ทีมแพทย์ชะงัก ผู้ป่วยหมดสติ แต่มีรอยสักสั่ง "ห้ามกู้ชีพ" สุดท้ายต้องตัดสินใจเช่นไร ?
เผยเคสสุดลำบากใจของทีมแพทย์ในโรงพยาบาลสหรัฐฯ ผู้ป่วยหมดสติถูกนำตัวส่งห้องฉุกเฉิน แต่ที่ตัวคนไข้มีรอยสัก ระบุข้อความว่า "ห้ามกู้ชีพ" ทำให้แพทย์ต้องเลือกระหว่าง ความปรารถนาของผู้ป่วย หรือหน้าที่ของแพทย์
วันที่ 1 ธันวาคม 2560 เว็บไซต์เดลี่เมล เผยรายงานว่า ชายวัย 70 ปี ถูกพบหมดสติอยู่ที่ข้างถนน ก่อนจะถูกนำตัวส่งห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยไมอามี ในรัฐฟลอริดา สหรัฐฯ โดยสันนิษฐานว่าน่าจะมีอาการเมา เนื่องจากมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูง แต่ทีมแพทย์กลับต้องชะงัก เมื่อพบว่าที่หน้าอกของผู้ป่วยรายนี้มีรอยสักระบุข้อความว่า “DO NOT RESUSCITATE” หรือ "ห้ามกู้ชีพ" ซึ่งขีดเส้นใต้ย้ำที่คำว่า Not (ห้าม) ส่งผลให้ทางแพทย์ต้องคิดหนัก ต้องเลือกระหว่าง ความปรารถนาของคนไข้ หรือ การปฏิบัติตามหน้าที่ของแพทย์
โดยเคสดังกล่าวนี้ ถูกตีพิมพ์เป็นเคสตัวอย่างในวารสารทางการแพทย์ New England Journal of Medicine เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 โดยรายงานระบุว่า ดร. เกร็ก โฮลต์ หนึ่งในทีมแพทย์ดูแลผู้ป่วยที่รับผิดชอบเคสดังกล่าว เผยว่า ที่โรงพยาบาลที่คนไข้หลายประเภท และมักจะได้ยินเรื่องการสักคำสั่งปฏิเสธการกู้ชีพ หรือ DNR (DO NOT RESUSCITATE) มาบ้าง แต่เพิ่งจะเจอเคสจริง ๆ และคนไข้รายนี้ก็ไม่พบว่ามีญาติด้วย โดยในตอนแรกทางทีมแพทย์กังวลว่ามันจะเป็นเรื่องของกฎหมาย อย่างไรก็ดี ตามกฎหมายของรัฐฟลอริดา มีข้อกำหนดที่ชี้เฉพาะเจาะจงมาก โดยเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ระบุไว้ว่า คำสั่งปฏิเสธการกู้ชีพจะต้องระบุเป็นลายลักษณ์อักษรลงบนกระดาษ โดยมีแพทย์และคนไข้เซ็นชื่อยอมรับร่วมกัน เพราะฉะนั้นข้อความที่เป็นรอยสักจึงไม่มีผลในทางกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ทางแพทย์ก็ยังไม่สามารถตัดประเด็นที่ว่า ข้อความดังกล่าวเป็นความต้องการของคนไข้ทิ้งไปได้ โดยระหว่างที่กำลังตัดสินใจนั้น คนไข้มีชีพจรต่ำ และความดันเลือดตกอยู่ในระดับที่น่าเป็นกังวล ทาง ดร. โฮลต์และทีมแพทย์ ตัดสินใจต้องทำอะไรสักอย่าง ซึ่งเชื่อว่าดีกว่าไม่ทำอะไรเลย และปล่อยให้เขาตาย โดยได้มีการฉีดสารเพื่อกระตุ้นความดันเลือด โดย ดร.โฮลต์เผยว่า ถ้าตัวของคนไข้ไม่มีรอยสักคำสั่งดังกล่าว ทางแพทย์คงจะใช้เครื่องช่วยหายใจกับเขาไปแล้ว
ต่อมา ทางคณะกรรมการจริยธรรมของโรงพยาบาลได้เข้ามาร่วมปรึกษาหารือกับทางทีมของดร.โฮลต์ โดยได้พิจารณาว่า ข้อความรอยสักดังกล่าวน่าจะเป็นความปรารถนาของคนไข้จริง โดยเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้คือ ที่ใต้รอยสักคำสั่งดังกล่าวมีลายเซ็นของเขากำกับอยู่ด้วย ขณะที่ทางดร. โฮลต์ได้กล่าวถึงเรื่องรอยสักว่า สำหรับบางคนอาจจะรู้สึกเสียใจในภายหลัง บางคนอาจจะสักเพราะเมา หรือตอนที่ยังเป็นเด็กวัยรุ่น แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความคิดหรือความเชื่อเปลี่ยนไป อาจจะไม่ได้ชอบหรือต้องการรอยสักนั้นแล้ว แต่ก็ไม่สามารถลบทิ้งได้ จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ทางทีมแพทย์ไม่สามารถสรุปการตัดสินใจที่แน่ชัดได้
กระทั่งหลังจากนั้น 2 ชั่วโมง ทางแพทย์พบเอกสารที่ยืนยันได้ว่า ข้อความบนรอยสักของคนไข้รายนี้เป็นความปรารถนาของเขาจริง และคนไข้รายนี้ได้มีการเซ็นยอมรับคำสั่งปฏิเสธการกู้ชีพไว้ล่วงหน้าแล้ว
ในขณะนั้น คนไข้มีอาการทรุดหนัก และในที่สุดทางทีมแพทย์จึงปล่อยให้เขาจากไปอย่างสงบ อย่างไรก็ดี ทางดร.โฮลต์ ได้กล่าวว่า "เรื่องนี้เป็นที่ละเอียดอ่อน และน่าเป็นกังวลทั้งสำหรับทีมแพทย์และผู้ป่วย เพราะการตัดสินใจสามารถมาการเปลี่ยนแปลงได้ และเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน หากตัดสินใจผิดพลาด เท่ากับต้องเสียหนึ่งชีวิตไป โดยไม่สามารถแก้ไขหรือนำกลับมาได้แล้ว"
Tags: