไพรหรือยารักษาโรคแผนปัจจุบันที่พิสูจน์ได้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เช่น ยาพารา ได้ผ่านกระบวนการทดสอบแล้วทางวิทยาศาสตร์ว่า แก้อาการปวดศีรษะ ทำให้อาการบรรเทาลง แต่ถ้าบอกว่าแขวนหินนี้ หรือตะกรุดนี้ จะทำให้ตัวเองนั้นมีชีวิตดีขึ้น ทำให้ตัวเองนั้นหายจากโรคภัย สิ่งเหล่านี้เราพิสูจน์ไม่ได้
อิสลามไม่อนุญาตให้กระทำ ถือว่าเป็นการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ(ซบ.) ตามที่ท่านนบี(ซ.ล.) ได้ประกาศไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่เกิดมาใหม่ๆ จะผูกเชือกที่แขนบ้าง ที่ขาบ้าง เชื่อว่าเด็กจะได้ไม่งอแง ไม่ร้อง มีความเชื่อว่าเด็กจะปลอดภัยจากสิ่งที่จะมารบกวน ทั้งวิญญาณต่างๆ ถ้าเขาเชื่อแบบนั้น เขาได้ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ(ซบ.) พระองค์ได้บอกว่า “แท้จริงอัลลอฮฺ จะไม่ทรงอภัยโทษให้แก่การที่สิ่งหนึ่งจะถูกให้มีภาคี ขึ้นแก่พระองค์ และพระองค์ทรงอภัยให้แก่สิ่งอื่นจากนั้น สำหรับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และผู้ใดให้มีภาคีขึ้นแก่อัลลอฮฺแล้ว แน่นอนเขาก็ได้อุปโลกน์บาปกรรมอันใหญ่หลวงขึ้น” (อันนิซาอฺ : 48) อย่างน้อยเราก็เห็นได้ว่าการที่เราได้เอาสิ่งที่เป็นเครื่องรางของขลังอะไรก็ตามแต่ เราคิดสั้นๆว่าศาสนาอื่นเขามี ศาสนาอิสลามเราก็น่าจะมีบ้าง สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นสิ่งที่อนุมัติเลยของศาสนาอิสลาม เราก็ต้องระวังในการที่จะใช้ชีวิต และการปฏิบัติตัว”
อาจารย์มองอย่างไรกับสมัยนี้ที่มนุษย์เราสรรหาความเชื่อมาหลอกในการทำมาหากิน เพราะสมัยนี้จิตใจคนอ่อนแอลงอย่างน่าใจหาย
“ผมคิดว่า ถ้าหากเป็นความเชื่อของศาสนิกอื่นเราไม่สมควรที่จะใส่ แต่ถ้าหากว่าคนอื่นเขาใส่เป็นเครื่องประดับทั่วไป เราก็ใช้เป็นเครื่องประดับด้วยก็ไม่มีปัญหา เพราะท่านนบี(ซ.ล.) ได้บอกความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺนั้นสวยงามและพระองค์นั้นทรงรักความสวยงาม” ดังนั้นถ้าเราจะทำอะไรให้สวยงามที่ถูกวิธีที่ถูกต้องตามหลักกระบวนการที่ท่านนบี(ซ.ล.) และอัลลอฮฺ(ซบ.) บอกไว้ก็ไม่มีปัญหา เพราะอัลลอฮฺก็รักความสวยงามเช่นกัน แต่เราก็ต้องตระหนักและแยกแยะว่า สิ่งไหนเป็นเครื่องประดับของผู้หญิง หรือสิ่งไหนเป็นเครื่องประดับของผู้ชาย”
ฝากถึงสังคมมุสลิมที่ยังมีความเชื่อแบบผิดๆ พร้อมแนะนำวิธีเสริมบารอกัตและริสกีฉบับอิสลาม
- จะฝากในเรื่องเสริมบารอกัต ท่านนบีมูฮัมหมัด(ซ.ล.) ได้บอกไว้ ใครก็ตามที่ชอบที่จะให้เงินไหลมาเทมาที่จะให้ริสกีเยอะๆ และจะให้มีอายุยืนยาว ให้มีความสิริมงคล มีความบารอกัตในชีวิตของเขา ท่านนบีสั่งไว้ให้เขาไปเชื่อมสัมพันธ์กับเครือญาติของเขา และริสกีก็จะไหลมาเทมา อายุของเขาก็จะยืนยาว ชีวิตของเขาก็จะมีความสุข ท่านนบีมูฮัมหมัด ได้กล่าวว่า“ใครก็ตามชอบที่จะให้เงินทองไหลมาเทมา และมีอายุยืน (มีความบารอกะห์ในชีวิต) แล้ว เขาจงกระชับความสัมพันธ์ และสร้างมิตรไมตรีกับเครือญาติของเขาเถิด”
- ให้เรายำเกรงต่ออัลลอฮฺ(ซบ.) ได้บอกไว้ว่าใครที่ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ(ซบ.) ก็จะได้ให้ทางออกที่ดีแก่เขา และก็จะให้ริสกี ให้เงินไหลมาเทมา ให้ความศิริมงคลแก่ชีวิต ริสกีของเขาไม่สามารถที่จะคณานับได้ว่ามันเยอะขนาดนี้ ดังนั้นใครยิ่งยำเกรงต่ออัลลอฮฺเชื่อมั่นในอัลลอฮฺ หวั่นเกรงในคำสอนอัลลอฮฺ(ซบ.) เขาก็ยิ่งได้รับความสิริมงคล ความบารอกัต และริสกีที่เพิ่มพูนมากกขึ้น พระองค์ทรงตรัสความว่า “และผู้ใดยำเกรงอัลลอฮฺ พระองค์จะทรงหาทางออกให้แก่เขา และจะทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่เขาโดยที่เขามิได้คาดคิด”
- การที่เรานั้นได้หาสิ่งที่ดี อาชีพที่ดีและฮาลาล หรือว่าหารายได้ที่ฮาลาลมาในชีวิตของเรา เพราะท่านนบีมูฮัมหมัด(ซ.ล.) ได้บอกไว้ว่า แท้จริงทรัพย์สินที่อยู่บนโลกดุนยานี้เขียวชะอุ่ม คนอยากจะได้กันทั้งนั้น ดังนั้นใครที่ได้รับมาอย่างถูกวิธี ถูกต้องตามกระบวนการ ที่อัลลอฮฺ(ซบ.) ได้ทรงบอกไว้ สิ่งเหล่านั้นก็จะเป็นความศิริมงคลด้วย เป็นบารอกัตแก่เขา
- การที่เราพูดจริง ทำจริง กับบุคคลอื่น แน่นอนกับอัลลอฮฺ(ซบ.) เราต้องทำแน่นอน กับบุคคลรอบข้างเรา สิ่งเหล่านี้จะทำให้เรานั้นได้รับความจำเริญในชีวิตของเรา แม้กระทั่งเรื่องการค้าขายซึ่งท่านนบีได้บอกไว้ว่า ชายสองคนที่มีสิทธิ์เลือก และก็มีสิทธิ์ที่จะเลิกการค้าขาย ตราบใดที่เขายังไม่แยกตัวกัน นอกเสียจากทั้งสองนั้นพูดจริง พูดจาที่ถูกต้อง สุจริต และอัลลอฮฺ(ซบ.) จะกำหนดความศิริมงคล ความบารอกัตให้แก่เขา ดังนั้นให้เราพูดจริงทำจริง บางคนจะรอริสกี รอบารอกัตอย่างเดียวนอนอยู่กับบ้านก็ไม่ได้ เพราะท่านอูมัร อิบนุ ค็อตต๊อบ ได้รายงานว่า “ริสกีนั้นไม่ได้ถูกโปรยลงมาเป็นเงินเป็นทองจากฟากฟ้า แต่ริสกีนั้นจะมาด้วยกับการขวนขวายของเรา”
- ท่านนบีมูฮัมหมัด(ซ.ล.) ได้บอกว่า อัลลอฮฺจะประทานบารอกัต ความเป็นศิริมงคล แก่ประชาชาติของฉันในการที่เขานั้นไปทำกิจกรรมในยามเช้าๆ บางคนเช้ามานอนไม่ยอมตื่นขึ้นมา แต่อิสลามได้สนับสนุนให้ทำกิจกรรมหรือทำงานทำการในช่วงเช้าๆ แล้วไม่ล่าช้า นี่คือสิ่งที่อยากให้พวกเราได้คิดกันว่าเราจะได้บารอกัตอย่างไร
- ประการสุดท้ายที่อยากจะฝากไว้ คือ สิ่งใดที่เป็นบาปเป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะมันเป็นสิ่งที่ฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ(ซ.ล.) เป็นสิ่งที่ห้ามเราจากการที่เราได้รับบารอกัต ได้รับความศิริมงคล เพราะท่านนบีได้บอกไว้ว่า “แท้จริงบ่าวจะถูกห้ามจากการรับปัจจัยยังชีพด้วยบาปที่เขานั้นได้กระทำไว้” ดังนั้นเรามีบาปน้อย เราก็จะได้มีบารอกัต ได้มีความศิริมงคล มีปัจจัยยยังชีพมากขึ้น ขอให้พวกเราเห็นโลกดุนยานี้แค่เพียงเครื่องทดลอง เพราะเครื่องทดลองนี้มันจะทดลองเราตลอดชีวิตของเราในโลกดุนยาใบนี้ครับ.
ที่มา : muslimahthai.com
Tags: