เมื่อฮิญาบไทยกับกระบวนการถอยหลังลงคลอง!!
เมื่อฮิญาบไทยกับกระบวนการถอยหลังลงคลอง
สำนวนในภาษาไทยที่กล่าวกันว่า “ถอยหลังลงคลอง” นั้นโดยปกติแล้วมักหมายถึงปฏิกิริยาที่เป็นลบหรือปรากฏการณ์ของสังคมมนุษย์ที่มีลักษณะย้อนศรไปสู่รากเหง้าที่เป็นลบ เช่น การรัฐประหารในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2619 ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่นำพาการเมืองไทยถอยหลังลงคลองไปสู่วังวนการเมืองแบบเก่า อย่างไรก็ตามนัยยะนี้ย่อมแตกต่างกับปรากฏการณ์ของสังคมมนุษย์ที่มีลักษณะย้อนศรไปสู่รากเหง้าที่เป็นบวก อาทิ สังคมมุสลิมแห่งยุคสมัยกัลป์ญาณชนสะลัฟที่ชาวมุสลิมพึงมองว่าเป็นสังคมอุดมคติของมวลมนุษย์
คำว่าถอยหลังลงคลองที่ผู้เขียนกล่าวถึงนี้โดยกรอบของบทความสั้นๆชิ้นนี้แล้วผู้เขียนหมายถึงปรากฏการณ์ของสังคม (สตรี) มุสลิมไทยที่แสดงออกถึงการย้อนศรไปสู่รากเหง้าที่เป็นลบของตนเองผ่านการแสดงออกด้วยเครื่องแต่งกายฮิญาบ กล่าวคือดังที่ผู้เขียนได้เคยเขียนไปในงานเขียนชิ้นหนึ่งของผู้เขียนเรื่องฮิญาบนั้นผู้เขียนได้ให้ข้อสรุปว่า ก่อนเหตุการณ์การประท้วงของนักศึกษามุสลิมไทย ปี พ.ศ. 2530 -2531 ณ วิทยาลัยครูยะลาเพื่อขอสิทธิการคลุมฮิญาบในฐานะพลเมืองใต้รัฐธรรมนูญแห่งเสรีภาพทางศาสนา การสวมฮิญาบของผู้คนในขณะนั้นยังอยู่ในโลกทัศน์ที่ค่อนข้างผิดเพี้ยนไปจากโลกทัศน์ของหลักการอิสลามอยู่มาก เพราะโดยทั้งนี้แล้วนอกจากฮิญาบจะเป็นเพียงเครื่องแต่งกายของคนสูงอายุด้วยรูปแบบฮิญาบที่ไม่ต่างจากผ้าสาหรี่ของสตรีอินเดียแล้ว ในหมู่สตรีสาวมุสลิมก็แทบจะไม่มีใครสวมฮิญาบในมิติของความเข้าใจที่ว่ามันคือบทบัญญัติบังคับที่กฎหมายอิสลามกำหนดไว้ พูดอีกนัยหนึ่งแล้วฮิญาบเป็นเพียงเครื่องแต่งกายที่ถูกกรอบเกณฑ์ของวัฒนธรรมพื้นบ้านแบบมลายู-พุทธจำกัดบริบทการสวมใส่ของมัน ส่วนมากของผู้คนจึงสวมใส่มันในพิธีการทางศาสนาหรือใส่เป็นวัฒนธรรมที่ไร้ซึ่งเป้าหมายของการปกปิดและการแสดงออกถึงศีลธรรมอันสูงส่งดังเช่นทุกวันนี้แต่อย่างใด และการจะสวมใส่มันในฐานะอาภรณ์แห่งชีวิตก็ดูจะกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจยากเสียมากในสมัยนั้น จนกระทั่งเมื่อกระแสการฟื้นฟูอิสลามที่ฝังตัวมานานทั้งจากแนวคิดของกลุ่มอิควานจนกระทั่งการระเบิดขึ้นของการปฏิวัติชีอะฮ์ในอิหร่าน ฮิญาบในฐานะจิตสำนึกทางอัตลักษณ์ของสตรีแห่งประชาชาติอิสลามจึงถูกกระชากขึ้นมาจากโคลนตมที่บดบังตัวมันเองสู่การเป็นอาภรณ์แห่งอัตลักษณ์และเกียรติยศตามเจตนารมณ์ทางศาสนาอีกครั้ง
โดยทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน มองว่ายุคสมัยแห่งฮิญาบในสังคมมุสลิมไทยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง คือ
- ยุคสมัยของฮิญาบกึ่งวัฒนธรรม นั่นคือตั้งแต่ก่อนช่วงการประท้วงปี พ.ศ. 2530 ที่สตรีสวมใส่มันในฐานะของเครื่องแต่งกายทางวัฒนธรรม
- ยุคสมัยของฮิญาบแบบอิสลามนั่นคือนับเอาหลังเหตุการณ์ประท้วงที่วิทยาลัยครูยะลาซึ่งนำพาไปสู่การสวมฮิญาบตามเจตนารมณ์ทางศาสนา
- ยุคสมัยของฮิญาบแบบเคร่งครัด นั่นคือนับตั้งแต่การเข้ามาของแนวคิดญะมาอะฮฺตับลีกและกลุ่มที่ถูกเรียกกันพล่อยๆว่า “วะฮาบีย์” ซึ่งได้นำเอาทัศนะการปิดหน้าติดตัวมาด้วยจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามคำถามที่ผู้เขียนตั้งขึ้นมานานแล้วก็คือว่าหลังจากยุคสมัยแห่งการปิดหน้าได้เบ่งบาน การเปลี่ยนผ่านของมันจะนำไปสู่รูปแบบใดของฮิญาบอีก?? แม้หลายคนอาจจะมองว่าฮิญาบจะยังคงเปลี่ยนแปลงเป็นวงกลมตามวังวนเดิมๆของมันที่มีขึ้นมีลงอยู่เสมอ แต่ทว่าผู้เขียนกลับเห็นว่ายุคสมัยที่ 4 ของฮิญาบในสังคมไทยนั้นดูท่าจะกลับไปเข้าสำนวนที่ว่าถอยหลังลงคลองภายใต้คำจำกัดความว่า “ฮิญาบแฟชั่น” อย่างไรอย่างนั้น ที่ว่าถอยหลังลงคลองนั้นก็เพราะว่ามันได้นำพาการคลุมฮิญาบของสตรีไปสู่สภาวะแบบสมัยแรกที่ผู้คนสวมฮิญาบในฐานะวัฒนธรรมไม่ใช่ในฐานะอาภรณ์แห่งศรัทธา ซึ่งเป็นการสะดุดล้มของฮิญาบไทยที่มีการพัฒนาไปข้างหน้ามาตลอดจะแตกต่างจากยุคสมัยแรกก็ตรงที่ฮิญาบสมัยนี้ได้กลายมาเป็นเครื่องมือของนายทุนและกลไกทางตลาดทุนนิยมที่เข้ามาครอบกะโหลกกะลาของผู้ใหญ่มุสลิม หลายสิ่งหลายอย่างที่เราไม่เคยคิดว่าทุนนิยมสามานย์จะเข้ามากวาดต้อนเข้าตลาดได้มันก็ทำไปจนได้ เช่น ฮิญาบได้ถูกนำมาเป็นเสื้อผ้าในการเดินแฟชั่นแคทวอล์คบนเวที มิหนำซ้ำการขายฮิญาบในยุคสมัยของเรานี้ก็ดูจะพิสดารพันลึกตรงที่มีการนำสาวสวยมากหน้าหลายตามาเป็นนางแบบเพื่อขายฮิญาบ
สตรีบางคนนั้นไซร้สวมใส่ฮิญาบเพียง เพราะพิจารณาว่าฮิญาบจะทำให้พวกนางดูงามจากใบหน้าอันเรียวยาวขึ้นมากกว่าตอนที่ไม่สวมใส่ฮิญาบ แม้กระทั่งธุรกิจโสโครกอย่างหนังภาพยนตร์ลามากอนาจารก็ดูเหมือนจะต้องการเจาะตลาดของเหล่าทุรชนที่นิยมสิ่งแปลกใหม่ความอุบาทว์การณ์ของสังคมโลกที่เราเห็นจึงปรากฏออกมาดังที่เป็นข่าวในทีวีอยู่ช่วงหนึ่งว่ามีภาพยนตร์ลามกที่ถูกถ่ายทำในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ในสภาพที่ยังคงสวมใส่ฮิญาบขณะถ่ายทำด้วยซ้ำ! เหล่านี้คือวิบากกรรมทางสังคมของสตรีมุสลิมที่คำว่า “ฮิญาบ” ได้ถูกตีความใหม่ให้เป็นเพียง “ผ้าครอบศีรษะ” ด้วยอำนาจของตลาดทุนนิยมและปรากฏการณ์ของสังคมที่เปลี่ยนไปดังจะพบเห็นการขายฮิญาบในสีสันที่น่าดึงดูดเพศตรงข้ามกันตามร้านค้ามุสลิมและสื่อออนไลน์ทั่วประเทศ
สิ่งเหล่านี้เป็นดั่งที่คาร์ล มาร์กได้เคยวิเคราะห์ไว้อย่างแจ่มแจ้งว่าระบบนายทุนจะทำให้มนุษย์เสียสมดุลในภาวะของความเป็นคนไปสู่ความเป็นสัตว์ทางเศรษฐกิจและผู้เสพสินค้าก็เป็นเพียงสัตว์ในคอกที่ไร้ปัญญาในการพิจารณา อำนาจของตลาดทุนนิยมที่ครอบงำความคิดคนผ่านกระบวนการเสกสรรวัตถุให้ทรงพลังแห่งการดึงดูดหรือทีเรียกว่ากระบวนการทำให้เป็นแฟชั่นได้ทำให้ทั้งผู้ประกอบกิจการและผู้บริโภคในตลาดทุนนิยมเสียสมดุลของความเป็นคนไป
สัญลักษณ์ของโหนกอูฐโหนกควายอันเป็นที่ต้องห้ามในหลักการอิสลามก็ได้ทะลุเข้าไปเป็นแฟชั่นอยู่บนฮิญาบของมุสลิมมากหน้าหลายตา กางเกงยีนขาเดฟรัดติ้วแม้ว่าจะใส่ดูพิลึกมากมายแค่ไหนก็ตามกับคำนิยามของคำว่าฮิญาบจริงๆแต่เราก็พบเห็นสตรีมุสลิมที่สมองมีปัญญาไว้เรียนหนังสือต่างสวมใส่มัน ทั้งที่หากเราพิจารณากระแสการเปลี่ยนผ่านของรูปทรงกางเกงนับตั้งแต่สมัย ขาบาน ขาม้า ขากระบอก ขาดิ้กกี้ มาจนถึง ขาเดฟเราจะพบว่ามันไม่มีความแตกต่างในแก่นแท้ของความเป็นเนื้อผ้าเลย และหากมนุษย์จะชอบมันก็ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องอาศัยเงื่อนไขของกาลเวลามาเป็นตัวแบ่งกระแสการใส่ของมันเลย แต่ที่เป็นทั้งหมดเช่นนั้นได้ก็เพราะอำนาจของตลาดแฟชั่นที่กำหนดความคิดคนให้ชอบในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงในใจของมนุษย์ก็เท่านั้นเอง
ศัตรูตัวใหม่ของสตรีมุสลิมนักทำงานอิสลามจึงไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกจากระบอบทุนนิยมสามานย์ที่ซื้อขายกันในตลาดอย่างไม่เลือกหน้า ซึ่งทั้งหมดแล้วก็ขึ้นอยู่กับสตรีทั้งหลายเองว่าจะเลือกกำหนดยุคสมัยที่ 4 ของฮิญาบไทยด้วยตนเองหรือปล่อยให้ตลาดทุนและกลไกของธรรมชาติโลกนี้พัดพามันไปตามอัตตาของประชาคม
จริงอยู่ที่ว่าบางครั้งเราอาจจะเผชิญหน้ากับปัญหาการกีดกันฮิญาบของกลุ่มคนใจแคบจากสังคมต่างๆแต่นั่นก็เป็นเพียงปัญหาทางการละเมิดทางกายภาพที่สามารถใช้กลไกทางการเมืองและกฎหมายในการแก้ไขได้ แต่ปัญหาการทอดทิ้งฮิญาบที่ถูกต้องนี่สิที่เป็นปัญหาทางมโนธรรมที่กำลังแตกสลายเพราะลัทธิบริโภคนิยมซึ่งกำลังบุกรุกทุกครัวเรือนของสังคมมุสลิม
มาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่าไล่สายรายงานจนถึงผู้ที่ได้ยินมากับหูของตนเอง นั่นก็คือท่าน อิบนุอับบาส ร.ฏ ความน่าเชื่อถือของ คำสอนนี้จึงอยู่ในระดับเชื่อถือได้มาก หรือ ซอเฮี๊ยะ ในภาษาอาหรับนั่นเอง ทุกท่านจะเห็นแล้วนะครับว่าอิสลามมีมาตรฐานในการตรวจสอบว่าคำสอนไหนจริงหรือเท็จ ซึ่งจริงๆแล้วการตรวจสอบนั้นละเอียดกว่านี้เป็นร้อยเท่าพันเท่า เพราะต้องสืบประวัติของผู้รายงานแต่ละคน โดยให้ผู้ทรงคุณธรรมทั้งหลายที่วิจารณ์มุมมองต่อผู้รายงานผู้นั้นว่ามีประวัติเช่นใดบ้าง เคยโกหก หรือ ทำบาปใหญ่ หรือไม่ ถ้าพบว่ามีข้อบกพร่องดังกล่าวมาแล้วนั้น ฮะดีษ หรือ คำกล่าวนั้นๆ ที่ได้อ้างว่าศาสดาได้พูดไว้ ก็จะถูกเรียกว่า ฮะดีษอ่อน หรือ ดออีฟ ในภาษาอาหรับ และ ฮะดีษอ่อน ก็ไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานใช้ปฏิบัติศาสนกิจในศาสนาอิสลามได้นั่นเอง
เราจะปล่อยให้ฮิญาบอันเป็นลิขสิทธิ์ของอัลลอฮฺต้องถูกละเมิดด้วยการปลอมแปลงของฮิญาบเทียมของชนผู้ฝ่าฝืนซึ่งกำลังแพร่สะพัดในตลาด(มุสลิม)มืดกระนั้นหรือ? ยุคสมัยที่ 4 ของฮิญาบจึงขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของสตรีมุสลิมที่จะเป็นตัวกำหนดเข็มทิศแห่งประวัติศาสตร์ด้วยตนเองว่าจะเบนไปทางไหน!
บทความนี้จึงฝากฝังความหวังไปยังชาวมมุสลิมในยุคปัจจุบันที่กำลังต่อสู้เพื่อสาสนาและฮิญาบของตนเองอยู่
ข้อมูล : muslimahthai.com
Tags: