การละทิ้งละหมาดวันศุกร์ เงื่อนไขของการละทิ้งละหมาดวันศุกร์
วันศุกร์ เป็นวันรวมกันของชุมชนมุสลิม เพื่อการทำละหมาดวันศุกร์ ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการละหมาด คือ มีการแสดงธรรม (คุตบะฮฺ) อันเป็นการอบรมสั่งสอน ผู้เข้าร่วมละหมาด เป็นการเตือนใจประจำสัปดาห์ และเป็นการประชุมปรึกษาหารือระหว่างคนในชุมชนประจำสัปดาห์เช่นกัน ดังนั้น ประโยชน์แห่งการรวมกันในทุกสัปดาห์นั้นจะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างรัก ความสามัคคีระหว่างกันต่อไป
เมื่อถึงวันศุกร์และได้ทำละหมาดวันศุกร์ได้ทำกิจการดีในวันศุกร์ และได้ทบทวนตัวเองประจำสัปดาห์ ก็จะส่งผลให้ปลอดภัยจากความชั่วร้ายไปจนกระทั่งวันศุกร์ต่อไป ท่านนบี กล่าวความว่า
“การละหมาดประจำวัน 5 เวลา วันศุกร์ถึงอีกวันศุกร์ หรือรอมฎอนหนึ่งถึงอีกรอมฎอนหนึ่ง ในช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นการลบล้างความชั่วได้ ตราบที่ระหว่างนั้นมิได้ก่อกรรมอันเป็นบาปใหญ่”
(บันทึกโดยมุสลิม)
คำถาม: ถ้าในหมู่บ้านหนึ่งมีมุสลิมบางคนไม่เคยไปละหมาดวันศุกร์เลยจะฮูก่มว่าอย่างไรกับคนๆนี้ และอีหม่ามผู้นำศาสนาในหมู่บ้านวาญิบจะต้องทำหน้าที่ในการตักเตือนต่อบุคคลผู้นี้หรือไม่
ตอบโดย: อ.อาลี เสือสมิง
หากมุสลิมผู้นั้นมีเงื่อนไขที่จำเป็นต้องละหมาดวันศุกร์ (เป็นอะฮฺลุลญุมอะฮฺ) ครบถ้วนเช่น เป็นชายเสรีชน บรรลุศาสนภาวะและมีสติปัญญาสมบูรณ์ มีสุขภาพสมบูรณ์ ไม่เจ็บป่วย ไม่ได้เดินทางและเป็นผู้มีภูมิลำเนาที่พักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนั้นซึ่งมีการทำละหมาดวันศุกร์ เป็นต้น แล้วบุคคลผู้นั้นก็ละทิ้งการละหมาดวันศุกร์ซึ่งเป็นหน้าที่จำเป็นเหนือบุคคลผู้อื่นโดยไม่มีอุปสรรคใด ๆ ที่ผ่อนผันให้ไม่ต้องละหมาดวันศุกร์ บุคคลผู้นั้นก็เป็นผู้ฝ่าฝืน (อาศิน)
หากละทิ้งละหมาดวันศุกร์ 3 วันศุกร์ต่อเนื่องกัน หัวใจของผู้นั้นก็จะถูกปิดผนึกทำให้มืดบอด ยกเว้นว่าบุคคลผู้นี้จะเตาบะฮฺตัวและปฏิบัติละหมาดวันศุกร์ แต่ถ้ายืนกรานเช่นนั้นก็ถือว่าเป็นคนชั่ว (ฟาสิก) ที่อิมามผู้นำศาสนาในหมู่บ้านจำเป็นต้องตักเตือนด้วยการสั่งใช้ให้ประกอบความดี (อัล-อัมรฺ บิลมะอฺรูฟ) และห้ามปรามจากความชั่ว (อันนะฮฺยุ อะนิลฺ มุงกัร) หรือมีมาตราการกดดันบางอย่างทางสังคมกับบุคคลดังกล่าว
Tags: