ปวดหัวแบบไหน ที่อันตรายและควรพบแพทย์ด่วน
พาราเซตามอล แอสไพริน และกลุ่มยาแก้ปวดต่างๆ เป็นที่คุ้นเคยกับคนไทยมาก เพราะไม่ว่าจะปวดหัวแบบไหน มีไข้ไม่สบาย หรือเครียดสะสมจากการทำงาน คนไทยก็คว้ายาใส่ปากทานกันได้ง่ายๆ แต่อาการปวดหัวไม่ได้หายกันได้ง่ายๆ แบบนั้นเสมอไป เพราะอาการปวดหัวอาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นของโรคร้ายอันตรายหลายอย่างที่น่ากลัวกว่าที่คุณคิด
ปวดหัวไม่เหมือนเดิม
เราสามารถสังเกตอาการปวดหัวของเราในแต่ละครั้งได้ว่ามีอาการเหมือนเดิมหรือไม่ ถ้าปกติมักจะปวดหัวตุบๆ ตรงช่วงกลางหน้าผากอยู่บ่อยๆ แต่คราวนี้ดันปวดหัวมากกว่าเดิม และรู้สึกปวดร้าวๆ บริเวณขมับด้านขวาข้างเดียว ปวดมากจนตาพร่า ถือว่าเป็นอาการปวดที่ไม่เหมือนเดิม อาจเป็นสัญญาณเตือนภัยถึงอาการที่ผิดปกติได้
ปวดหัวเหมือนเดิม แต่เพิ่มความถี่
อาการปวดหัวสามารถเกิดขึ้นได้บ้างเป็นบางครั้ง ไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติอะไรมาก แต่หากปวดหัวแบบเดิมซ้ำๆ บ่อยๆ แม้ว่าจะไม่ได้ปวดหนักมาก แต่ก็ยังถือว่าอาจมีความผิดปกติได้ หากปวดหัวบ่อยขึ้น ปวดหัวทุกวัน หรือวันละหลายๆ ครั้ง จนกระทั่งปวดหัวตลอดเวลา น่าจะไม่ใช่อาการปวดหัวธรรมดาๆ แล้วล่ะ
ปวดหัวจนต้องตื่นขึ้นมากลางดึก
ตามปกติแล้วเมื่อเราอยู่ในช่วงหลับลึก ประสาทสัมผัสต่างๆ ของเราจะลดลง หากมีอาการบาดเจ็บ หรือแม้กระทั่งอาการปวดต่างๆ ก่อนเข้านอน เมื่อเรานอนจนเข้าสู่ช่วงหลับสนิทแล้ว เราจะไม่รู้สึกถึงอาการเหล่านั้น แต่หากเป็นอาการปวดเฉียบพลันที่ทำให้เราทนไม่ไหว ต้องตื่นขึ้นมากลางดึก นั่นหมายความว่าเป็นอาการปวดที่ไม่ธรรมดา
ปวดหัว พร้อมอาการข้างเคียงอื่นๆ
หากปวดหัวเพียงอย่างเดียว ทานยาก็หาย แต่ถ้าปวดหัวมากๆ แล้วยังมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ตาพร่ามัว หน้ามืด แขนขาอ่อนแรง หน้าหรือปากเบี้ยว มีความเป็นไปได้ว่าจะมีความผิดปกติทางประสาท และสมอง
ปวดหัวแล้วทานยาไม่หาย
จากที่เคยคว้าพาราเซตามอลมาทานเม็ดเดียวหาย ก็เริ่มต้องทานเพิ่มเป็น 2 เม็ด หรือเริ่มที่จะต้องเปลี่ยนตัวยาไปพอนสแตน หรือตัวยาอื่นๆ ที่แรงขึ้นเรื่อยๆ แสดงว่าไม่ใช่อาการปวดหัวธรรมดาๆ อย่างที่เคยเป็นแน่นอน อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจกำลังทวีความรุนแรงโดยที่คุณอาจไม่รู้ตัวก็ได้
หากมีอาการปวดหัวที่ผิดปกติเหล่านี้ แนะนำให้รีบพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนภัยโรคร้ายอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับประสาท และสมอง เช่น เส้นเลือดในสมองแตก มะเร็งสมอง และเนื้องอกในสมอง นอกจากนี้ อย่ารอจนกว่าจะมีอาการปวดมากกว่าเดิมจนถึงขั้นทานยาอะไรก็ไม่หาย เพราะหากมีอาการมากถึงขั้นนั้น วิธีการรักษาก็จะยากมากขึ้น และอาจจะต้องใช้วิธีการรักษาอื่นๆ ที่มีค่าใช้จ่ายสูงมากขึ้นตามไปด้วย
ที่มา: sanook
Tags: